TDRI หนุนเพิ่มศักยภาพแรงงานดัน 'ค่าจ้าง'
การปรับค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมกับแรงงาน รวมถึงไทยมีนโยบายนำเข้าแรงงานต่างด้าวจึงมีผลทำให้ค่าแรงปรับขึ้นช้า
นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ระบุ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมกับแรงงาน รวมถึงไทยมีนโยบายนำเข้าแรงงานต่างด้าวจึงมีผลทำให้ค่าแรงปรับขึ้นช้า
อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้รัฐบาลคิดเพียงแค่การขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพียงอย่างเดียว แต่ควรคิดถึงการสร้างงานในประเทศ และเป็นงานที่คนหนุ่มสาวอยากทำ เป็นงานที่ใช้ความรู้ เป็นอุตสาหกรรม การบริการ เทคโนโลยีสมัยใหม่
การที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปต่างประเทศ และได้เจรจากับบริษัทใหญ่ต่างๆ ให้เข้ามาลงทุนในไทย เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่เป็นโอกาสสร้างงานใหม่ๆ เพราะหากเกิดงานเหล่านี้อย่างจริงจังโอกาสที่แรงงานจะได้ค่าจ้างสูงขึ้นโดยไม่ต้องห่วงเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ
ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องมีนโยบายที่จะยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้คนที่ยังมีการศึกษาไม่สูง ทักษะน้อย ให้เพิ่มขึ้นให้ได้ เพื่อให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ยกตัวอย่างเช่น ให้มหาวิทยาลัยกับบริษัทเอกชนจัดฝึกอบรมโดยมี KPI วัดผลว่าเมื่ออบรมเสร็จแล้วจะมีงานทำ โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนอุดหนุนงบประมาณให้แรงงานเรียนฟรี เป็นสิ่งที่จะแก้ปัญหาแรงงานที่มีทักษะต่ำให้สามารถเพิ่มทักษะเพื่อให้มีรายได้สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำให้ได้
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์