DSI จี้สอบประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม แจ้ง 'คมนาคม - รฟม.' ชี้เสี่ยงผิดกฎหมาย

DSI จี้สอบประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม แจ้ง 'คมนาคม - รฟม.' ชี้เสี่ยงผิดกฎหมาย

“ดีเอสไอ” ส่งหนังสือจี้คมนาคม-รฟม.เร่งตรวจสอบ ปมกระบวนการพิจารณาคัดเลือกเอกชนร่วมประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ชี้คณะกรรมการ ม.36 เลี่ยงตรวจคุณสมบัติผู้ประมูล ระบุหากเพิกเฉยส่อเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ฮั้วประมูล

การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ซึ่งครอบคลุมงานโยธาช่วงตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม) รวมถึงงานเดินรถไฟฟ้าตลอดสาย บางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยการประมูลครั้งที่ 1 เมื่อปี 2563 มีการแก้ไขหลักเกณฑ์การประมูลและนำมาสู่การฟ้องศาลปกครอง และท้ายที่สุดการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ยกเลิกการประมูล 

จนกระทั่ง รฟม.เปิดประมูลครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 27 ก.ค.2565 และมีการยื่นฟ้องศาลปกครองในคดีกำหนดหลักเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งที่ 2 ชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลปกครองกลางยกฟ้อง รวมทั้งมีการร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ตรวจสอบการประมูล เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)

สำหรับการประมูลครั้งที่ 2 มีผู้ซื้อซองประมูล 14 ราย และมีผู้ยื่นซอง 2 กลุ่ม คือ

1.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ร่วมกับบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ -78,287.95 ล้านบาท 

2.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ร่วมกับบริษัทขนส่งอินช็อน (Incheon Transit Corporation) ผู้ให้บริการรถไฟใต้ดินประเทศเกาหลีใต้ เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ -102,635.66 ล้านบาท

รฟม.ได้ประกาศให้ BEM ชนะการประมูลเมื่อวันที่ 8 ก.ย.2565 รวมทั้งมีการเสนอผลการประมูลต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2566 และกระทรวงคมนาคมขอถอนวาระหลังจากมีการอภิปราย 1 ชั่วโมง และมีรัฐมนตรีกังวลข้อกฎหมาย

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งที่ 2 วงเงินลงทุน 1.4 แสนล้านบาท ยังอยู่ในขั้นตอนรอการพิจารณาจากศาลปกครองสูงสุด เกี่ยวกับข้อพิพาทที่เอกชนยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และ รฟม.ปรับหลักเกณฑ์การประกวดราคา

“ดีเอสไอ”ส่งหนังสือแจ้งให้สอบประมูล

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้รับหนังสือจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2566 ให้ดำเนินการตรวจสอบกระบวนการพิจารณาคัดเลือกเอกชนร่วมประมูลในการประกวดราคาครั้งที่ 2 อาจเข้าข่ายไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งรายละเอียดในหนังสือฉบับดังกล่าวระบุถึงการตรวจสอบพบว่าคณะกรรมการคัดเลือก ม.36 และผู้ว่า รฟม.ไม่ได้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ยื่นประกวดราคา

อย่างไรก็ดี ตามกฎหมายยังระบุด้วยว่ากระทรวงคมนาคม และผู้กำกับดูแลหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและพิจารณาขั้นตอนประกวดราคา การดำเนินงานต่างๆ เกี่ยวกับโครงการประกวดรารา จัดซื้อจัดจ้างให้รอบคอบ โดยหากไม่มีการตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดอาจเข้าข่ายการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ที่กำหนดไว้ว่าผู้อนุมัติให้เกิดการกระทำผิด จะต้องรับโทษตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว

DSI จี้สอบประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม แจ้ง \'คมนาคม - รฟม.\' ชี้เสี่ยงผิดกฎหมาย

รายงานข่าว ยังระบุด้วยว่า จากข้อมูลที่มีการรายงานมายังกระทรวงคมนาคม เผยถึงการดำเนินงานของคณะกรรมการ ม.36 และผู้ว่า รฟม.ที่ออกมายอมรับว่าไม่ได้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ยื่นประมูล แต่จะตรวจสอบต่อเมื่อผู้ยื่นข้อเสนอชนะการประมูลแล้ว ซึ่งถือเป็นการกระทำผิด เพิกเฉยต่อหน้าที่ และขัดต่อ พ.ร.บ.ร่วมทุนที่กำหนดให้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ยื่นประมูล ส่งผลให้มีบริษัทผู้ยื่นประมูลมีกรรมการเคยต้องโทษจำคุก ซึ่งขัดต่อคุณสมบัติเอกชนร่วมลงทุน

ไม่ตรวจสอบงบดุลผู้ยื่นประมูล

นอกจากนี้ยังมีกรณีบริษัทต่างชาติรายหนึ่งที่รวมกลุ่มยื่นประมูลในครั้งนี้ ตรวจสอบพบว่าการร่วมทุนเป็นเพียงการลงนามในจดหมายแสดงเจตจำนงว่าจะเข้าร่วมทุนเท่านั้น แต่ยังไม่ได้มีการลงนามจัดตั้งเป็นบริษัทร่วมทุน อีกทั้งบริษัทต่างชาติรายดังกล่าวไม่ได้ส่งงบดุล ซึ่งเป็นเอกสารทางการเงินให้ตรวจสอบคุณสมบัติข้างต้นของการเข้าร่วมประกวดราคา จึงนับเป็นการกระทำที่ผิดต่อเงื่อนไขข้อกำหนดในเอกสารประกวดราคา (RFP) แต่บริษัทร่วมทุนรายดังกล่าว กลับผ่านการพิจารณาซองคุณสมบัติ

“กระบวนการพิจารณาเอกชนร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มในครั้งนี้ เห็นว่ามีหลายประเด็นที่อาจเข้าข่ายไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อข้อกำหนดในเอกสาร RFP และ พ.ร.บ.ร่วมทุน ซึ่งทาง DSI จึงทำหนังสือมายังกระทรวงคมนาคมเพื่อให้ตรวจสอบเรื่องเหล่านี้ เพราะเกรงว่าหากนิ่งเฉยในฐานะผู้กำกับดูแลจะเข้าข่ายรู้เห็นไม่คัดค้าน และมีความผิดได้”

ทั้งนี้ หากกรณีการละเลยต่อหน้าที่และการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ร่วมประมูลที่ผิดพลาด หรือหากยืนยันได้ว่าไม่มีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ร่วมประมูลนั้น จะถือได้ว่ากระบวนการคัดเลือกเอกชนครั้งนี้อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ทราบว่าปัจจุบันยังไม่มีการร้องเรียนประเด็นนี้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลปกครอง เป็นเพียงการทำหนังสือเพื่อให้กระทรวงฯ เร่งตรวจสอบและรายงานไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ขณะที่ข้อพิพาทระหว่างเอกชนและ รฟม.เกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ก่อนหน้านี้มี 4 คดี ประกอบด้วย 

1.คดีศาลปกครอง BTSC ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม กรณีออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พ.ค.2565 (ครั้งที่ 2) และออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิม ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือน ก.ค. 2563 โดยคดีนี้ศาลพิพากษายกฟ้อง

2.คดีศาลปกครอง BTSC ฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้ม ครั้งที่ 1 กรณีมีมติเมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564 เห็นชอบยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 3 ก.ค.2563 และยกเลิกการคัดเลือกเอกชน โดยคดีนี้ศาลพิพากษายกฟ้อง

3.คดีศาลปกครอง BTSC ฟ้องการคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งใหม่ไม่ชอบ เพราะ RFP กีดกัน BTSC ในการเข้าร่วมประกวดราคา โดยมีข้อกำหนดส่อเอื้อประโยชน์เอกชนรายอื่น โดยปัจจุบันคดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง

4.คดีศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง BTSC ฟ้องการแก้ไขเอกสารการคัดเลือกเอกชนเข้าเป็นผู้ร่วมลงทุน (RFP) และยกเลิกการคัดเลือกฯ โดยทุจริต (หมายเลขแดงที่ อท.133/2565) ปัจจุบันศาลชั้นต้นตัดสินว่าชอบด้วยกฎหมาย และ BTSC อยู่ระหว่างยื่นอุทธรณ์ตามกระบวนการศาลสูงสุด