'พาณิชย์' ถกสายเดินเรือแก้ปัญหาค่าระวางเรือ
"พาณิชย์" ถกสายเดินเรือขอความร่วมมือขึ้นค่าระวางเรือแบบขั้นบันได เตรียมเรียกสายเดินเรือประชุมปีหน้าอีกครั้ง
นางอารดา เฟื่องทอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือติดตามสถานการณ์ผลกระทบและมาตราการรองรับกรณีกลุ่มกบฏฮูตีโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดงว่า ได้ประชุมร่วมกับตัวแทนสายเดินเรือและผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้สายเดินเรือต่างๆหยุดการเดินเรือชั่วคราวเนื่องจากเทศกาลคริสต์มาส อย่างไรก็ตามทางกรมฯได้ขอข้อมูลจากสายเดินเรือใน 3 เรื่อง คือ
1.ข้อมูล สถานการณ์ล่าสุด ค่าใช้จ่ายการเดินเรือที่สูงขึ้น ราคาค่าระวางเรือ ค่าเซอร์ชาร์จ(Surcharge ) โดยขอให้ส่งมาเป็นแบบแรียลไทม์
2.ขอความอนุเคราะห์สายเดินเรือ หากจะมีการขึ้นราคาค่าระวางเรือให้เป็นธรรมและมีความเหมาะสม โดยขอให้ขึ้นเป็นแบบขั้นบันได ซึ่งกรณีนี้นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้กรมการค้าภายในเชิญสายเดินเรือมาประชุมอีกครั้งในต้นเดือนม.ค.ปีหน้า
3.ขอความอนุเคราะห์ท่าเรือ เช่น ท่าเรือดูไบ ให้ขยายเวลา Free time ในการขนส่งสินค้าที่ท่าเรือจากระยะเวลาที่ขนส่งที่เพิ่มขึ้น จากเดิม 7-14 วัน เป็น 14-21 วัน โดยระยะเวลาสูงสุดคือ 21 วัน
ทั้งนี้ข้อมูลที่หารือในวันนี้จะดำเนินการสรุปให้เป็นข้อมูลเดียวกันทั้งหมดเพื่อทางกระทรวงพาณิชย์ ทางภาคเอกชน ทั้งสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าไทย เพื่อแจ้งข้อมูลที่ถูกต้องให้กับผู้ประกอบการ ผู้นำเข้าและผู้ส่งออก
นางอารดา กล่าวว่า สำหรับอัตราค่าระวางเรือในขณะนี้ยังไม่รายงานเพิ่มเติม เนื่องจากอยู่ในช่วงของเทศกาลคริสมาตร์และปีใหม่ ซึ่งเป็นช่วงวันหยุดยาว แต่เรือขนส่งสินค้าที่ออกไปแล้วอยู่ในระหว่างการเจรจราอัตราค่าระวางเรือซึ่งจะเป็นรายๆไป ส่วนเรือสินค้าที่จะออกไปใหม่นั้นยังไม่มี
“ที่ประชุมก็ประเมินสถานการณ์ โดยหวังว่า จะไม่ยืดเยื้อ และยุติโดยเร็ว ไม่เกิน 1 เดือน ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก เนื่องจากประเทศมหาอำนาจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ก็ไม่น่าจะยอมให้สถานการณ์ยืดเยื้อต่ไปเรื่อยๆ เนื่องจากทะเลแดงถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของการขนส่งสินค้าของโลก”นางอารดา กล่าว
สำหรับสายเดินเรือสำคัญในการการขนส่งไปยังยุโรปที่ต้องผ่านทะเลแดง มี 5 สายเดินเรือหลักประกอบด้วย Maersk MSC Evergreen CMa CGMและHapag-Lloyd
สำหรับบริษัทขนส่งทางทะเล 13 บริษัทที่ประกาศเลี่ยงเส้นทางทะเลแดง หันไปใช้เส้นทางอ้อมแหลมกู๊ดโฮปทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกาแทน ได้แก่ ZIM / Maersk / MSC / OOCL / CMA CGM /Hapag-Lloyd /Yang Ming / HMM / ONE / EURONAV / WILHELMSEN /Evergreen / Wan Hai เพื่อลดความเสี่ยงในการโจมตีของกลุ่มกบฏฮูตีผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ทำให้ต้องเดินทางไกลขึ้น และค่าเบี้ยประกันสูงขึ้น บางบริษัทอาจขึ้นราคาสินค้าเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น และผู้ที่ต้องรับเคราะห์ก็คือผู้บริโภค