คมนาคมชู 'แลนด์บริดจ์' ศูนย์กลางขนส่งทางเรือของโลก

คมนาคมชู 'แลนด์บริดจ์' ศูนย์กลางขนส่งทางเรือของโลก

คมนาคมชู “แลนด์บริดจ์” ศูนย์กลางการขนส่งทางเรือของโลก หลังพบดีมานด์ส่งออกเชื่อมเอเชีย - ยุโรป - แอฟริกา พุ่งต่อเนื่อง มั่นใจนักลงทุน และธุรกิจสายการเดินเรือตอบรับดี เตรียมประมูลปี 2568

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในงานสัมมนา GO THAILAND 2024 GREEN ECONOMY LANDBRIDGE โอกาสทอง ? ช่วง Landbridge : โอกาสและความท้าทาย ที่จัดขึ้นโดยฐานเศรษฐกิจ โดยระบุว่า แลนด์บริดจ์เป็นโครงการที่ศึกษา และดำเนินการมานาน ซึ่งในปี 2565 พบว่ามีปริมาณการขนส่งสินค้าทั่วโลกอยู่ที่ 37.7 ล้านล้านดอลลาร์ มีปริมาณขนส่งสินค้าในภูมิภาคเอเชียประมาณ 40% และยุโรป 38% คิดเป็นการนำเข้าสินค้าประมาณ 19 ล้านล้านดอลลาร์ และการส่งออกสินค้าประมาณ 18.7 ล้านล้านดอลลาร์

ขณะที่เส้นทางการเดินเรือทั่วโลกต้องยอมรับว่ามีหลายเส้นทาง อาทิ ช่องแคบฮอร์มุซ คลองสุเอซ คลองปานามา และช่องแคบมะละกา ที่อยู่ใกล้กับประเทศไทย ปัจจุบันพบว่ามีปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านไทยเข้าช่องแคบมะละกาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสินค้าด้านพลังงาน  เช่น น้ำมันที่ผลิตจากประเทศแถบตะวันออกกลาง มีอัตราการขนส่งจำนวน 16 ล้านบาร์เรลต่อวัน อีกทั้งมีโรงงานผลิตที่อยู่ในแถบประเทศจีนทางตอนใต้ ญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน ซึ่งจะสอดรับกับตลาดส่วนใหญ่ที่อยู่ในบริเวณเอเชียกลาง เอเชีย ยุโรป และแอฟริกา

คมนาคมชู \'แลนด์บริดจ์\' ศูนย์กลางขนส่งทางเรือของโลก

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีประเทศที่ผลิตน้ำมันเพื่อส่งออกมาช่องแคบมะละกาหลายประเทศ ดังนี้ 1.สหรัฐอเมริกา 2.ซาอุดีอาระเบีย 3.รัสเซีย 4.แคนาดา 5.จีน 6.สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ 7. อิหร่าน ส่งผลให้มีปริมาณเรือขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบมะละกาอยู่ที่ 85,000 ลำต่อปี โดยคาดว่าในปี 2573 สามารถรองรับปริมาณเรือขนส่งสินค้าสูงสุดอยู่ที่ 122,000 ลำต่อปี ทำให้ช่องแคบมะละกาเป็นจุดที่มีความสำคัญต่อการขนส่งสินค้าทางทะเลโลก และมีอิทธิพลต่อกลุ่มประเทศในภูมิภาค

นายชยธรรม์ กล่าวด้วยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ การจราจรทางเรือที่ติดขัดมีจำนวนมากขึ้น ทำให้เป็นปัจจัยที่จะเกิดการกระตุ้นโครงการแลนด์บริดจ์ให้มีความน่าสนใจมากขึ้น ขณะเดียวกันไทยมีจุดแข็งคือ ตำแหน่งที่ตั้ง ซึ่งอยู่ระหว่างกลางของเส้นทางการเดินเรือโลกที่มีความหนาแน่นมากแห่งหนึ่งของโลก ทั้งเส้นทางเรือขนส่งน้ำมัน และตู้สินค้า ทำให้แลนด์บริดจ์คือ คำตอบในเรื่องนี้ เป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางน้ำของโลก

คมนาคมชู \'แลนด์บริดจ์\' ศูนย์กลางขนส่งทางเรือของโลก

“ปัจจุบันโครงการแลนด์บริดจ์อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมรูปแบบธุรกิจ ทั้งการออกแบบเบื้องต้นท่าเรือ รถไฟ และศึกษา EHIA ท่าเรือและ EIA ทางรถไฟ ซึ่งกุญแจสำคัญที่จะทำให้โครงการแลนด์บริดจ์สำเร็จ ไม่ได้อยู่ที่ระยะเวลาการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน แต่อยู่ที่ Business Model”

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญของโครงการแลนด์บริดจ์ คือ การเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติมาร่วมลงทุน โดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน รับสัญญาสัมปทาน 50 ปี ซึ่งในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้เริ่มโรดโชว์ในต่างประเทศบ้างแล้ว ได้รับการตอบรับที่ดีทั้งจากนักลงทุน และสายการเดินเรือ ส่วนขั้นตอนดำเนินการหลังจากนี้ คาดว่าโรดโชว์จะแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2567

หลังจากนั้นจะดำเนินการเสนอร่าง พ.ร.บ.เขตพิเศษภาคใต้ (SEC) ต่อสำนักงาน SEC ภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 และดำเนินการออกประกาศเชิญชวนนักลงทุนภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2568 พร้อมเปิดประมูลได้ภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2569 ส่วนการเวนคืนที่ดินจะดำเนินการได้ภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2569 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายในปี 2569 โดยจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2573

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์