กพท.แจงเหตุตั๋วโดยสารแพง เผย 'คมนาคม' อนุมัติแอร์ไลน์ใหม่เพิ่มซัพพลาย
กพท. แจงเหตุค่าตั๋วโดยสารแพงช่วงเทศกาลปีใหม่ ชี้ยังอยู่ในเพดานกำหนด ขณะที่ “คมนาคม” อนุมัติเพิ่ม 8 สายการบินปี 2567 หวังนำเข้าเครื่องบินเพิ่มอีก 60 ลำ แก้ปัญหาเที่ยวบินไม่พอ
รายงานข่าวจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยถึงกรณีค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินช่วงเทศกาลราคาแพง โดยระบุว่า กพท.พิจารณาพบว่าสาเหตุที่ทำให้ราคาตั๋วโดยสารมีราคาแพงกว่าปกตินั้น มีประเด็นเกี่ยวเนื่อง 5 ข้อ ประกอบด้วย
1.ราคาตั๋วโดยสารเครื่องบินในช่วงเทศกาลมีการปรับตัวสูงขึ้นจริง
จากเดิมในเส้นทางหลักซึ่งมีตั๋วราคาต่ำกว่า 2,500 บาทเฉลี่ย 82.5% ต่อเที่ยวบิน ลดลงเหลือ 62% ต่อเที่ยวบิน ขณะที่ราคาตั๋วแพงที่มีราคาสูงกว่า 5,000 บาทขึ้นไป ก่อนหน้านี้มีสัดส่วนเฉลี่ยไม่เกิน 10% ต่อเที่ยวบิน ปรับเพิ่มเป็นประมาณ 34%
อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาราคาค่าโดยสาร กพท. จึงได้ดำเนินการติดตามและตรวจสอบค่าโดยสารช่วงเทศกาลปีใหม่อย่างใกล้ชิด ยังไม่พบว่ามีการจำหน่ายตั๋วโดยสารเกินกว่าราคาควบคุมที่กำหนด แม้ว่าตั๋วเครื่องบินมีการปรับราคาสูงกว่าการเดินทางช่วงเวลาปกติจริง
ทั้งนี้ หากผู้โดยสารตรวจสอบแล้วพบว่าสายการบินจำหน่ายตั๋วโดยสารเกินกว่าเพดานราคาที่กำหนดสามารถรวบรวมหลักฐานการดำเนินการที่ผิดปกติของสายการบินส่งให้ กพท. ตรวจสอบเพื่อดำเนินการตามกฎหมายที่มีการกำหนดโทษทั้งจำและปรับสายการบินที่กระทำความผิดต่อไป
2.หลักการกำหนดราคาตั๋วของสายการบิน (ทั่วโลก)
ไม่มีตั๋วราคาเดียวในเที่ยวบินเดียวกัน โดยผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วล่วงหน้านานกว่าจะได้อัตราค่าโดยสารที่ถูกกว่า ส่วนผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วคนท้ายๆ ของเที่ยวบินนั้นจะได้ราคาสูงสุด โดย “ยิ่งซื้อเร็วยิ่งถูก ยิ่งซื้อช้ายิ่งแพงขึ้น” ก็เพื่อให้สายการบินมั่นใจว่าจะมีจำนวนการขายตั๋วโดยสารเข้าเป้าที่คุ้มทุนสามารถปฏิบัติการบินได้ สายการบินจึงใช้โอกาสและความจำเป็นที่ต้องมีเวลาในการเตรียมตัวนานหลายเดือน ใช้ในการทำการตลาดและดำเนินกลยุทธ์ด้านราคา
3.สาเหตุของตั๋วแพงในประเทศไทยและทั่วโลก
เกิดจากการหายไปของอุปทาน (Supply) ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 สายการบินต่าง ๆ ได้ปรับลดจำนวนบุคลากร อากาศยาน รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานและระบบการจัดการต่างๆ ที่จำเป็น เพื่อประคับประคองความอยู่รอด จึงเกิดสถานการณ์ที่ปริมาณความต้องการการเดินทางทางอากาศ (Demand) สูงกว่าความสามารถในการรองรับ (Supply) ไปทั่วโลกส่งผลให้อัตราค่าโดยสารเฉลี่ยทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 17%
รวมทั้งต้นทุนในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนเชื้อเพลิงน้ำมันมีสัดส่วนสูงสุดถึงร้อยละ 30 ของต้นทุนทั้งหมด โดยเฉพาะหลังจากอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงที่เคยปรับลดเหลือ 0.2 บาทต่อลิตร กลับมาเป็นอัตราเดิมที่สูงถึง 4.726 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2566
4.“ตั๋วแพงเกินไปไหม ทำไมไม่ขายราคาเดียวกัน”
ประเทศไทยใช้ระบบการควบคุมเพดานราคาค่าโดยสารเครื่องบิน ซึ่งคิดจากโครงสร้างต้นทุนจริง และมีการตรวจสอบควบคุมทุกเที่ยวบิน แม้ว่าจะเป็นตั๋วใบสุดท้ายของเที่ยวบินนั้นๆ ซึ่งตามหลักการแล้วราคาจะกำหนดไว้สูงสุดก็ตาม แต่ก็จะไม่สูงกว่าราคาเพดานที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นระบบเศรษฐกิจเสรีที่ใช้กลไกตลาดเป็นกลไกควบคุม
5.กระทรวงคมนาคมอนุมัติเพิ่ม 8 สายการบิน อัดฉีดเครื่องบินเข้าระบบอีก 60 ลำ ปี 2567
ตามที่ธุรกิจสายการบินของประเทศไทยมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับปริมาณความต้องการที่มีอัตราเพิ่มขึ้นมากกว่า ดังนั้น กพท. ในฐานะหน่วยงานกำกับ ดูแล และส่งเสริมการดำเนินงานของกิจการการบินพลเรือนให้เป็นไปตามกฎระเบียบและมาตรฐานสากล จึงได้เร่งกระบวนการอนุมัติ/อนุญาตให้สายการบินสามารถจัดหาเครื่องบินเพิ่มเติมให้รวดเร็วขึ้น และผ่อนปรนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สายการบินสามารถจัดหาเครื่องบินมาใช้เพิ่มเติม ให้ทันต่อความต้องการเดินทางของผู้โดยสาร
ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้มีผู้ประกอบการสายการบินผ่านขั้นตอนได้รับใบอนุญาตเดินอากาศ (AOL: Air Operator License) จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพิ่มขึ้นแล้วถึง 8 ราย และผู้ประกอบการสายการบินขอนำเครื่องบินเข้าฝูงบินอีก 60 ลำ ตลอดปี 2567 รวมทั้ง กพท. อยู่ระหว่างศึกษาเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสีย เพื่อทบทวนว่าหลักเกณฑ์และกฎระเบียบที่ใช้ในปัจจุบัน สมควรได้รับการแก้ไขอย่างไรหรือไม่ โดยการดำเนินงานเหล่านี้คาดว่าจะทำให้แนวโน้มราคาค่าโดยสารเครื่องบินค่อยๆ ปรับตัวลดลงในปี 2567