สัมปทาน 50 ปีแลกลงทุนโครงการ 'แลนด์บริดจ์'

สัมปทาน 50 ปีแลกลงทุนโครงการ 'แลนด์บริดจ์'

การเดินทางเยือนต่างประเทศของนายกรัฐมนตรีได้ย้ำศักยภาพเศรษฐกิจไทย ดึงดูดการลงทุนสร้างการรับรู้โครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งเอกชนหลายประเทศให้การตอบรับที่ดี และเร่งทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ)

รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ปานปรีย์ พหิทธานุกร ปาฐกถาพิเศษ : Thai Economic Outlook: Navigating Growth and Challenges ในงานสัมมนา Go Thailand 2024 : Green Economy - Landbridge โอกาสทอง? ระบุว่า การเดินทางเยือนต่างประเทศของนายกรัฐมนตรีได้ย้ำศักยภาพเศรษฐกิจไทย ดึงดูดการลงทุนสร้างการรับรู้โครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งเอกชนหลายประเทศให้การตอบรับที่ดีและเร่งทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ)

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยดำเนินเพียงลำพังไม่ได้ แต่ต้องผลักดันร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย รวมถึงซอฟต์พาวเวอร์ก็มีส่วนสร้างความเข้มแข็ง และเพิ่มขีดความสามารถให้กับไทย

ขณะนี้การเมืองโลกอยู่สภาวะแบ่งขั้ว และน่าวิตกกังวลโดยเฉพาะการแข่งขันระหว่างจีน และสหรัฐ สงครามยูเครน และความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ยิ่งทำให้การแบ่งขั้วโลกรุนแรงมากขึ้นเกิดนโยบายแบบพร้อมชน และการกีดกันรูปแบบต่างๆ มากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันภูมิรัฐศาสตร์ ภูมิเศรษฐศาสตร์ และภูมิเทคโนโลยี แต่ความท้าทายดังกล่าวอาจนำไปสู่โอกาสความร่วมมือได้ไทยจึงต้องอยู่ให้เป็น มีจุดยืน และเป้าหมาย เพื่อบริหารความเสี่ยงใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เกิดขึ้น และพร้อมรับการแข่งขันที่เข้มข้น

ประมูลสัมปทานแลนด์บริดจ์ปี 69

ปลัดกระทรวงคมนาคม ชยธรรม์ พรหมศร กล่าวในหัวข้อ LandBridge : โอกาสและความท้าทาย ระบุว่า ขณะนี้การจราจรทางเรือติดขัดขึ้นจึงเป็นปัจจัยกระตุ้นโครงการแลนด์บริดจ์ให้น่าสนใจขึ้น ขณะเดียวกันไทยมีจุดแข็งคือ ตำแหน่งที่ตั้ง ที่อยู่ระหว่างกลางของเส้นทางการเดินเรือโลกที่มีความหนาแน่นมากแห่งหนึ่งของโลก ทั้งเส้นทางเรือขนส่งน้ำมัน และตู้สินค้า ทำให้แลนด์บริดจ์คือ คำตอบในเรื่องนี้ เป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางน้ำของโลก

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญของโครงการแลนด์บริดจ์คือ การเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติมาร่วมลงทุน โดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนรับสัญญาสัมปทาน 50 ปี ซึ่งในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้เริ่มโรดโชว์ในต่างประเทศบ้างแล้ว และได้รับการตอบรับที่ดีทั้งจากนักลงทุน และสายการเดินเรือ ส่วนขั้นตอนดำเนินการหลังจากนี้ คาดว่าโรดโชว์จะแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2567

หลังจากนั้นจะดำเนินการเสนอร่าง พ.ร.บ.เขตพิเศษภาคใต้ (SEC) ต่อสำนักงาน SEC ภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 และดำเนินการออกประกาศเชิญชวนนักลงทุนภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2568 พร้อมเปิดประมูลได้ภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2569 ส่วนการเวนคืนที่ดินจะดำเนินการได้ภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2569 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายในปี 2569 โดยจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2573

 บีโอไอชี้อีวีจุดเปลี่ยนสู่ Green Economy

เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ กล่าวในหัวข้อ นโยบายลงทุนไทย ภายใต้บริบทใหม่ ระบุว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ที่เป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศจะเป็นกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไทยไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวได้ ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินนโยบายที่ชัดเจน และครอบคลุมในการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมในประเทศ และส่งเสริมการลงทุนใหม่ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค

ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 (EV3.5) ซึ่งจะมีผลตั้งแต่ปี 2567 - 2570 สนับสนุนให้ดีมานด์รถอีวีในประเทศเติบโตต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 30@30 หรือ มีการผลิตรถ ZEV 30% ของรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตในประเทศ

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์