‘เศรษฐกิจไทย’ อาจไม่ดีพอกับดอกเบี้ยในระดับปัจจุบัน?
เฟดส่งสัญญาณปีหน้าการปรับ "ลดดอกเบี้ย" จะเกิดขึ้นอย่างน้อย 3 ครั้ง ด้านไทย ทิศทางดอกเบี้ยในปีหน้ายังไม่มีข้อบ่งชี้ใดๆ ถึงสัญญาณการปรับลดดอกเบี้ยลง แต่ดูเหมือนจะทรงตัวในระดับนี้ไปอีกยาวนาน
ประตูดอกเบี้ย “ขาลง” ของโลกเริ่มถูกแง้มออกมาให้เห็นแล้ว หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณชัดเจนผ่าน Dot Plot ซึ่งบ่งชี้ว่า ในปีหน้าการปรับลดดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นอย่างน้อย 3 ครั้ง
…เมื่อเป็นเช่นนี้ก็คงต้องหันมาดูประเทศไทยบ้างแล้วว่า ทิศทางดอกเบี้ยไทยในปีหน้าจะเป็นอย่างไร ซึ่งถ้าฟังความเห็นจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็บอกได้เลยว่ายังไม่มีข้อบ่งชี้ใดๆ ถึงสัญญาณการปรับลดดอกเบี้ยลง ในทางตรงกันข้ามดูเหมือนว่าดอกเบี้ยจะทรงตัวในระดับนี้ไปอีกยาวนานด้วย
ถ้าสำรวจความเห็นของสำนักวิจัยต่างๆ ดูเหมือนจะมีเพียงค่ายต่างประเทศเท่านั้นที่มองว่า ธปท. จะเริ่มลดดอกเบี้ยลงในกลางปีหน้า ขณะที่ค่ายของไทยส่วนใหญ่มองว่า ธปท. อาจจะคงดอกเบี้ยที่ระดับ 2.5% ยาวตลอดทั้งปี
แต่ลึกๆ แล้วสำนักวิจัยของไทยหลายๆ ค่าย ก็มีคำถามในใจเช่นกัน เพียงแต่นักเศรษฐศาสตร์หลายๆ คนยังเกรงใจที่จะพูดออกมาดังๆ ว่า ดอกเบี้ยนโยบายของไทยเหมาะสมกับเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันจริงหรือไม่ โดยเฉพาะเงินเฟ้อที่ตอนนี้เริ่มเห็นการหดตัวจนมีความเสี่ยงกลายเป็น “เงินฝืด” บ้างแล้ว ..ประเด็นเงินเฟ้อมีข้อสังเกตหลายๆ ส่วน โดยเฉพาะการคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ที่ต่างกันราวฟ้าดินกับของ ธปท.
ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์เงินเฟ้อไทยในปี 2567 ไว้ที่ระดับติดลบ 0.3% ถึงขยายตัว 1.7% หรือมีค่ากลางอยู่ที่ขยายตัว 0.7% ขณะที่ ธปท. ประเมินภาพเงินเฟ้อไทยในปี 2567 ขยายตัวในระดับ 2% และกรณีที่รัฐบาลสามารถผลักดันโครงการ Digital Wallet ออกมาได้ เงินเฟ้อไทยอาจขยายตัวได้ราว 2.2% ซึ่งประเด็นนี้น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ธปท. มองว่าดอกเบี้ยนโยบายระดับปัจจุบันเหมาะสมกับเศรษฐกิจไทยระยะข้างหน้า
...แต่คำถาม คือ แล้วถ้าการประเมินของ ธปท. ผิดพลาด จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยหรือไม่
มีตัวเลขเศรษฐกิจหนึ่งตัวที่เราอยากชวนคิด นั่นคือ ตัวเลขการบริโภคภาคเอกชน ถ้าไปดูสัดส่วนตัวเลขนี้ต่อจีดีพี จะพบว่าปัจจุบันขยับขึ้นมาแตะระดับ 60% เป็นที่เรียบร้อย ในอดีตมักเฉลี่ยที่ราวๆ 50% ต่อจีดีพี การเพิ่มขึ้นของตัวเลขที่ว่านี้นับเป็นสถิติที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่เคยมีการเก็บข้อมูลมา ซึ่งการขยับขึ้นของตัวเลขดังกล่าวเหมือนจะดูดี เพราะสะท้อนการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ถ้าดูการเติบโตของจีดีพีหรือรายได้ประเทศแล้วก็เห็นชัดเจนว่าแทบไม่ได้ขยับขึ้นมาเลย
นักเศรษฐศาสตร์บางท่านให้ข้อสังเกตกับตัวเลขการบริโภคที่สูงขึ้นนี้ว่า อาจเกิดจากการก่อหนี้เพื่อมาใช้จ่าย หรือไม่ก็คือคนเริ่มนำเงินที่เคยเก็บออมออกมาใช้จ่ายกันมากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่น่าห่วงยิ่ง และเมื่อเดือนก่อนเราก็เห็นข่าวอยู่ว่า เงินฝากแบงก์พาณิชย์ติดลบครั้งแรกรอบ 10 ปี ข้อมูลเหล่านี้จึงชวนให้คิดต่อว่า สรุปแล้วเศรษฐกิจไทยดีพอกับดอกเบี้ยในปัจจุบันจริงหรือไม่?