UTA ปั้นอู่ตะเภาเกตเวย์ขนส่งทางอากาศ มั่นใจปีหน้าตอกเสาเข็ม
UTA กางโมเดลสร้างสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป้าหมายสู่เกตเวย์แห่งใหม่ของไทยและอาเซียน ตั้งเป้าพัฒนาควบคู่การสร้างเมืองสีเขียว มั่นใจเริ่มตอกเสาเข็มกลางปีหน้า
นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA ร่วมสัมมนาในหัวข้อ Session II : Next Step ลงทุนไทย โดยระบุว่า โครงการสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ประมูลมาได้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว โจทย์สำคัญคือ การสร้างสนามบิน และเมืองการบิน ดึงภาคลงทุน ภาคบริการ และจำเป็นต้องมีการพัฒนาการคมนาคมขนส่งให้ครบวงจร
โดยโครงการในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) น่าจะเป็นหนึ่งในไม่กี่พื้นที่ของไทยที่มีการคมนาคมครบวงจร มีทั้งท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด เป็นปลายทางรถไฟทางคู่ที่เชื่อมจากจีนมายังจุกเสม็ด ซึ่งอยู่ห่างจากอู่ตะเภาเพียง 10 นาที และยังมีระบบขนส่งมอเตอร์เวย์ มีรถไฟความเร็วสูง และยังมีสนามบินที่จะตอบโจทย์การคมนาคมครบวงจร ทำให้พื้นที่นี้เป็นเกตเวย์เข้าประเทศไทย และอาเซียน
อีกทั้งพื้นที่นี้ยังมีความแตกต่าง โดยได้รับ พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษมีสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน แต่เป้าหมายของการพัฒนาพื้นที่ไม่ได้มองแค่การสร้างเมืองในอีอีซี แต่มองการเชื่อมต่อการเดินทางไปยังกรุงเทพฯ เป็นที่มาของโครงการสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ที่วางไว้โดยใช้ไฮสปีดเทรนด์เชื่อมสามสนามบินเป็นโครงข่ายสำคัญของการเชื่อมต่อเมือง ใช้เวลาเดินทางกรุงเทพฯ - อู่ตะเภาเพียง 1 ชั่วโมง
สำหรับโจทย์หลักของการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก UTA ต้องการผลักดันให้พื้นที่แห่งนี้เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศ (Air Hub) ไม่มองการแข่งขันกับสนามบินอื่น แต่ต้องการสร้างเกตเวย์แห่งที่ 2 เพื่อรองรับการเดินทาง ทางอากาศเข้าประเทศไทย จากปัจจุบันที่มีเกตเวย์หลักเป็นสนามบินสุวรรณภูมิ และทำให้เกตเวย์แห่งนี้เป็นประตูการเดินทาง และขนส่งสินค้าทางอากาศของไทยเชื่อมต่อภูมิภาค อื่นๆ
“การสร้างเกตเวย์ใหม่เป็นเป้าหมายของเรา แต่จะต้องทำยังไงให้เกิดเศรษฐกิจในพื้นที่ด้วย เกิดการใช้จ่าย ลงทุน ท่องเที่ยว เป็นโจทย์ในการพัฒนาโครงการนี้ ดังนั้นในแผนพัฒนาจึงจะเห็นว่าเรามีเป้าหมายจะทำให้เป็นทั้งแอร์คาร์โก้ และโลจิสติกส์ฮับ เพื่อเชื่อมตลาดการเดินทาง และการขนส่ง เชื่อมประเทศเพื่อนบ้านใน CLMV”
สำหรับแผนพัฒนาโครงการสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ในโครงการจะมีองค์ประกอบ อาคารผู้โดยสาร 50 ปี มีขีดความสามารถรองรับ 60 ล้านคน อีกทั้งโครงการนี้ในปีที่ 10 จะสร้าง GDP 2.6 แสนล้านต่อปี และอีก 40 ปีข้างหน้า จะสร้าง GDP 15 ล้านล้านบาทต่อปี อีกทั้งจะสร้างภาษีให้รัฐปีที่ 10 มูลค่า 1.8 แสนล้านบาท และก่อให้เกิดการจ้างงาน 3 แสนคน จากการเปิดเป็นเมืองท่าตลอด 24 ชั่วโมง
นายวีรวัฒน์ กล่าวด้วยว่า UTA ยังมีเป้าหมายผลักดันโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออกจะใช้เวลาก่อสร้าง 4 – 5 ปี ซึ่งจะสอดคล้องไปกับแผนขับเคลื่อนการสร้างเมืองสีเขียว ลดคาร์บอนไดออกไซด์ในปี 2573 โดยสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออกจะบรรจุแผนขับเคลื่อนการคมนาคมสีเขียว การบริหารงานที่รักษ์โลก การรักษาวิถีชุมชนโดยรอบ การจัดสรรหาน้ำสำรองเพื่อชุมชนโดยรอบต้องมีน้ำใช้ไม่ขาด และน้ำ 80% ในโครงการต้องได้รับการบำบัด
รวมทั้งจะมีการพัฒนาอาคารต่างๆ ให้ทันสมัยควบคู่ไปกับการออกแบบด้วยธรรมชาติ สร้างทะเลสาบ 1 กิโลเมตร มีพื้นที่กรีนสเปซให้กับทุกคน และการผลักดันขนส่งสีเขียว การเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูง ประหยัดเวลาจาก 2 ชั่วโมง เหลือ 1 ชั่วโมง เพื่อให้ทุกคนจะมีเวลามากขึ้น ลดการสร้างคาร์บอนด้วยการขนส่งสาธารณะ นอกจากนี้ยังมีขนส่งสาธารณะในเมืองต้องเป็นยานยนต์อีวีเท่านั้น
ขณะที่การบริหารจัดการของสนามบินอู่ตะเภาจะมีการจัดตารางการบินให้มีประสิทธิภาพ ลดปัญหาการบินวนโดยรอบเพื่อรอลงจอด โดย 1 ไฟล์ตจะใช้เวลาเพียง 20 นาที ซึ่งจะลดคาร์บอนได้ 2.5 ตัน โดยสรุปโครงการที่ทุกคนจะเห็นเปิดให้บริการในอีก 5 – 6 ปีข้างหน้า จะเป็นกรีนแอร์พอร์ต และกรีนซิตี้
สำหรับแผนพัฒนาโครงการ ปัจจุบันคาดการณ์ว่าในปี 2567 จะเริ่มประสานออกหนังสืออนุญาตเข้าพื้นที่ (NTP) และเริ่มตอกเสาเข็มช่วงครึ่งปีหลัง โดยปัจจุบัน EHIA ผ่านแล้ว การเตรียมพื้นที่ภาครัฐเตรียมพร้อมส่งมอบแล้ว และทราบว่าตอนนี้ภาครัฐกำลังจะออกประมูลทางวิ่งที่ 2 ภายใน 2 สัปดาห์นี้ ซึ่งน่าจะเปิดประมูลได้จากนั้นจะเหลือสิ่งที่หารือคือ สิทธิประโยชน์เกี่ยวเนื่องกับการลงทุนโครงการนี้ คาดจบ ม.ค. - ก.พ.2567
“ไฮสปีดเทรนด์เชื่อมสามสนามบิน และสนามบินต้องเกิดไปพร้อมกัน เป็นจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายที่จะทำให้โครงการนี้สมบูรณ์ ซึ่งเราก็สื่อสารกับภาครัฐมาอย่างต่อเนื่อง มั่นใจ 3 – 6 เดือนข้างหน้า สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะชัดเจน และเริ่มลงทุนตอกเสาเข็มได้ตามแผน”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์