จี้รัฐนำเข้า 'กากถั่ว' แก้วิกฤติอาหารสัตว์

สมาพันธ์ปศุสัตว์ฯ ร้องขอรัฐบาลเร่งออกประกาศนำเข้า “กากถั่วเหลือง” ทันทีก่อนเกิดความเสียหายหนัก เพิ่มต้นทุนการผลิตและกระทบห่วงโซ่การผลิตอาหารทั้งระบบ

เลขาธิการสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ระบุ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 สมาพันธ์ฯ ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เป็นหนังสือฉบับที่ 6 ที่ยื่นถึงรัฐในประเด็นนี้ เพื่อขอเข้าพบอธิบายเหตุผลและความจำเป็น ตลอดจนขอร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการออกประกาศทันที
 
ผลผลิตถั่วเหลืองของประเทศไทยมีเพียงปีละ 2-3 หมื่นตัน ซึ่งได้รับการปกป้องเกษตรกร โดยสมาพันธ์ฯ รับซื้อหมดทั้ง 100% แล้ว รวมถึงการรับซื้อจากโรงงานผลิตน้ำมันพืชด้วย จึงมองไม่เห็นเหตุผลที่รัฐบาลจะดึงการต่ออายุประกาศนำเข้ากากถั่วเหลืองให้ล่าช้ากว่าทุกปี ซึ่งส่งผลเสียอย่างมาก อยากวอนขอให้รัฐบาลนำวาระนี้เข้า ครม.ในวันที่ 26 ธันวาคมนี้ ซึ่งเป็นการประชุม ครม.ครั้งสุดท้ายของปี พร้อมขอให้มีมติต่ออายุทันทีเพื่อจำกัดความเสียหาย ขณะที่จะต้องมีกระบวนการออกประกาศยกเว้นอากรของกระทรวงการคลังตามมาอีกขั้นตอนหนึ่งอย่างรวดเร็ว
 
การขอความกรุณารัฐบาลเร่งรัดออกประกาศดังกล่าวเป็นการเร่งด่วน เป็นไปเพื่อจำกัดความสูญเสียให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด ทั้งในส่วนของค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมถึงการสูญเสียโอกาสในการผลิตอาหารสัตว์ เพราะหากต้องหยุดชะงักเนื่องจากไม่มีวัตถุดิบในการผลิต จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังผู้บริโภคเนื้อสัตว์ภายในประเทศ และกระทบต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าเนื้อไก่ และกุ้ง ซึ่งมีมูลค่าทางธุรกิจทั้งระบบ รวมกันกว่าหนึ่งล้านล้านบาท หากล่าช้าจนเกิดความเสียหาย สมาพันธ์ฯ จะส่งใบเรียกเก็บค่าเสียหายไปยังรัฐบาล

เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมภพ เอื้อทรงธรรม ระบุวันที่ 3 มกราคม 2567 จะมีเรือขนถ่ายสินค้ากากถั่วเหลืองเข้าสู่ประเทศไทยเป็นลำแรก และตลอดเดือนมกราคม 67 จะมีเรือนำเข้ากากถั่วเหลืองจำนวน 4 ลำ รวมปริมาณ 2.1 แสนตัน ซึ่งความเสียหายที่จะเกิดขึ้น หากประกาศนำเข้ากากถั่วเหลืองออกไม่ทัน

ได้แก่ 1.) เรือที่ขนถ่ายสินค้ากากถั่วเหลืองที่จะเข้ามาไทยจะไม่สามารถขนถ่ายสินค้าได้ และมีค่าใช้จ่าย (Demurrage Charge) วันละ 2.5 แสนบาท/ลำเรือ และเดือน มค. มีเรือเข้ามาพร้อมกัน 4 ลำ จะมีค่าใช้จ่ายรวม 1 ล้านบาท/วัน นับไปทุกวันจนกว่ารัฐบาลจะออกประกาศ และ 2.) ต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนของอัตราดอกเบี้ยสูญเปล่า กรณีประกาศลดหย่อนอัตราภาษีของกระทรวงการคลังออกล่าช้า

กรณี มค.67 มีรายการเข้ามาจำนวน 2.1 แสนตัน มูลค่านำเข้าประมาณ 4,200 ล้านบาท มูลค่าภาษีที่ต้องสำรองจ่ายจะสูงถึง 336 ล้านบาท และมีอัตราดอกเบี้ยสูญเปล่า 1.68 ล้านบาท/เดือน ระยะเวลาขอคืนภาษี 6 เดือน คิดเป็นอัตราดอกเบี้ยสูญเปล่าในเดือน มค.รวม 10.08 ล้านบาท

ทั้งนี้ ประเทศไทยต้องนำเข้าสินค้ากากถั่วเหลืองปีละเกือบ 3 ล้านตันในการผลิตอาหารสัตว์ เนื่องจากผลิตถั่วเหลืองได้ประมาณปีละ 2-3 หมื่นตัน ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ ที่ผ่านมาสินค้ากากถั่วเหลืองอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการนโยบายอาหาร กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้พิจารณากำหนดนโยบายและมาตรการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ (กากถั่วเหลือง ปลาป่น และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) โดยการนำเข้าสินค้ากากถั่วเหลืองภายใต้กรอบ WTO กำหนดโควต้าผู้มีสิทธิ์นำเข้า 11 ราย นำเข้าได้โดยไม่จำกัดจำนวน มีอัตราภาษีร้อยละ 2 โดยพิจารณาคราวละ 3 ปี ซึ่งประกาศนำเข้ากากถั่วเหลืองปี 2564-2566 จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคมนี้
 
ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายอาหาร จะยึดหลักบริหารวัตถุดิบให้มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ พร้อมกำหนดมาตรการดูแลคุ้มครองเกษตรกรและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ในระบบอุตสาหกรรมให้ได้รับความเป็นธรรม โดยไม่กระทบต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ โดยกำหนดให้ผู้มีสิทธินำเข้า ให้การสนับสนุนรับซื้อกากถั่วเหลืองที่ผลิตจากเมล็ดถั่วเหลืองในประเทศของโรงงานสกัดน้ำมันถั่วเหลืองทั้งหมดไม่ต่ำกว่าราคาขั้นต่ำที่กำหนด โดยในปี 2566 กำหนดราคารับซื้อกากถั่วเหลืองอยู่ที่ 17.04 บาท/กก. คำนวนมาจากราคารับซื้อเมล็ดถั่วเหลืองภายในประเทศที่กำหนดไว้ที่ 21.75 บาท/กก. ณ โรงงาน กทม. ซึ่งมี สำนักเศรษฐกิจการเกษตร เป็นผู้กำหนดราคาประกัน โดยพิจารณาจากต้นทุนเกษตรบวกกำไรที่เหมาะสม