'ภูมิธรรม' ตั้งอนุกรรมการ 4 ชุด ส่งเสริมพร้อมแก้ปัญหาค้าชายแดน
“ภูมิธรรม”นั่งหัวโต๊ะประชุมกก.ค้าชายแดนผลักดันแผนยุทธศาสตร์การค้าชายแดน ตั้งคณะทำงาน 4 ชุด แก้ปัญหาค้าชายแดน ตั้งเป้า เพิ่มรายได้ เป็น 2 ล้านล้านบาท ภาย ใน 3 ปี หวังฟื้นเศรษฐกิจไทย เตรียม ตั้งศูนย์ One Stop Service ครบ 8 จังหวัด 25 ธ.ค.นี้ ลดขั้นตอน อำนวยความสะดวกค้าชายแดนฯ
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการค้าและการลงทุนชายแดนและผ่านแดน ครั้งที่ 1/2566 หลังจากนายกรัฐมนตรีฯได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการค้าและการลงทุนชายแดนและผ่านแดน ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ว่า ที่ประชุมได้ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดน เป็น 2 ล้านล้านบาท ภายใน 3 ปี ระหว่างปี 2024 – 2027
โดยเน้นการทำงานเชิงบูรณากาในทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ ภาคเอกชน เช่น กรมศุลการ กระทรวงการคลัง, สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ,กระทรวงมหาดไทยและผู้ว่าราชการจังหวัดที่เกี่ยวข้อง เพื่อความเป็นเอกภาพในการทำงาน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเติบโตให้ได้
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อดำเนินการ 4 ชุด เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการทำงานด้านต่างๆ ในการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยและแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านการค้าและการลงทุน ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้า , คณะอนุกรรมการยกระดับศักยภาพและการอำนวยความสะดวกของชายแดน และระบบขนส่ง และ โลจิสติกส์,คณะอนุกรรมการส่งเสริมและใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงและกรอบความร่วมมือต่างๆ และ คณะอนุกรรมการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ชายแดนและประเทศเพื่อนบ้าน
นอกจากนี้ ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการค้าและการลงทุนชายแดนและผ่านแดน ปี 2567-2570 ประกอบด้วย การยกระดับจุดผ่อนปรนเป็นจุดผ่านแดนถาวร 3 แห่ง ได้แก่ จุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขร จ.ประจวบคีรีขันธ์ , จุดผ่อนปรนการค้าบ้านห้วยต้นนุ่น จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งจะเร่งเจรจากับฝ่ายเมียนมารับรองผลการสำรวจเขตแดนร่วม (Joint Detail Survey: JDS) ของด่านสิงขร และเร่งจัดทำ JDS ของด่านบ้านห้วยต้นนุ่น และ จุดผ่อนปรนการค้าบ้านซับตารี จ.จันทบุรี ซึ่งล่าสุด ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการยกระดับฯ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป แก้ไขข้อจำกัดต่างๆให้เดินหน้าได้
รวมทั้ง การแก้ไขปัญหาความล่าช้าในการนำเข้าและส่งออกสินค้า โดยเฉพาะด่านพรมแดนแม่สอด แห่งที่ 2 จ.ตาก ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างจุดเอกซเรย์ด้านนอก และแขวงทางหลวงตากที่ 2 (แม่สอด) ได้กำหนดจุดจอดตรวจสอบเอกสาร และตอนนี้ทางด่านได้เริ่มต้นดำเนินการตั้งแต่ 6 โมงเช้าเป็นต้นไป เพื่อบรรเทาความแออัดและ เรื่องการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O) ของประเทศเพื่อนบ้าน ได้มีการเอาระบบ digital มาช่วย แต่ยังมีบางประเทศที่ยังติดขัด โดยได้รับการแก้ไขแล้ว 5 ประเทศได้แก่ กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย สปป.ลาว และเมียนมา ที่เหลืออยู่คือฟิลิปปินส์ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไข
ส่วนกรณีมีการขอสนับสนุนงบประมาณปรับปรุงเส้นทาง R12 (นครพนม-คำม่วน-นำเพ้า) ใน สปป.ลาว ซึ่งทางสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ. หรือ NEDA) อยู่ระหว่างเสนอ ครม. พิจารณาเนื่องจากทางเป็นหลุมเป็นบ่อ จึงเสนอปรับปรุงเส้นทางเพื่อให้เราได้ประโยชน์ในการดำเนินการต่อไป ใช้งบประมาณ 1,833 ล้านบาท คาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี พิจารณาได้ ต้นปีหน้า
นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า การทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรื่องจัดตั้งศูนย์บริการค้าชายแดนเบ็ดเสร็จจุดเดียว (One Stop Service: OSS) ใน 8 จังหวัดภายในเดือนธันวาคม 2566 ได้แก่ เชียงราย ตาก ตราด สงขลา หนองคาย นครพนม มุกดาหาร และอุดรธานี ซึ่งเป็นผลงานร่วมกันของทุกหน่วยงาน ทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและกระทรวงพาณิชย์ คาดว่าจะแถลงความสำเร็จก่อนสิ้นปี ประมาณวันที่ 25 ธ.ค.นี้
“โดยให้ภาคเอกชนจะเป็นทัพหน้าเป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวม รู้และเข้าใจปัญหาโดยรวม รัฐเป็นผู้สนับสนุนคอยแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจการ” รองนายกฯกล่าว
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า เรื่อง One Stop Service ภาคเอกชนดีใจและขอบคุณทางภาครัฐบาล ที่ทำให้ Quick Win เกิดขึ้นแล้วจริงๆ ทั้งเรื่องเวลาและค่าใช้จ่าย จะลดลง ลดการรอคอย และสินค้าเกษตรจะได้อานิสงส์อย่างมาก ถ้าส่งได้เร็วความสดและการส่งมอบถึงมือลูกค้าจะเร็วขึ้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีการขยายอย่างต่อเนื่องต่อไป ไปในจุดอื่นๆอีก ซึ่งปีหน้า เอกชนยังกังวลอยู่ 2 เรื่อง คือ บรรยากาศการค้ารอบๆบ้านเรา ที่ เศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้าน ยังมีความไม่แน่นอนสูง และ ยังห่วงเรื่องเวลาส่งมอบสินค้า และการติดตามการชำระเงิน
ข้อมูลจากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ตัวเลขการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน ปี 2566 (เดือนมกราคม-ตุลาคม 2566) มีมูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดน 1,451,068 ล้านบาท แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 825,248 ล้านบาท และการนำเข้ามูลค่า 625,820 ล้านบาท โดยไทยได้ดุลการค้า 199,427 ล้านบาท และล่าสุดเดือนต.ค. 2566 มีมูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดน 139,695 ล้านบาท แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 70,042 ล้านบาท และการนำเข้ามูลค่า 69,653 ล้านบาท โดยไทยได้ดุลการค้าในเดือนต.ค. 2566 ทั้งสิ้น 389 ล้านบาท