‘โตโยต้า’ หนุนแซนบอกซ์‘อีอีซี’ ดันเทคโนโลยียานยนต์แห่งอนาคต
ในช่วงที่ผ่านมาการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยียานยนต์เริ่มเห็นภาพที่เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นในตลาดรถยนต์ไทย ด้วยแรงส่งเสริมจากมาตรการภาครัฐ ผลตอบรับของผู้บริโภค รวมทั้งแรงกดดันของประชาคมโลกให้เร่งขับเคลื่อนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน
“โตโยต้า” เป็นผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นในประเทศไทยรายใหญ่ที่สุด โดยปัจจุบันมีโรงงานโตโยต้าในประเทศไทย รวม 3 โรงงาน และมีกำลังการผลิตรถยนต์ 770,000 คันต่อปี
นันทวัฒน์ ศรีวรัตน์อัชกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจของโตโยต้า ประเทศไทย จะยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับทิศทางนโยบายของภาครัฐในการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าระดับโลก ภายใต้นโยบาย 30@30 เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน
รวมทั้งแผนขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไปสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve) เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจไทย
ทั้งนี้ โตโยต้ามุ่งมั่นที่จะเสนอทางเลือกที่หลากหลาย (Multiple Pathways) ของเทคโนโลยียานยนต์ไร้มลพิษ (Zero Emission Vehicle) เพื่อให้ตอบโจทย์กับความต้องการใช้งานของลูกค้า ทั้งรถยนต์ไฮบริด (HEV) ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) เซลล์เชื้อเพลิงจากไฮโดรเจน (FCEV) และแน่นอนว่าจะสนับสนุนรถยนต์โมเดลแบตเตอรี่ไฟฟ้า (BEV) เป็นหลัก
นอกจากนี้ บริษัทยังคงยืนหยัดที่จะพัฒนาไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในห่วงโซ่อุปทานโลก รวมถึงการเป็นฐานการผลิตรถกระบะ (Pick-up) ของโลกต่อไป
โดยในปี 2565 โตโยต้าริเริ่มโครงการนำร่องส่งเสริมการท่องเที่ยวยั่งยืนในเมืองพัทยา นำโมเดลรถยนต์เทคโนโลยีใหม่ที่หลากหลาย เข้ามาให้นักท่องเที่ยวได้ทดลองใช้งาน และในปี 2567 มีแผนที่จะต่อยอดโครงการไปสู่ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด สมาร์ทปาร์ค ด้วยโมเดลรถบรรทุกและรถบัสที่ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน เพื่อศึกษาแนวทางลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศ
ทั้งนี้ โตโยต้านำโมเดล FCEV มาทดลองใช้งานจริงในไทยเป็นระยะเวลาร่วม 2 ปี ซึ่งพิสูจน์แล้วว่ามีศักยภาพในการใช้งานระยะไกล จึงมีแผนที่จะต่อยอดเพื่อทำให้เกิดการใช้งานในปริมาณที่สูงขึ้น
“ไฮโดรเจนเป็นผลพลอยได้ที่เกิดจากการกระบวนการผลิตปิโตรเคมี ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่าในการเป็นเชื้อเพลิงให้กับรถยนต์ได้ โดยปัจจุบันมีปริมาณไฮโดรเจนเหลือในมาบตาพุดราว 100 ตันต่อวัน ซึ่งสามารถใช้กับรถยนต์นั่งได้ 22,000 คัน หรือรถบรรทุก 2,500 คัน”
ทั้งนี้ พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ถือเป็นทำเลยุทธศาสตร์ ซึ่งมีความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน การเป็นแหล่งรวมอุตสาหกรรมการผลิต และแหล่งท่องเที่ยวชายหาดระดับโลก ซึ่งทำให้อีอีซีมีความพร้อมที่จะเป็นสนามทดสอบ หรือ แซนบอกซ์ ของประเทศให้ผู้ประกอบการได้นำเทคโนโลยียานยนต์แห่งอนาคต (Future Mobility) มาทดลองตลาดและต่อยอดความสำเร็จไปสู่การพัฒนาเมืองอัจฉริยะอื่นๆ
“ในอนาคตเชื่อว่า Mobility Ecosystem ในพื้นที่อีอีซี ทั้งการใช้พลังงาน รูปแบบการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นเชิงพาณิชย์ การใช้ส่วนบุคคล และส่งเสริมการท่องเที่ยว จะเติบโตขึ้นภายใต้ความร่วมมือของภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐที่จะต้องมีส่วนช่วยส่งเสริมให้เกิดขึ้นจริง”
นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างวางแผนการผลิตทั้งซัพพลายเชนในอนาคตให้สอดคล้องกับนโยบาย 30@30 โดยในปี 2567 โตโยต้ามีแผนที่จะเริ่มการผลิตรถกระบะ BEV ในไทยตามเงื่อนไขที่เข้าร่วมมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟไฟ้า (EV3.0 และ EV3.5) เพื่อป้อนให้รถสองแถวในเมืองพัทยา
ขณะเดียวกันผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ตั้งแต่ Tier 1,2,3 ก็จะต้องเริ่มมีการเปลี่ยนผ่านทั้งระบบ สำหรับชิ้นส่วนที่ยังมีความจำเป็นก็ต้องพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้ใช้งานในรถอีวีได้ ขณะที่ส่วนเครื่องยนต์ยังมีตลาดที่มีความต้องการอยู่ทั้งในและต่างประเทศในช่วงเวลาหนึ่งราว 10-15 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการจะได้เปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตโปรดักส์ใหม่ๆ
ทั้งนี้ การสนับสนุนจากภาครัฐในการผลิตรถโมเดลเครื่องยนต์สันดาปยังมีความจำเป็นเพื่อรักษาความมั่นคงของเศรษฐกิจในภาพใหญ่ อาทิ สิทธิประโยชน์ภาษี การส่งเสริมการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา
รวมทั้งการเปิดตลาด FTA ใหม่ๆ เพื่อรักษา volume การผลิตที่เกือบ 2 ล้านคันและยังขยายตัว ให้มีความประหยัดต่อขนาด (economy of scale) รวมถึงรักษาการผลิตรถที่เป็น Product Champions คือ รถกระบะ และอีโคคาร์ ส่วนการผลิต 30% คือ ส่วนที่จะต้องเร่งปรับตัว
สำหรับปัจจุบัน โรงงานโตโยต้า ประเทศไทย รวม 3 โรงงาน โดยโรงงานโตโยต้า บ้านโพธิ์ ก่อตั้งเมื่อปี 2007 พื้นที่ 2.5 ล้านตารางเมตร และมีพื้นที่ใช้งานปัจจุบัน 30% ของพื้นที่
ในขณะที่การพัฒนาโรงงานโตโยต้า บ้านโพธิ์ ใช้แนวคิดการออกแบบให้เป็นโรงงานยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมทำให้โรงงานแห่งนี้ติด 1 ใน 5 โรงงานยั่งยืนของโตโยต้าทั่วโลก โดยภายในโรงงานจะมุ่งลดการใช้พลังงาน ใช้น้ำแบบพึ่งพาตนเอง และลดขยะจากการผลิต
นอกจากนี้กลุ่มเครือข่ายโตโยต้าใน จ.ฉะเชิงเทรา ประกอบด้วย ผู้ผลิตชิ้นส่วน 25 แห่ง พนักงาน 35,753 คน , ผู้แทนจำหน่าย 6 แห่ง พนักงาน 397 คน , โรงงานโตโยต้า 2 แห่ง พนักงาน 7,805 คน และศูนย์อะไหล่รถยนต์ 1 แห่ง พนักงาน 625 คน