งบฯผูกพัน ‘เศรษฐา1’ ประเดิมขึ้นเงินเดือนขรก.ใหม่ 10% งบเพิ่ม 8.8 พันล้าน/ปี
ส่องงบฯผูกพันรัฐบาลเศรษฐา 1 ก้อนแรกขึ้นเงินเดือนข้าราชการจบใหม่ปีละ 10% ต่อปี หรือใช้งบฯเพิ่มปีละ 8.8 พันล้านบาท เริ่มปีงบฯ2568
"รัฐบาลเศรษฐา 1" ภายใต้การนำของนายเศรษฐ ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้มีแนวคิดเรื่องการปรับเงินเดือนข้าราชการ โดยมอบหมายให้ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ เป็นประธานการศึกษาร่วมกับสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.ร.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงบประมาณศึกษาร่วมกัน
ทั้งนี้ผลการศึกษาที่นำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 พ.ย. ได้รับการเห็นชอบการขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ตามข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการพลเรือน (ก.พ.) โดยปรับขึ้นในส่วนของข้าราชการบรรจุใหม่ปีละ 10% ใน 2 ปีงบประมาณ ได้แก่ ปีงบประมาณ 2567 และ ปีงบประมาณ 2568 ซึ่งจะทำให้เงินเดือนของข้าราชการบรรจุใหม่อยู่ 18,000 บาทต่อเดือน ในปีงบประมาณ 2568 จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 15,000 บาทต่อเดือน โดยการเริ่มปรับฐานเงินเดือนข้าราชการจบใหม่ 10% จะเริ่มต้นในเดือน พ.ค.2567 หลังจากที่พ.ร.บ.งบประมาณ ประกาศใช้แล้ว
การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการครั้งนี้ จะใช้งบประมาณในปีที่ 1 ปีงบประมาณ 2567 วงเงินประมาณ 7,200 ล้านบาท ส่วนปีที่ 2 ปีงบประมาณ 2568 วงเงิน 8,800 ล้านบาท จากนั้นเงินเดือนข้าราชการที่ปรับขึ้นในส่วนนี้จะอยู่ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีของแต่ละหน่วยงานราชการ แต่การดำเนินการในปีแรกงบประมาณปี 2567 ยังไม่สามารถใช้ได้
ดังนั้นวงเงินที่ใช้จริงจึงใช้แค่ 5 เดือนเท่านั้น ส่วนงบประมาณช่วยเงินค่าครองชีพชั่วคราว ตั้งงบประมาณไว้ปีละไม่เกิน 3,000 ล้านบาท
สำหรับข้าราชการชั้นผู้น้อยที่รับราชการก่อนและยังไม่ถึงระดับชำนาญการ (C8) และยังมีเงินเดือนไม่ถึง 18,000 บาทต่อเดือน จะปรับฐานเงินเดือนให้สูงกว่าข้าราชการบรรจุใหม่ โดยช่วงที่ยังไม่ได้ปรับฐานเงินเดือนให้ข้าราชการที่เข้ามารับราชการก่อนและเงินเดือนยังไม่ถึง 18,000 บาท จะปรับขึ้นค่าครองชีพก่อน สำหรับข้าราชการที่เป็นระดับชำนาญการขึ้นไปหรือระดับ C9 ขึ้นไปจะไม่ได้ปรับขึ้นเงินเดือน
ทั้งนี้การปรับฐานเงินเดือนใหม่และรายได้ต่างๆ โดยข้าราชการบรรจุใหม่ทั้งระดับ ปวช. ,ปวส. ,ปริญญาตรี ,ปริญญาโท และปริญญาเอก โดยให้หน่วยงานต่างๆ ไปดำเนินการตามที่ครม.อนุมติและเริ่มดำเนินการได้เลย เริ่มตั้งแต่ 1 พ.ค.2567
รวมทั้งตามผการศึกษาของสำนักงาน ก.พ.ที่เสนอให้ปรับขึ้น แบ่งเป็นกลุ่ม ดังนี้
1.การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่บรรจุใหม่ปรับเพิ่มให้ 2 กลุ่ม โดยให้ภายใน 2 ปี ปรับเพิ่มปีละ 10% ในปี 2567 และ 2568 โดยเงินเดือนจะปรับขึ้นขั้นในฐานเงินเดือนต่างๆดังนี้
ปวช. เงินเดือนปรับเพิ่มเป็น 11,380-12,520 บาทต่อเดือน ปวส. เงินเดือนปรับเพิ่มเป็น 13,920-15,320 บาทต่อเดือนผู้จบปริญญาตรี ปรับเพิ่มเป็น 18,150-19,970 บาทต่อเดือน ผู้จบปริญญาโทปรับเพิ่มเป็น 21,180-23,300 บาทต่อเดือน ผู้จบปริญญาเอกปรับเพิ่มเป็น 25,410-27,960 บาทต่อเดือน
2.การชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบประกอบด้วยข้าราชการเดิมที่มีฐานเงินเดือนต่ำกว่าฐานของข้าราชการบรรจุใหม่ จะให้ปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยย้อนหลังให้ได้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ส่วนเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวมีการปรับฐานเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวจากเพดานเดิมเพื่อไม่ให้เกิดการลักลั่นกับข้าราชการที่ทำงานมานานกว่า
รวมทั้งข้าราชการที่มีเงินเดือนต่ำกว่าเดือนละ 13,285 บาท เดิมได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวอีก 2,000 บาท แต่ไม่เกินเดือนละ 13,285 บาท โดยจะปรับเพดานใหม่เป็นข้าราชการที่มีเงินเดือนต่ำกว่าเดือนละ 14,600 บาท จะได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวอีก 2,000 บาท แต่ไม่เกินเดือนละ 14,600 บาท
ขณะที่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีเงินเดือนต่ำกว่าเดือนละ 10,000 บาท เดิมได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว แต่ไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท โดยปรับเพดานใหม่เป็น 11,000 บาท หากใครที่ได้รับเงินไม่ถึงจะได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว แต่ไม่เกินเดือนละ 11,000 บาท
นายแพทย์ พรหมมินทร์ เลิศสุริยเดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การขึ้นเงินเดือนข้าราชการของรัฐบาลนั้นยังเป็นไปตามนโยบายที่ต้องการให้ปรับเงินเดือนค่าราชการทั้งระบบ แต่ขั้นแรกจะปรับขึ้นตามที่ ก.พ.เสนอ และต่อไปจะขึ้นเงินเดือนระดับปริญญาตรีให้ถึงตามที่มีการหาเสียงไว้ที่ ไม่ต่ำกว่า 25,000 บาทต่อเดือน แต่จะเป็นการปรับแบบค่อยเป็นค่อยไปในระยะเวลาอีก 2 ปีหลังของรัฐบาล