สภาอุตฯ จี้ รมว.พลังงาน ปรับราคาหน้าโรงกลั่น หลังใช้มาตรฐานน้ำมัน 'ยูโร 5'
ส.อ.ท. จี้ “รมว.พลังงาน” ขอปรับขึ้นราคาน้ำมัน หลังกลุ่มโรงกลั่นทุามงบลงทุนกว่า 5 หมื่นล้าน ปรับปรุงมาตรฐานน้ำมัน ยูโร 5 ลด PM2.5 หนุนวาระแห่งชาติแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง “พลังงาน” เบรกข้อเสนอโรงกลั่น ชี้รัฐบาลดันนโยบายลดค่าพลังงาน หวั่นเพิ่มภาระกองทุนน้ำมัน
ประเทศไทยเตรียมปรับมาตรฐานน้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ และดีเซลหมุนเร็วจากระดับยูโร 4 ให้เป็นยูโร 5 โดยปรับลดกำมะถันจากไม่สูงกว่า 50 เป็นไม่สูงกว่า 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยให้มีผลในวันที่ 1 ม.ค.2567 ตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง”
ช่วงที่ผ่านมาภาครัฐได้ให้ผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันปรับปรุงกระบวนการผลิตน้ำมันสำเร็จรูปเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานดังกล่าว
รายงานข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท.ทำหนังสือลงวันที่ 28 ธ.ค.2566 ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อขอความกรุณาปรับราคาหน้าโรงกลั่นจากการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงตามมาตรฐานน้ำมันยูโร 5
ทั้งนี้ จากการที่ภาครัฐมุ่งมั่น แก้ไข และลดผลกระทบของปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 นับตั้งแต่กำหนดเป็นวาระแห่งชาติที่ได้รับความร่วมมือของทุกภาคส่วน และวางแผนมาอย่างต่อเนื่อง เน้นการนำไปสู่ระดับปฏิบัติและลดผลกระทบสุขภาพจากมลภาวะทางอากาศ ทำให้เกิดสถานการณ์ดีขึ้นโดยลำดับ
รวมทั้งคณะรัฐมนตรีมี (ครม.) เห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ "การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)" เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2562 และได้กำหนดยกระดับมาตรฐานคุณภาพน้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ และดีเซลหมุนเร็วจากระดับยูโร 4 ให้เป็นยูโร 5 โดยปรับลดกำมะถันจากไม่สูงกว่า 50 เป็นไม่สูงกว่า 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยให้มีผลในวันที่ 1 ม.ค. 2567
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ส.อ.ท.ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดการบังดับใช้มาตรฐานน้ำมันยูโร 5 โดยลงทุนปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิต ซึ่งใช้เงินลงทุนรวม 50,000 ล้านบาท และเร่งดำเนินการให้เสร็จภายใน 4 ปีนับตั้งแต่วันที่ประกาศ
ทั้งนี้ เพื่อให้ทันการณ์กับนโยบายภาครัฐที่กำหนดไว้ ท่ามกลางความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะความผันผวนของราคาน้ำมันและการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ขณะนี้กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ส.อ.ท.ได้ดำเนินการจนพร้อมจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูปชนิดมาตรฐานยูโร 5 ในวันที่ 1 ม.ค. 2567 ตามเป้าหมาย ซึ่งถือว่าเป็นผลงานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งของรัฐบาล โดยมีต้นทุนและต่ำใช้จ่ายในการผลิตที่สูงกว่าการผลิตมาตรฐานน้ำมันยูโร 4 ในปัจจุบัน ประกอบด้วย
1. การลงทุนและการปรับปรุงระบบการกลั่น
2. การปรับชนิดของน้ำมันดิบเป็นชนิดกำมะถันต่ำเพื่อเข้าสู่กระบวนการกลั่น
ดังนั้น กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ส.อ.ท. จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่น ตามเงื่อนไขและกลไกตลาด และขอความอนุเคราะห์ให้พิจารณาปรับราคาน้ำมันที่สะท้อนตามมาตรฐานและคุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับตลาดน้ำมันในภูมิภาคที่เชื่อมโยงกับตลาดโลกต่อไป
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานระบุว่า ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายตรึงราคาพลังงานเพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน โดยมีการตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ลิตรละ 30 บาท ผ่านแนวทางการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลและกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 31 ธ.ค.2566
ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2566 เห็นชอบให้ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าช่วยอุดหนุนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศให้อยู่ที่ 30 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค.2567
นอกจากนี้ รัฐบาลได้ลดภาษีสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันประเภทน้ำมันเบนซินลง 0.15 - 1 บาทต่อลิตร ตามสัดส่วนเนื้อน้ำมันเบนซินที่ผสม ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย.2566-31 ม.ค.2567
"ทิศทางนโยบายการตรึงราคาน้ำมันที่กำลังดำเนินการ ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานชะลอการปรับเกณฑ์การคำนวณราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นตามมาตรฐานยูโร 5 เพราะอาจทำให้กองทุนน้ำมันฯ ใช้เงินดูแลราคาขายปลีกเพิ่มมากขึ้น” แหล่งข่าว กล่าว
สำหรับต้นทุนราคาน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 อยู่ระหว่างที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) หารือกับผู้ประกอบการกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน โดยจากข้อมูลก่อนหน้านี้กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ส.อ.ท.รายงานว่า ค่าปรับปรุงคุณภาพน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 มีวงเงินลงทุนรวมราว 50,000 ล้านบาท