7 ค่ายรถญี่ปุ่น ปักหลักลงทุนไทย ลงทุนเพิ่ม1.5 แสนล้านลุย EV-ไฮบริด

7 ค่ายรถญี่ปุ่น ปักหลักลงทุนไทย  ลงทุนเพิ่ม1.5 แสนล้านลุย EV-ไฮบริด

“รัฐบาล” โชว์ผลงานนายกฯ โรดโชว์ญี่ปุ่น 4 ค่ายรถลงทุนเพิ่ม 1.5 แสนล้านบาท ใน 5 ปี   เร่งผลิต EV กระบะไฟฟ้า ปั๊มชาร์จ วิจัยไฮโดรเจน “อีซูซุ“ ผลิตปิกอัพ EV ส่งขายยุโรป ”มิตซูบิชิ“ เตรียมขึ้นสายผลิตไฮบริด ”ฮอนด้า” เริ่มแผนทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าปี 67 “โตโยต้า” ลุยพลังงานทางเลือกปิกอัพ

บริษัทญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยอันดับต้นมาตลอด ซึ่งในไทยที่ผ่านมาหลังจากไทยผลักดันการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และทำให้บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดูและการลงทุนรถยนต์สันดาปที่ยังมีดีมานด์ในไทย

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่นในไทย รวมทั้งให้ความสำคัญถึงความร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่น เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์เครื่องสันดาปเป็น EV รวมทั้งสนับสนุนให้ขยายการลงทุนในไทยและขับเคลื่อนไทยเป็นฐานผลิต EV หลักในอาเซียน 

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีหารือผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น 7 ราย ในระหว่างเดินทางเยือนญี่ปุ่นเพื่อร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-ญี่ปุ่น (ASEAN-Japan) ในโอกาสความสัมพันธ์อาเซียนญี่ปุ่น 50 ปี ระหว่างวันที่ 14-18 ธ.ค.2566 

สำหรับการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีและผู้บริหารบริษัทรถญี่ปุ่น คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ข้อสรุปว่าภายใน 5 ปี จะมีผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่น 4 ราย พร้อมขยายการลงทุนสำหรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยมูลค่าการลงทุน 150,000 ล้านบาท ได้แก่ บริษัทโตโยต้า 50,000 ล้านบาท , บริษัทฮอนด้า 50,000 ล้านบาท , บริษัทอีซูซุ 30,000 ล้านบาท และบริษัทมิตซูบิชิ 20,000 ล้านบาท 

7 ค่ายรถญี่ปุ่น ปักหลักลงทุนไทย  ลงทุนเพิ่ม1.5 แสนล้านลุย EV-ไฮบริด

ส่วนบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นทั้ง 7 ราย ยืนยันใช้ไทยเป็นฐานการผลิตหลักในภูมิภาค พร้อมสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลไทย ซึ่งเป็นไปตามแนวทางของรัฐบาลไทยที่จะสนับสนุนค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นให้เปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ที่ลดการปล่อยคาร์บอน รวมทั้งใช้พลังงานไฟฟ้าและไฮโดรเจน นอกจากนี้บางบริษัทให้ความเห็นว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตรถกระบะไฟฟ้าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

 

ทั้งนี้กลุ่มบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่นได้นำเสนอโมเดลของการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Swapping) สำหรับรถเชิงพาณิชย์ ซึ่งไทยพร้อมส่งเสริมสภาพแวดล้อมการลงทุนให้กับผู้ลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น โดยจะดำเนินการออกมาตรการยกเว้นวีซ่าให้นักธุรกิจญี่ปุ่นที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยเพื่อติดต่อธุรกิจระยะสั้น ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบแล้ว

“นายกฯ ให้ความสำคัญกับนโยบายการสนับสนุนค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น โดยการหารือกันระหว่างนายกรัฐมนตรีกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นเป็นไปอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย" 

รวมทั้งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทยให้เป็นผู้นำด้านการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในระดับอาเซียน ซึ่งไทยพร้อมสนับสนุนและร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่นที่ต้องการขยายการลงทุนเพิ่มเติมในไทย เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของทั้ง 2 ประเทศ

“อีซูซุ” ผลิตปิกอัพอีวีส่งยุโรป

อย่างไรก็ตามโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไม่ได้ระบุรายละเอียดการลงทุนของบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่น แต่ก่อนหน้านี้ หลายๆ บริษัทเปิดเผยแผนลงทุนในอนาคต เช่น อีซูซุ ซึ่งล่าสุดช่วงเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ประกาศจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่า อนุมัติการส่งเสริมการลงทุนให้แก่ บริษัท อีซูซุ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด จ.สมุทรปราการ ที่ยื่นแพกเกจผลิตรถปิกอัพพลังงานไฟฟ้า

ขณะที่นายทาคาชิ ฮาตะ กรรมการผู้จัดการบริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด ให้สัมภาษณ์ช่วงปลายเดือน พ.ย.2566 ว่า อีซูซุ มีแผนที่จะผลิตรถปิกอัพอีวี เริ่่มต้นในปี 2568 เพื่อรับแผนการส่งออก เริ่มต้นคือตลาดภูมิภาคยุโรปบางประเทศที่รัฐบาลมีแผนส่งเสริมชัดเจน หรือกำหนดให้ใช้รถไฟฟ้า

ส่วนประเทศอื่นๆ รวมถึงไทยจะทำตลาดหรือไม่นั้น ต้องดูถึงความเหมาะสมของตลาด และความต้องการของแต่ละประเทศก่อน โดยขณะนี้อีซูซุเริ่มต้นทดสอบปิกอัพ อีวี เพื่อเตรียมความพร้อมรับแผนการดังกล่าวแล้ว ส่วนกำลังการผลิตอยู่ระหว่าการศึกษารายละเอียดของตลาด

สำหรับตลาดประเทศไทยที่อีซูซุ ยังไม่มีแผนที่จะทำตลาด เพราะจากการประเมินตความต้องการของลูกค้าพบว่ามีความต้องการน้อย โดยเงื่อนไขของ ปิกอัพ อีวี ที่ลูกค้ามองคือน้ำหนักบรรทุก ระยะ่ทางการใช้งาน และระดับราคาจำหน่าย

นอกจากนี้ยังมองว่า หากต้องการมุ่งเน้นเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอนจริงๆ เห็นว่าไม่จำเป็นจะต้องมุ่งไปสู่ที่อีวีอย่างเดียว แต่เทคโนโลยีอื่นๆ ก็สามารถช่วยให้เข้าถึงเป้าหมายได้เช่นกัน

มิตซูบิชิเตรียมขึ้นสายผลิตไฮบริด

ทางด้านมิตซูบิชิที่ผ่านมา ขยายการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง เช่น การลงทุนครั้งใหญ่กว่า 3,000 ล้านบาทในปี 2565 ขยายโรงพ่นสีในโรงงานแหลมฉบังเพื่อยกระับการผลิต และล่าสุด เดือน ส.ค. 2566 ที่ผ่านมาก็ลงทุนสายการผลิตใหม่ปิกอัพ ไทรทันหรือ แอล 200 (L200)เพื่อรองรับแผนการส่งออกทั่วโลก

ประกอบด้วยสายการผลิตเชื่อมประกอบตัวถังรถยนต์ที่ควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติเทคโนโลยีสูงอันดับต้นๆ ของประเทศไทย เป็นกระบวนการผลิตอัตโนมัติสัดส่วน 95% จากการใช้หุ่นยนต์อัจฉริยะมากกว่า 250 ตัว

นอกจากนี้ยังมีแผนลงทุนต่อเนื่องสำหรับการนำระบบสร้างพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต หลังจากที่ผ่านมาเปิดการผลิตไปแล้ว7 เมกะวัตต์

ขณะที่การลงทุนด้านพลังงานใหม่ๆ มิตซูบิชิ ยังไม่มีแผนชัดเจนด้านการผลิต อีวี แต่มีการดำเนินโครงการศึกษาอีวีร่วมกับกับหลายหน่วยงานในไทย ด้วยการส่ง อีวี จากญี่ปุ่นให้หน่วยงานทดสอบการใช้งาน และศึกษาตลาด

อย่างไรก็ตาม มีกระแสข่าวว่ามิตซูบิชิสนใจที่จะขยายการลงทุนสำหรับการผลิตรถไฮบริด เนื่องจากเห็นว่ามีความเหมาะสมกับตลาดในไทย และที่ผ่านมา มิตซูบิชิ ลงทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงานไฟฟ้าไปแล้วบางส่วนกับการประกอบ เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี รถปลั๊ก-อิน ไฮบริดรุ่นแรกในไทย

แต่ทั้งนี้มิตซูบิชิ เป็นหนึ่งในบริษัทที่ยื่นของรับการส่งเสริมการลงทุนผลิตรถพลังงานไฟฟ้า (xEV) มูลค่า5,480 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขอทั้งอีวี และพลังงานลูกผสม โดยคาดว่าจะเริ่มการผลิตรถไฮบริด 2 รุ่น เพื่อรับมือการแข่งขันกับ อีวี คือ เอ็กซ์แพนเดอร์ ไฮบริด และ เอ็กซ์ ครอส ไฮบริด

ปัจจุบัน เอ็กซ์แพนเดอร์ มีจำน่ายในไทยแล้ว โดยเป็นการนำเข้าจากโรงงานผลิตในอินโดนีเซีย ขณะที่เอ็กซ์ครอส ยังไม่ได้ทำตลาดในไทย แต่ทำตลาดแล้วในอินโดนีเซีย แต่เป็นการผลิตในรุ่นที่ใช้เครื่องยนต์

ขณะที่รุ่นที่ใช้ระบบไฮบริดจะผลิตในโรงงานประเทศไทย

ฮอนด้าเริ่มทำตลาด “อีวี” ปี 2567

ทางด้านบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เคยยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนตไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric Vehicles-HEV) และแบตเตอรี่มูลค่า 5,821 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามล่าสุด ฮอนด้าประกาศแผนการผลิต อีวี ในไทย เริ่มต้นด้วยรุ่น e:N1 โดยเริ่มต้นการผลิตแล้วที่ดรงงาน ปราจีนบุรี แต่จะผลิตและทำตลาดอย่างเป็นทาการเดือน ม.ค. 2567 นับเป็นแบรนด์ญี่ปุ่นแบรนด์หลักรายแรกที่ผลิตในประเทศไทย

ฮอนด้าระบุว่า การที่ ฮอนด้า ประกอบ อีวี ในประเทศไทย นับเป็นก้าวสำคัญของฮอนด้าที่แสดงถึงความเชื่อมั่นว่าฮอนด้ายังคงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการดำเนินธุรกิจในไทย และยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งจากการผลิตและการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ

นอกจากนี้ยังเป็นการตอกย้ำความเป็นผู้นำที่เดินหน้าตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายแก่ผู้บริโภคชาวไทย กับเทคโนโลยีทางเลือก ไม่ว่าจะเป็น เครื่องยนต์สันดาปภายใน ระบบฟูลไฮบริด e:HEV และล่าสุดกับพลังงานไฟฟ้า

“ฮอนด้า ได้เตรียมเดินหน้าสู่เป้าหมายปี พ.ศ. 2573 ในการผลิตและจำหน่ายยนตรกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (BEV) ด้วยสัดส่วนไม่น้อยกว่า 2 ล้านคันทั่วโลก”

โตโยต้าลุยพลังงานทางเลือกปิกอัพ ยกแผง

ด้านโตโยต้าขยับตัวกับพลังงานทางเลือก โดยล่าสุดเปิดแผน Multi Pathway เพิ่มทางเลือกให้กับตลาดปิกอัพ

นายมาซาฮิโกะ มาเอดะ เจ้าหน้าที่บริหารภูมิภาคเอเชีย บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่าMulti Pathwayนหมายถึงการมีทางเลือกที่หลากหลาย และเหมาะสมกับแต่ละตลาด และที่สำคัญก็คือ เป็นเทคโนโลยีที่มุ่งไปสู่เรื่องของการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมเช่นกัน ประกอบด้วยBEV รถปิกอัพพลังงานไฟฟ้าFCEV หรือ Fuel Cell EVและDiesel HEV รถปิกอัพ ไฮบริด

โดยแต่ละเทคโนโลยีจะตอบสนองลูกค้าที่ต่างกันออกไปปิกอัพเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ก็จะยังคงอยู่เช่นเดิมตอบสนองการนำไปใช้งานทั่วไปปิกอัพ Diesel HEV ตอบสนองการใช้งานในชีวิตประจำวัน ใช้งานส่วนตัว และผู้ที่ชื่นชอบรถที่มีสมรรถนะสูงโดยระบบไมล์ด ไฮบริด แบตเตอรี 48 โวลต์ จะมีสมรรถนะที่เทียบเคียงได้กับรถที่ใช้เครื่องยนต์ขนาด 3.0 ลิตร V6

ปิกอัพ อีวี ตอบสนองกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์, รถรับส่ง (shuttle), รถในเหมือง ที่มีระยะทางการใช้งานไม่มากนัก โดยสเปคที่พัฒนาขึ้นมาใช้งานประมาณ 300 กม.

ปิกอัพ FCEV เป็นปิกอัพสำหรับการใช้งานไกลๆ โดยสเปค ของ FCEV คือ 600 กม. นอกจากนี้ยังเป็นกลุ่มลูกค้าเหมือง, รถสำหรับหน่วยงานรัฐ และธุรกิจขนส่ง หรือ logistics

“แต่ละเทคโนโลยีมีแนวทาง มีเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป เช่น ปิกอัพ ไฮบริด หรือ Diesel HEV พัฒนาสำหรับตลาดโลกฝั่งใต้ ซึ่งแน่นอนรวมถึงไทย เป็นรถที่ตอบสนองผู้ที่ต้องการความประหยัด ต้องการสมรรถนะที่สูงและที่สำคัญคือ ลูกค้าที่ยังชื่นชอบเสียงเครื่องยนต์”

ปิกอัพอีวีขณะนี้ได้รับการติดต่อจากลูกค้าใน ออสเตรเลีย และยุโรป จำนวนมากที่ต้องการใช้งานในเหมือง และลูกค้าตลาดออสเตรเลียก็ยังพูดถึงเรื่องของการใช้พลังงานไฮโดรเจนในรถปิกอัพด้วยเช่นกัน"ส่วนตลาดประเทศไทย มาเอดะ ระบุชัดเจนว่า “Hilux ทุกรุ่น มีแผนที่จะขายในไทยทุกรุ่น”

หวังรัฐหนุนเทคโนโลยีอื่นนอกเหนือ อีวี

อย่างไรก็ตามแม้ว่าขณะนี้กระแสอีวีกำลังได้รับความนิยมสูง และภาครัฐก็พยายามสนับสนุนอย่างเต็มที่ แต่โตโยต้าต้องการให้รัฐมองเทคโนโลยีอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นไฮบริด หรือ FCEV ด้วยเช่นกัน ซึ่งที่ผานมาโตโยต้าก็ได้แสดงความคิดเห็นต่อนายกรัฐมนตรีของไทยและคณะทั้งก่อนการเดินทางไปเยือนและระหว่างการเยือนญี่ปุ่น

นอกจากนี้มองว่าการสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรม รัฐควรมีนโยบายด้านอื่นควบคู่กันไปด้วย เช่น การส่งเสริมการส่งออก การทำให้คนไทยตระหนักรู้เกี่ยวกับการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงซัพพลายเชนในอุตสาหกรรม

“ความแข็งแกร่งจริงๆ ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยคือ ซัพพลายเชน แต่การเปลี่ยนไปสู่อีวีนั้น รัฐต้องดูว่า จะมีซัพพลายเชน อีวี เข้ามาลงทุนในไทยด้วยหรือไม่ รัฐต้องพยายามดึงดูดการลงทุนในส่วนนี้ให้มาก”

นอกจากนี้ยังต้องการให้รัฐส่งเสริมส่วนอื่นๆ นอกเหนือ อีวี เช่น ปิกอัพ และรถ อีโค คาร์ ซึ่งเป็น 2 โปรดักท์ แชมเปี้ยนของไทย

แม้ว่าล่าสุดรัฐจะขยายการส่งเสริมด้านภาษีสรรพสามิตอีโค คาร์ ออกไปถึงเดือน ต.ค. 2568 และหลังจากนัั้นภาษีจะเพิ่มขึ้่น และเงื่อนไขสนับสนุนอื่นๆ อาจหายไป เช่นการสนับสนุนภาษีนิติบุคคล จึงต้องการให้รัฐพิจารณาเรื่องนี้เช่นกัน เพราะเป็นโครงการสำคัญ และเป็นรถที่มีบทบาทมากโดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ที่เลือกเป็นรถคันแรก