'ไออาร์ซี' เปิด 7 ปัจจัยเสี่ยง 'เศรษฐกิจจีน' ตัวการฉุดอัตรา GDP ไทย ปี 67
"ไออาร์ซี" เปิด 7 ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจในจีน อีกตัวการฉุดอัตราการเติบโต GDP ปี 2567 ในไทย แนะภาครัฐเร่งนโยบายส่งออกและเดินหน้าขยาย FTA เพื่อเปิดตลาดใหม่
รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ จำกัด (IRC) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 แม้จะฟื้นตัวโดยจะเติบโตอยู่ที่ 2.5-3.1% การส่งออกขยายตัวในรอบ 2 ปีซึ่งโตอยู่ที่ 2.2-2.5% แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงรุมเร้ามากมาย
สำหรับระดับความเสี่ยงตัวแปร เศรษฐกิจไทย ที่มีผลต่อ GDP ปี 2567 ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะศักยภาพการส่งออกยังยังไม่ดีในช่วง 2 ทศวรรษ เศรษฐกิจไทยถดถอย แม้ปี 2567 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังถือว่าไม่เต็มศักยภาพของ GDP ไทย
อย่างไรก็ตาม การส่งออกปี 2566 ติดลบที่ 1.8% มีมูลค่า 282,251 ล้านดอลลาร์ ปี 2567 ปรับตัวดีขึ้นถือว่าฟื้นตัวในรอบ 2 ปีแต่ก็ยังมีความเสี่ยงสูงในตลาดโลก โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกปี 2567 จะอยู่ที่ระดับ 288,461-288,884 ล้านดอลลาร์ ซึ่งปัจจัยความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยที่อาจไม่ขยายตัวเท่าที่ควรมาจาก 4 ปัจจัย คือ 1 การบริโภค 2. การลงทุน 3. การส่งออก 4. นักท่องเที่ยวจีน
ทั้งนี้ ประเทศไทยยังคงพึ่งพิงเศรษฐกิจจีนมากเกินไปก็อาจจะยังไม่ทำให้เศรษฐกิจในประเทศไทยปี 2567 นี้ขยายตัวเท่าที่ควร จากข้อมูลค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวจีนในไทยพบว่า ปี 2562 มีมูลค่า 586,215 ล้านบาท พึ่งพาสัดส่วนต่อ GDP ที่ 3.7%, ธุรกิจบริการจีนในไทย ปี 2562 มีมูลค่า 733,288 ล้านบาท พึ่งพาสัดส่วนต่อ GDP ที่ 4.5%
การลงทุนโดยตรง (FDI) จากจีน ปี 2565 มูลค่า 77,000 ล้านบาท, พึ่งพาสัดส่วนต่อ GDP ที่ 0.5% ในขณะที่มูลค่าส่งออกไทยไปจีน ปี 2565 อยู่ที่ 1,194,624 ล้านบาท พึ่งพาสัดส่วนต่อ GDP ที่ 7.4% ดังนั้น จากตัวเลขรวมดังกล่าว จึงคาดการณ์ว่าปี 2567 ประเทศไทยจะยังคงหวังรายได้จากจีนรวมมูลค่า 2,591,127 พึ่งพาสัดส่วนต่อ GDP 16.2%
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลศูนย์เทคโนโลยสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ (สืบค้นเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2566) พบว่า การค้าไทย-จีน ปี 2567 มูลค่าสงออกไปจีน 32,893 ล้านดอลลาร์ ลดลง 3.5% และการนำเข้าจากจีน 68,869 ล้านดอลลาร์ ลดลง 1.5% ซึ่งกระทบการส่งออกรวม 11.4% และกระทบการนำเข้ารวม 23%
ทั้งนี้ ไออาร์ซี ได้ประเมิณปัจจัยเสี่ยงในประเทศจีนพบว่า
1. ดัชนี PMI ของจีนยังไม่ฟื้นตัว นอกจากกระทบส่งออกไทยยังทำให้การนำเข้าสินค้าจีนมากขึ้น ซึ่งการเข้ามาของธุรกิจจีน ทั้งสินค้า และโรงงานในไทย จะทำให้อุตสาหกรรมไทย และกลุ่ม SMEs ปิดลงมากขึ้น
2. สินค้าอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องและการชะลอการผลิตเพื่อเติมสินค้าคงคลัง
3. IMF คาดเศรษฐกิจจีนในปี 2567 เติบโต 4.2% ต่ำกว่าปีนี้ (2566) ที่ 5%
4. ปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข
5. การไหลออกของเม็ดเงินจากจีน
6. ปัญหาหนี้สาธารณะอาจแพร่กระจายไปยังภาคเศรษฐกิจกว้างขึ้น
7. ปัญหาการว่างงานของวัยรุ่นหนุ่มสาวจีนเพิ่มขึ้น
สำหรับคาดการณ์นักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวในไทยปี 2567 อยู่ที่ 6 ล้านคน จากจำนวน 32 ล้านคน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจีนก่อนเกิดโควิด-19 ปี 2562 อยู่ที่ 10 ล้านคน จากจำนวนนักท่องเที่ยวรวมกว่า 39 ล้านคน รายได้จากนักท่องเที่ยวจีนกว่า 6 แสนล้านบาท โดยปี 2566 จำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลงเหลือที่ 3.5 ล้านคน จากจำนวนนักท่องเที่ยวรวม 29 ล้านราย
ทั้งนี้ คาดว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวจีนปี 2567 จะอยู่ที่ราว 318,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีรายได้จากนักท่องเที่ยวจีนที่ 210,000 ล้าบาท ลดลงจากปี 2562 ที่มีรายได้กว่า 586,215 ล้านบาท
"จากคาดการณ์รายได้จากนักท่องเที่ยวจีนและการส่งออกไปยังจีนของไทยปีหน้ายังไม่ดีเท่าที่ควร เพราะเศรษฐกิจจีนยังมีปัญหา และความไม่มั่นใจในการที่จะมาท่องเที่ยวในไทย ดังนั้น นโยบายภาครัฐจะเป็นอีกตัวขับเคลื่อนที่สำคัญโดยเฉพาะนโยบายการส่งออกและเดินหน้าขยาย FTA เพื่อเปิดตลาดใหม่ที่อาจมุ่งเน้นไปทางยุโรป และแถบอาหรับ แอฟริกาให้มากขึ้น รวมถึงขับเคลื่อนเศรษฐกิจชายแดนจะส่งผลเศรษฐกิจไทยในทางบวกได้”