ทอท.ลุยลงทุน ปักธงกลางปีหน้าเริ่มปั้นสนามบินล้านนา - อันดามัน

ทอท.ลุยลงทุน ปักธงกลางปีหน้าเริ่มปั้นสนามบินล้านนา - อันดามัน

ทอท.โชว์แผนลงทุนเพิ่มขีดความสามารถ ปักธงกลางปีหน้าเริ่มกระบวนการเวนคืนที่ดิน ก่อนเปิดประมูลสนามบินล้านนา และสนามบินอันดามัน คาดใช้งบกว่า 1.5 แสนล้านบาท พร้อมผลักดันท่าอากาศยานสีเขียว หนุน “สุวรรณภูมิ” ต้นแบบลดคาร์บอน

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ร่วมสัมมนาในหัวข้อ Session II : Next Step ลงทุนไทย โดยระบุว่า โอกาสและการพัฒนาท่าอากาศยานของ ทอท. ขณะนี้มีแผนลงทุนทั้งในส่วนของท่าอากาศยานหลัก และท่าอากาศยานภูมิภาค ในส่วนของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ปัจจุบันรองรับผู้โดยสาร 50 ล้านคนต่อปี และช่วงปี 2562 – 2563 รองรับมากถึง 65 ล้านคนต่อปี

เบื้องต้นคาดการณ์ว่าในปี 2567 ปริมาณผู้โดยสารจะกลับมาเป็นปกติใกล้เคียงในปี 2562 อยู่ในระดับ 65 ล้านคน และไต่ระดับไป 80 ล้านคนในปี 2570 ดังนั้นต้องไม่หยุดในการขยายขีดความสามารถของท่าอากาศยาน และจะต้องให้บริการท่าอากาศยานที่ดี นี่คือ เป้าหมายหลัก

โดยแผนพัฒนากิจกรรมให้บริการ ประเด็นแรกท่าอากาศยานมีพื้นที่ไม่เพียงพอ ส่งผลให้ ทอท.ขยายอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (แซทเทิลไลท์) เพิ่มพื้นที่ 2 แสนตารางเมตร หรือเพิ่มขึ้น 50% รวมทั้งสะพานเทียบเครื่องบินรองที่เพิ่มมาอีก 28 สะพานเทียบ หรือเกือบ 60% การดำเนินการตรงนี้การันตีกับผู้โดยสารได้ว่าเที่ยวบินระหว่างประเทศจะไม่มีบริการ Bus Gate อีกต่อไป เพื่อความสะดวกสบายแก่ผู้โดยสาร

ทอท.ลุยลงทุน ปักธงกลางปีหน้าเริ่มปั้นสนามบินล้านนา - อันดามัน

นอกจากนี้ยังพัฒนาระบบขนถ่ายกระเป๋า และระบบรถไฟฟ้า APM ขนผู้โดยสาร รวมไปถึงการนำเอาวัฒนธรรม ความสะดวกสบายมาใช้ที่แซทเทิลไลท์ เป็นมิติใหม่ในการให้บริการ รวมทั้งการพัฒนารันเวย์ที่ 3 เพื่อแก้ไขปัญหาเครื่องบินวนจากการไม่มีสล็อตเพียงพอ โดยการพัฒนาส่วนนี้จะเพิ่มรองรับเที่ยวบินได้อีก 40% ปัญหาสล็อตการบินไม่เพียงพอก็จะหายไป คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ใน ก.ค.2567 และยังมีแผนพัฒนาอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออกที่ได้รับอนุมัติจาก ครม.แล้ว

ส่วนท่าอากาศยานดอนเมือง มีแผนก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 จะทำการก่อสร้างอาคารเดิม และสร้างเป็นอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ รวมทั้งสร้างอาคารพักคอย ร้านค้า ร้านอาหาร และควบรวมอาคารผู้โดยสาร 1 และ 2 ให้เป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ เพื่อรองรับดีมานด์ของผู้โดยสารที่นิยมใช้ท่าอากาศยานดอนเมืองในการเดินทางภายในประเทศ ซึ่งการเพิ่มพื้นที่ส่วนนี้จะทำให้ขีดความสามารถผู้โดยสารภายในประเทศ 20 ล้านคนต่อปี เป็น 35 ล้านคนต่อปี

ทอท.ลุยลงทุน ปักธงกลางปีหน้าเริ่มปั้นสนามบินล้านนา - อันดามัน

ส่วนผู้โดยสารระหว่างประเทศ จะมีคุณภาพเทียบเท่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้วยการพัฒนาอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ โดยแผนเหล่านี้ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และอยู่ระหว่างการออกแบบ จะประมูลปลายปี 2567 และคาดว่าภายในปี 2570 จะเห็นภาพการบริหารตามแผนนี้ เพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้านเป็น 50 ล้าน

ด้านท่าอากาศยานเชียงใหม่ ปัจจุบันรองรับผู้โดยสาร 8 ล้านคนต่อปี ทอท.จะสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ เพื่อผลักดันเป้าหมาย International Gateway ส่วนท่าอากาศยานภูเก็ตจากปัจจุบันรองรับผู้โดยสาร 12 ล้านคนต่อปี จะเพิ่มเป็น 20 ล้านคนต่อปี โดย ทอท.จะเพิ่มพื้นที่อาคารระหว่างประเทศเป็นเท่าตัว รวม 12 ล้านคนต่อปี และภายในประเทศอีก 8 ล้านคนต่อ

นายกีรติ กล่าวด้วยว่า นอกจากการพัฒนาขีดความสามารถท่าอากาศยานเดิมแล้ว ทอท.ยังมีแผนก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ คือ ท่าอากาศยานล้านนา วงเงินลงทุน 7 หมื่นล้านบาท และท่าอากาศยานนานาชาติอันดามัน วงเงินลงทุน 8 หมื่นล้านบาท รองรับผู้โดยสารให้ได้สูงสุด 20 ล้านคนต่อปี รวม 2 ท่าอากาศยาน 40 ล้านคนต่อปี ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนศึกษา คาดว่าในกลางปีหน้าจะสามารถเริ่มกระบวนการเวนคืนที่ดิน และเปิดประมูลก่อสร้าง

ขณะเดียวกัน ทอท.จะขับเคลื่อนท่าอากาศยานสีเขียวเพื่อความยั่งยืน เนื่องจาก ทอท. เป็นรัฐวิสาหกิจในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ดังนั้นเป้าหมายส่วนหนึ่งที่ต้องทำคือ การให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืน เพื่อทำให้นักลงทุนเชื่อมั่น โดยเป้าของ ทอท.ต้องการเป็น Net Zero ภายใน 10 ปี โดย 4 ปีหลังจากนี้จะเร่งลดปริมาณคาร์บอน 50% จากการใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ติดตั้งในพื้นที่ข้างรันเวย์

อีกทั้งปัจจุบันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ยังผลิตกระแสไฟฟ้าจากหลังคาอาคารผู้โดยสาร 10 เมกะวัตต์ และอนาคตจะลงทุนอีก 40 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ภายในปี 2568 จะมีโรงไฟฟ้า 50 เมกะวัตต์ จากพลังงานแสงอาทิตย์ และจะขยายไปยังท่าอากาศยานอื่นๆ นอกจากนี้จะผลิตไฟฟ้าส่วนเกินช่วงกลางวันมาใช้ช่วงกลางคืน โดยหาเทคโนโลยีปรับพลังงานเป็นไฮโดรเจน รวมทั้งยังชวนผู้ประกอบการปรับรถในพื้นที่ท่าอากาศยานให้เป็นยานยนต์ไฟฟ้าใน 4 ปี

ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการบินอย่างยั่งยืน ทอท.ทำงานร่วมกับสายการบิน ลงทุนร่วมกับผู้ประกอบการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ SAF ซึ่งการตื่นตัวครั้งนี้ นับเป็นการรองรับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกด้วย เพราะหากไม่ปรับตัวสายการบินก็จะโดนเรียกเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นในเส้นทางบิน อาทิ ยุโรป

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์