ครม.อนุมัติต่อเวลาลดภาษีนำเข้า EV ทั้งคัน ลดภาษีอีโคคาร์ถึงปี 68
ครม.ไฟเขียวต่อเวลาลดภาษีอีวีนำเข้าทั้งคัน 40% ตามมาตรการ EV3.5 พร้อมต่ออายุคงภาษีอีโคคาร์ที่ 14% ต่อไปอีก 2 ปี
นางรัดเกล้า อินทวงค์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (26 ธ.ค.) เห็นชอบร่างกฎกระทรวงตามที่กระทรวงการคลังเสนอ จำนวน 2 ร่าง ดังนี้
1.เห็นชอบประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูปที่นำเข้ามาทั้งคัน (ฉบับที่ ..) โดยขยายระยะเวลาการลดอัตราอากรหรือยกเว้นอากรสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูป เฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูปที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่นำเข้าตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2568 ลดลงไม่เกิน 40% ทั้งนี้ ผู้นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าดังกล่าวต้องแสดงหนังสือรับรองการแสดงการได้รับสิทธิจากกรมสรรพสามิต
กรณีที่ผู้นำเข้าไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตกำหนด และกรมสรรพสามิตได้แจ้งยกเลิกหรือเพิกถอนการได้รับสิทธิสำหรับของนั้นกับกรมศุลกากรแล้ว ให้ถือว่าของนั้นไม่ได้รับสิทธิลดอัตราอากรหรือยกเว้นอากรตามประกาศฉบับนี้ตั้งแต่วันนำของเข้า
โดยผู้นำของเข้ามีหน้าที่ต้องแจ้งขอชำระและต้องชำระค่าภาษีอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ถูกเพิกถอนสิทธิ แต่ไม่ถูกตัดสิทธิพิเศษทางอากรศุลกากรในการลดอัตราอากรหรือยกเว้นอากรตามความตกลงการค้าเสรีที่ได้ยานไว้ในขณะนำของเข้า
2.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... (สินค้ารถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน แบบประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล รุ่นที่ 1) โดยขยายระยะเวลาการใช้บังคับอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้ารถยนต์หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน (ประเภทที่ 06.01 และ 06.02 แบบประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล รุ่นที่ 1 (อีโค คาร์ เฟส 1) ในอัตรา 14% ออกไปอีก 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 ถึงวันที่ 3 ธ.ค.2568 ทั้งนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป
ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการต่อเนื่องจากประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องการลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูปที่นำเข้ามาทั้งคันที่จะสิ้นสุดมาตรการในวันที่ 31 ธ.ค. 2566 และเป็นการดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 (EV 3.5) ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา
สำหรับมาตรการนี้คาดว่าจะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 54.4 ล้านบาท หรือเฉลี่ยประมาณ 27.2 ล้านบาทต่อปี หรืออาจทำให้รัฐสูญเสียรายได้มากกว่าที่ประมาณการไว้ได้ขึ้นอยู่กับสัดส่วนการเพิ่มขึ้นของการนำเข้า