‘เศรษฐา’ หารือผู้บริหาร ‘MUFG Bank’ สนปล่อยกู้ ‘โครงการแลนด์บริดจ์’ ให้ไทย
“เศรษฐา” พบผู้บริหารระดับสูงเอกชนญี่ปุ่นหลายบริษัท รวมทั้งหารือกับ MUFG Bank และผู้บริหารธนาคารกรุงศรีอยุธยา เผยพร้อมสนับสนุนการปล่อยกู้โครงสร้างพื้นฐานให้ไทย รวมทั้งโครงการแลนด์บริดจ์
วันนี้ (15 ธันวาคม 2566) ณ โรงแรมอิมพีเรียลโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นายแพทย์ พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี พบหารือกับผู้บริหารภาคเอกชนรายสำคัญของญี่ปุ่น
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้ นายจุนอิจิ ฮันซาวะ (Mr. Junichi Hanzawa) กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MUFG Bank จำกัด และนายเคนอิจิ ยามาโตะ (Mr. Kenichi Yamato) กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้หารือกับนายกรัฐมนตรี โดยให้ความสนใจที่จะขยายการลงทุน ทำการจับคู่ธุรกิจ (business matching) และเป็นแหล่งทุนให้กับโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (mega project) เช่นโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้ (Landbridge) เป็นต้น
นอกจากนั้นยังหารือกับอีก 3 บริษัทได้แก่
- บริษัท Regional Fish Institute, Ltd. เป็น start up ด้านการพัฒนาสายพันธุ์ปลา ผ่านการทำ gene editing ปัจจุบันร่วมมือกับบริษัทไทยเริ่มทำการวิจัยแล้ว และสนใจจะใช้ไทยเป็น Regional Headquarter
- บริษัท Maruha Nichiro บริษัทผลิตอาหารทะเลแช่แข็ง อาหารสัตว์และอาหารแปรรูปชั้นนำของโลก เป็นบริษัทแม่ของ King Fisher มีแผนที่จะขยายการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง
- บริษัท Medical Care Service บริษัทบ้านพักคนชราที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น เน้นผู้ป่วยที่มีรายได้ระดับกลางและมีความเชี่ยวชาญ กับผู้สูงอายุที่มีอาการสมองเสื่อม (dementia)
สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์นั้น มีมูลค่าการลงทุนถึงประมาณ 1 ล้านล้านบาท โดยการลงทุนจะเป็นรูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการรัฐ (PPP) ประกอบไปด้วยการลงทุน 4 ระยะ ครอบคลุมโครงการท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร และระนอง มอเตอร์เวย์ ท่อขนส่งน้ำมัน ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และรถไฟทางคู่ ขนาดรางมาตรฐาน รองรับการขนส่งสินค้าจากทางเรือจากท่าเรือ 2 ฝั่ง
โดยการลงทุนในแต่ละเฟสของโครงการมีมูลค่าดังนี้
ระยะที่ 1 มีการลงทุน 6.09 แสนล้านบาท ระยะที่ 2 มีการลงทุนใช้เงินลงทุน 1.647 แสนล้านบาท ระยะที่ 3 มีการลงทุนวงเงิน 2.28 แสนล้านบาท การลงทุนในระยะที่ 4 ใช้เงินลงทุนประมาณ 8.51 หมื่นล้านบาท
เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคใต้ (SEC) ซึ่งโครงการแลนด์บริดจ์จะอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย ซึ่งเมื่อกฎหมายแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค.2567 จะมีการตั้งสำนักงานพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ขึ้นเพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนโครงการนี้