5 ข่าวเด่น 'คมนาคม’ ปิดปี 2566 อุบัติเหตุงานก่อสร้างซ้ำซาก
ส่งท้ายปี 2566 ประมวล 5 ข่าวเด่น "คมนาคม" ถอดบทเรียนความปลอดภัยของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ หลังพบอุบัติเหตุเกี่ยวกับงานก่อสร้าง และการให้บริการ
ปี 2566 นับเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านการบริหารของรัฐบาล โดยในส่วนของกระทรวงคมนาคม ช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ทำให้ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ผลักดันโครงการภาครัฐเพื่อเปิดประกวดราคาจำนวนไม่มาก และผิดไปจากเป้าหมายจนกลายเป็นโครงการค้างท่อที่ส่งต่อจากรัฐบาล “ประยุทธ์” สู่รัฐบาลปัจจุบัน
โดยหากประมวลภาพเหตุการณ์สำคัญ 5 ข่าวเด่นที่เกิดขึ้นในปี 2566 พบว่ามีทั้งภาพความประทับใจ และความผิดพลาดที่ควรถอดบทเรียนเพื่อเร่งปรับปรุง
1.อุบัติเหตุงานก่อสร้างบนถนนพระราม 2
งานก่อสร้างบนถนนพระราม 2 นับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ประชาชนขนานนามว่า “ถนน 7 ชั่วโคตร” ก่อสร้างไม่สิ้นสุด และเกิดอุบัติเหตุจากงานก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตลอดทั้งปี 2566 พบว่ามีอุบัติเหตุบนถนนสายนี้ อาทิ
7 มี.ค. 2566 เกิดเหตุเครนล้มขวางถนนพระราม 2 ฝั่งขาออกจากกรุงเทพฯ ช่วงตำบลนาดี อำเภอเมืองสมุทรสาคร ในโครงการ M82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ตอน 3 ของกรมทางหลวง (ทล.)
8 พ.ค.2566 เกิดเหตุคานคอนกรีตสำเร็จรูป (Segment) หล่นในขณะติดตั้ง บนถนนพระราม 2 ทำให้มีผู้เสียชีวิต โดยเป็นการก่อสร้างโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร สัญญาที่ 2 ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)
15 ธ.ค.2566 เกิดเหตุเหล็กหล่นทับคนงานก่อสร้าง มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บ 1 ราย บนถนนพระราม 2 ทางหลวงหมายเลข 35 ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างโครงการการทางพิเศษ สายพระราม 3-ดาวคะนอง- วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร สัญญา 1 ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)
2.ทางเลื่อนท่าอากาศยานดอนเมืองดูดขาผู้โดยสาร
อุบัติเหตุเท้าผู้โดยสารติดทางเลื่อน บริเวณทางเดิน South Corridor ระหว่าง Pier 4 - Pier 5 ของอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ อาคาร 2 ท่าอากาศยานดอนเมือง ขณะกำลังจะเดินทางด้วยเที่ยวบิน DD552 ดอนเมือง - นครศรีธรรมราช จนผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บสาหัส
ท่าอากาศยานดอนเมืองออกมายอมรับว่าอุปกรณ์ทางเลื่อนดังกล่าวถูกติดตั้งและใช้งานมาตั้งแต่ปี 2539 และมีระยะเวลาใช้งานมากว่า 27 ปี นับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ทำให้กระทบต่อความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของท่าอากาศยาน
3.เปิดให้บริการรถไฟฟ้าโมโนเรล 2 สายแรกในไทย
ปี 2566 นับเป็นอีกหนึ่งปีที่โครงข่ายคมนาคมสามารถเปิดให้บริการประชาชนได้เพิ่มมากขึ้น โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เปิดให้บริการรถไฟรางเดี่ยว (โมโนเรล) สายแรกในไทย คือ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง เปิดทดลองให้บริการวันแรกเมื่อ 3 มิ.ย.2566 และปัจจุบันเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์แล้ว ซึ่งสามารถแก้ปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนลาดพร้าวได้เป็นอย่างดี
หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา ยังเปิดทดลองให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี เพิ่มโครงข่ายระบบรางอีก 34.5 กิโลเมตร แก้ปัญหาการจราจรติดขัดจากแยกแคราย เชื่อมต่อมายังถนนแจ้งวัฒนะ และเข้าสู่ถนนรามอินทราที่การจราจรติดขัดตลอดทั้งวัน โดยปัจจุบันรถไฟฟ้าสายนี้ยังคงเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการฟรี และมีกำหนดจะเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารในต้นปี 2567
4.“รถไฟฟ้าสายสีชมพู” รางจ่ายไฟฟ้าหลุด
หลังเปิดทดลองให้ประชาชนใช้บริการฟรีเป็นระยะเวลาเกือบ 1 เดือน ล่าสุดเช้าวันที่ 24 ธ.ค.ที่ผ่านมา เกิดข่าวใหญ่ รางจ่ายไฟฟ้า (Conductor Rail) หลุดร่วงจากทางวิ่งลงชั้นพื้นถนน สร้างความเสียหายต่อรถยนต์ของประชาชนที่จอดอยู่ด้านล่าง และนับเป็นเหตุการณ์ที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่จะใช้บริการรถไฟฟ้าสายนี้
ประกอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นทำให้รถไฟฟ้าสายสีชมพูต้องปิดให้บริการ 7 สถานี ตั้งแต่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ไปจนถึงสถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด (PK07) จนกว่าจะติดตั้งระบบรางจ่ายไฟให้แล้วเสร็จ
5.จุดพลุเริ่มนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท
ปิดท้ายข่าวสุดฮ็อตที่ได้รับความสนใจอย่างมาก คือ การผลักดันนโยบายแรกของรัฐบาล “เศรษฐา1” ภายใต้แกนนำพรรคเพื่อไทย ที่เคยประกาศเมื่อครั้งตอนหาเสียงว่าจะลดค่าครองชีพประชาชนด้วยราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยวันที่ 16 ต.ค.2566 กระทรวงคมนาคมปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้านำร่อง 2 โครงการ คือ
- โครงการรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ ระยะทาง 23 กิโลเมตร (กม.) จำนวน 16 สถานี
- โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต (สายธานีรัถยา) ระยะทาง 26 กม. จำนวน 10 สถานี และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน (สายนครวิถี) ระยะทาง 15 กม. จำนวน 4 สถานี
ซึ่งถือเป็นนโยบาย Quick Win นโยบายแรกของรัฐบาลที่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมตั้งเป้าหมายผลักดันนโยบายนี้ให้เกิดขึ้นต่อเนื่องจนครอบคลุมรถไฟฟ้าทุกสายภายใน 2 ปีนับจากนี้
ดังนั้นคงต้องจับตาดูว่าในปี 2567 จะสามารถผลักดันรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายเกิดขึ้นเพิ่มเติมได้หรือไม่