รัฐบาล ‘เศรษฐา’ ใช้เงินแก้ปัญหาอุ้ม 'ค่าไฟฟ้า น้ำมัน ก๊าซ' เฉียดแสนล้าน
ภายหลังรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 3 เดือน ขับเคลื่อนนโยบายระยะสั้นลดค่าครองชีพประชาชน โดยเฉพาะค่าพลังงาน ในช่วงที่ผ่านมา ประกาศนโยบายดูแลพลังงานเป็นวงเงินถึง 8.8 หมื่นล้านบาท
สำหรับการดูแลราคาพลังงานเป็นนโยบายกลุ่มแรกที่รัฐบาลขับเคลื่อน โดยปรับแนวทางจากการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มในรัฐบาลชุดที่แล้ว เช่น การช่วยเหลือค่าไฟฟ้าและเบนซินให้กลุ่มเปราะบาง
ในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.2566 รัฐบาลใช้งบประมาณในการอุดหนุนราคาพลังงานรวมกว่า 88,900 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.ลดค่าไฟฟ้า รวม 2 งวด ใช้วงเงิน 55,600 ล้านบาท ดังนี้
ค่าไฟฟ้ารอบเดือน ก.ย.-ธ.ค.2566 ใช้วงเงิน 27,600 ล้านบาท ผ่านกลไกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) แทนผู้ใช้ไฟฟ้า เพื่อให้ค่าไฟฟ้าสุทธิเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย
การดำเนินการดังกล่าวเริ่มต้นจากมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) วันที่ 26 ก.ค.2566 เรียกเก็บค่าไฟฟ้า 4.45 บาทต่อหน่วย โดยจะทยอยชำระเงินที่ กฟผ.กู้มาเพื่อตรึงค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือน ก.ย.2564-เม.ย.2566 แบ่งเป็น 5 งวดๆ ละ 23,428 ล้านบาท จะทำให้สิ้นเดือน ธ.ค.2666 มีภาระหนี้คงเหลือที่ต้องชำระคืนให้ กฟผ.รวม 111,869 ล้านบาท
ดังนั้น การลดค่าไฟฟ้าเพิ่มทำให้รัฐบาลมีนโยบายให้ กฟผ.แบกรับภาระค่าไฟเพิ่มอีก 46 สตางค์ รวมเป็นเงินภาระที่ กฟผ.ต้องแบกรับเพิ่มเติมอีก 27,600 ล้านบาท (การลดค่าไฟฟ้า 1 สตางค์ เท่ากับการใช้เงินอุดหนุน 600 ล้านบาท)
ค่าไฟฟ้ารอบเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 จะใช้วงเงิน 28,000 ล้านบาท ผ่านการให้ กฟผ.รับภาระค่าเอฟทีเพิ่มขึ้น รวมถึงให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ลดค่าก๊าซสำหรับผลิตไฟฟ้า และงบกลางสำหรับช่วยผู้มีรายได้น้อย
ทั้งนี้ เพื่อดำเนินการตามมติ ครม.ให้ค่าไฟฟ้างวดดังกล่าวไม่เกิน 4.20 บาท ลดลงจากมติ กกพ.วันที่ 29 พ.ย.2566 ที่เห็นชอบเรียกเก็บค่าไฟฟ้าที่ 4.68 บาทต่อหน่วย
สำหรับแนวทางดังกล่าวทำให้ต้องปรับค่าไฟฟ้าลงอีก 48 สตางค์ โดย ปตท.ลดค่าก๊าซธรรมชาติ 4,300 ล้านบาท จากการขาดส่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยของผู้ผลิต (Shortfall) ช่วงปลายปี 2564 ถึงต้นปี 2565
รวมถึงการตรึงค่าไฟฟ้าไว้ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย สำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟน้อยกว่า 300 หน่วยต่อเดือน จำนวน 17 ล้านครัวเรือน โดยใช้งบกลาง 1,900 ล้านบาท
2.ตรึงราคาน้ำมันดีเซล ใช้วงเงิน 30,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการลดภาษีสรรพสามิตลง 2.50 บาทต่อลิตร ทำให้กระทรวงการคลังสูญเสียรายได้ 15,000 ล้านบาท ร่วมกับการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันราว 15,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ เพื่ออุ้มราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.-31 ธ.ค.2566
3.ลดราคาเบนซิน ใช้วงเงิน 2,000 ล้านบาท โดยการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซิน 1 บาทต่อลิตร พร้อมใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนเพื่อทำให้ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล 91 ลดลงรวม 2.50 บาทต่อลิตร
มาตรการดังกล่าวจะทำให้ราคาน้ำมันลงลง 2.50 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ 7 พ.ย.2566-31 ม.ค.2567
โดยใช้กลไกลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซิน 1 บาทต่อลิตร พร้อมใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ ตั้งแต่ 7 พ.ย. 2566-31 ม.ค. 2567 ทำให้ราคาน้ำมันลดลง ดังนี้
- น้ำมันแก๊สโซฮอล 91 ลดลง 2.50 บาทต่อลิตร
- น้ำมันเบนซิน 95 และน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 ลดลง 1 บาทต่อลิตร
- E20 และ85 ลดลง 80 สตางค์ต่อลิตร
4.รักษาระดับราคาขายปลีกก๊าซ LPG เพื่อไม่ให้เกิน 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม โดยใช้เงินอุดหนุนตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย.-17 ธ.ค.2566 ที่ 1,372 ล้านบาท
สำหรับฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิ ณ วันที่ 17 ธ.ค. 2566 ติดลบ 78,680 ล้านบาท โดยบัญชีน้ำมันติดลบ 32,569 ล้านบาท บัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 46,111 ล้านบาท และเงินกู้ยืมในบัญชีเงินฝากกรมบัญชีกลาง 10,000 ล้านบาท หนี้รวม 118,879 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากย้อนดูบัญชีกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 17 ก.ย.2566 ในช่วง 3 เดือนพบว่าบัญชีติดลบ 61,641 ล้านบาท โดยบัญชีน้ำมันติดลบ 16,902 ล้านบาท บัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 44,739 ล้านบาท เงินกู้ 55,000 ล้านบาท หนี้รวม 103,051 ล้านบาท ส่งผลให้ตลอด 3 เดือน กองทุนน้ำมันมีหนี้ีรวมเพิ่มขึ้น 15,828 ล้านบาท
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การลดภาษีดีเซลและเบนซินรวมกันทำให้สูญเสียรายได้ราว 17,000 ล้านบาท และหากรวมกับเงินที่กองทุนน้ำมันอุดหนุนพบว่าตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย.-17 ธ.ค.2566 กองทุนมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นกว่า 15,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับการอุดหนุนค่าไฟฟ้าพบว่ารัฐบาลใช้เงินช่วยเหลือราคาพลังงานที่ 88,900 ล้านบาท