ศึกชิง CEO ปตท.ระอุ 5 ผู้สมัคร เสนอตัวคุมองค์กรสินทรัพย์ 3.5 ล้านล้าน
5 ลูกหม้อ ปตท. สมัครชิงเก้าอี้ CEO คนที่ 11 “คงกระพันธุ์-บุรณิน-ม.ล.ปีกทอง-พงษ์พันธุ์-วรวัฒน์” สัมภาษณ์ 17 ม.ค.นี้ ชี้ผลงานแน่นทั้ง 5 คน คุมบริหารองค์กรสินทรัพย์ 3.5 ล้านล้าน แผนลงทุน 5 ปี กว่า 8.9 หมื่นล้าน ต่อยอดธุรกิจก๊าซ ดันธุรกิจใหม่ “อีวี-ไลฟ์สไตล์” เร่งลดปล่อยคาร์บอน
บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กำลังเข้าสู่ช่วงการเปลี่ยนผ่านสำคัญ โดยได้ประกาศสรรหาประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.คนที่ 11 และได้ปิดรับสมัครไปเมื่อวันที่ 3 ม.ค.2567 เพื่อแทนนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.ที่จะวาระ 4 ปี ในเดือน พ.ค.2567
สำหรับการสรรหาจะต้องดำเนินการก่อนครบวาระ 6 เดือน โดยผู้เข้ารับการสรรหาจะต้องมีสัญชาติไทย อายุไม่เกิน 58 ปีบริบูรณ์ในวันยื่นใบสมัคร, มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ รวมถึงมีวิสัยทัศน์ทางด้านธุรกิจพลังงาน ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี รวมถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่อง มีความรอบรู้และประสบการณ์ในการบริหารองค์กรขนาดใหญ่ และคณะกรรมการสรรหาจะนัดสัมภาษณ์ในวันที่ 17 ม.ค.2567
รายงานข่าวจาก ปตท.ระบุว่า การสมัครครั้งนี้มีผู้ยื่นสมัครมี 4 คน ประกอบด้วย
1.นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC
2.นายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)
3.ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)
4.นายพงษ์พันธุ์ อมรวิวัฒน์ รองกรรมการผู้ จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)
5. นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอลเพาเวอร์ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC
แหล่งข่าววงการพลังงาน กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาในแวดวงพลังงานได้มีการพูดถึงการสรรหาซีอีโอ ปตท.คนใหม่ ทั้งภายในและภายนอก ปตท.รวมถึงภายในกระทรวงพลังงานในฐานะที่ ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจและเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ โดยมีการกล่าวถึงผู้สมัครหลายคนที่ปรากฎชื่อออกมา
รวมทั้งผู้ที่จะเข้ามาบริหาร ปตท.ได้ต้องกล้าตัดสินใจ เพราะ ปตท.ถือเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน โดยกระทรวงการการคลังถือหุ้น 51% ดำเนินธุรกิจเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ มีรายได้ปี 2565 กว่า 3 ล้านล้านบาท ดังนั้น การบริหารงานภายใต้รัฐบาลจึงต้องมีข้อจำกัดและแรงกดดันสูง
“เท่าที่ดูรายชื่อทั้งบุคคลภายในระดับรองซีอีโอ และซีอีโอบริษัทลูก ปตท.ทุกคนล้วนแล้วแต่มีความรู้ความสามารถทั้งนั้น ไม่อย่างนั้นก็คงไม่ได้นั่งบริหารบริษัทใหญ่ของกลุ่ม ปตท.ได้"
ทั้งนี้ หากดูผลงานของผู้สมัครซีอีโอทั้ง 4 ราย พบว่า
1.นายคงกระพัน อินทรแจ้ง นอกจากเป็นซีอีโอของ GC แล้วยังเป็นประธานกรรมการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) รวมทั้งเคยเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ประจำประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท.
นอกจากนี้ได้ผลักดันให้ GC เป็นบริษัทข้ามชาติด้านพลังงานของไทย ซึ่งติดอันดับ Fortune Global 500 และเมื่อปี 2564 ได้ลงทุน 140,000 ล้านบาท เข้าซื้อกิจการ Allnex Holding GmbH เพื่อต่อยอดธุรกิจของ GC โดยเฉพาะเพิ่มความหลากหลายของเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ และสร้างความแข็งแกร่งในฐานะผู้นำด้านธุรกิจเคมีภัณฑ์ รวมถึงต่อยอดตลาดเอเชียแปซิฟิกและตลาดเกิดใหม่
รวมทั้งได้ผลักดันการลดคาร์บอน โดยจะปรับพอร์ตการดำเนินธุรกิจเพื่อลดปริมาณคาร์บอน 25% และปรับปรุงโรงงานโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี CCS เพื่อกักเก็บปริมาณคาร์บอน ตั้งเป้าการเป็น Together to Net Zero ภายในปี 2050
2.นายบุรณิน รัตนสมบัติ โดยที่ผ่านมาเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กรนวัตกรรมและความยั่งยืน บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ก่อนขยับเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลายบริษัท ปตท.
สำหรับภารกิจธุรกิจใหม่ของ ปตท.ดูแล อาทิ ธุรกิจ Life Science, ธุรกิจ High Value Business ธุรกิจ Logistics & Infrastructure ธุรกิจ AI, Robotics & Digitalization เพื่อสร้างอีโคซิสเต็ม
พร้อมกับตั้ง บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) ขึ้นมาเพื่อเดินหน้าธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรกับฟ็อกซ์คอนน์ ในการตั้ง บริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด เพื่อเดินหน้าธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร พร้อมศึกษาโอกาสในการพัฒนาฐานการผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในไทย ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงานในไทยและจะเริ่มการผลิตรถอีวีในช่วงปี 2567
3.ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ ก่อนที่จะมาดูแลกลุ่มธุรกิจก๊าซ เคยเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลายของ ปตท.มาก่อน โดยช่วงที่ดูแลหน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติได้ขับเคลื่อนธุรกิจก๊าซเพื่อตอบโจทย์ทางธุรกิจและการดูแลค่าครองชีพ ซึ่งสนับสนุนการขยายระยะเวลาการช่วยเหลือราคา NGV สำหรับผู้มีบัตรสิทธิประโยชน์ของรถแท็กซี่ รถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุก
รวมทั้งได้ผลักดันแพลตฟอร์มบริหารจัดการพลังงาน เพื่อขยายตลาดเอนเนอร์ยี่โซลูชั่นส์ในไทยด้วยเทคโนโลยี Advanced Energy Intelligence Platform เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย และตอบสนองนโยบายภาครัฐตามเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
4.นายพงษ์พันธุ์ อมรวิวัฒน์ เป็นผู้บริหารที่เติบโตในบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) จนขึ้นมาเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ด้านกลยุทธ์องค์กร ไทยออยล์ ก่อนที่ข้ามมาเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ปตท.
ทั้งนี้ ได้ผลักดันหน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ปตท.เป็นผู้นำในการพัฒนาและมีความพร้อมในการดำเนินธุรกิจการค้าคาร์บอนเครดิต ทั้งในรูปแบบ Over The Counter และตลาด Exchange ทำให้สามารถเข้าถึงและขยายขอบเขตการค้าคาร์บอนเครดิตได้อย่างกว้างขวาง เพื่อให้ได้มาซึ่งคาร์บอนเครดิตที่มีมาตรฐานและได้รับการยอมรับในระดับสากล
5. นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและดิจิทัล บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และร่วมงานกับกลุ่ม ปตท.มากกว่า 20 ปี เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ แผนกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท.
GPSC ได้ขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจในบริษัท Avaada Energy Private Limited (AEPL) ให้ครอบคลุมธุรกิจระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ (BESS) และเพิ่มทุนตามสัดส่วนการถือหุ้น 42.93% ใน AEPL เป็นเงิน 8,625 ล้านบาท การเข้าร่วมทุนดังกล่าวจะต่อการขยายสัดส่วนกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนของ GPSC ให้เป็นตามเป้าหมายมากกว่า 50% ปี 2573 โดย GPSC มีการร่วมลงทุนกับอวาด้ามูลค่า 779 ล้านดอลลาร์ ตั้งแต่ปี 2564
ปัจจุบัน GPSC มีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 3,629 เมกะวัตต์ คิดเป็น 45% ของกำลังการผลิตรวม โดยตั้งเป้าปี 2030 จะมีกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียนที่ 12 กิกะว้ตต์ ถือเป็นไปตามยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนธุรกิจพลังงานเพื่อความยั่งยืน ก้าวสู่การเป็นหนึ่งในบริษัทนวัตกรรมผู้ผลิตไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุด 3 อันดับแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ซีอีโอใหม่คุมลงทุน 8.9 หมื่นล้าน
นอกจากนี้ซีอีโอ ปตท.จะเข้ามาบริหารองค์กรที่มีสินทรัพย์รวม 3.53 ล้านล้านบาท โดยผลดำเนินการในช่วง 9 เดือน แรกของปี 2566 มีรายได้รวม 2.35 ล้านล้านบาท กำไรสุทธิ 79,258 ล้านบาท
ในขณะที่แผนการลงทุนช่วง 5 ปี (2567-2571) ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ปตท.วันที่ 21 ธ.ค.2566 ครอบคลุมการของลงทุนของ ปตท.และบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% วงเงินรวม 89,203 ล้านบาท ผ่านใน 5 กลุ่มธุรกิจหลัก ประกอบด้วย
1.ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ วงเงินลงทุนรวม 30,636 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 34% ของงบลงทุนรวม
2.ธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ วงเงินลงทุนรวม 14,934 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 17% ของงบลงทุนรวม
3.ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย วงเงินลงทุนรวม 3,022 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 4% ของงบลงทุนรวม
4.ธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานและสำนักงานใหญ่ วงเงินลงทุนรวม 12,789 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 14% ของงบลงทุนรวม 5.การลงทุนในบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% วงเงินลงทุนรวม 27,822 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 31% ของวงเงินลงทุนรวม
สำหรับแผนการลงทุนดังกล่าวรองรับการลงทุนธุรกิจหลัก (Core Business) เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนของงบการลงทุน 5 ปี ประมาณ 51% โดยมีโครงการหลัก อาทิ โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 เพื่อทดแทนโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 1 และโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่8 รวมทั้งโครงการท่อส่งก๊าซฯ บางปะกง-โรงไฟฟ้าพระนครใต้ และโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5
เร่งดันลงทุน“อีวี-แบตเตอรี่”
รวมทั้งเพื่อให้การลงทุนสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ ปตท. “Powering life with future energy and beyond” ยังได้ลงทุนในธุรกิจใหม่ผ่านบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% อาทิ โครงการลงทุนในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร เช่น โครงการ EVme ซึ่งให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการใช้รถยนต์ไฟฟ้าครบวงจร โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า Horizon Plus โครงการการลงทุนในธุรกิจโรงงานประกอบแบตเตอรี่โดยใช้เทคโนโลยี Cell- To-Pack (CTP) รวมถึงโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3
นอกจากนี้ ปตท.เตรียมงบลงทุนโครงการที่อยู่ระหว่างหาโอกาสลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) ระยะ 5 ปี ข้างหน้า 106,932 ล้านบาท เพื่อขยายการลงทุนช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงาน อาทิ ขยายการลงทุนธุรกิจก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นพลังงานเปลี่ยนผ่าน (Transition Fuel) โดยมุ่งเน้นการขยายโครงข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติและการขยายการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลวอย่างครบวงจร (LNG Value Chain) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
รวมทั้งการขยายการลงทุนของธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลายในการสร้างถังเก็บผลิตภัณฑ์ รวมถึงมุ่งเน้นธุรกิจพลังงานสะอาดเพื่อไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ อาทิ การลงทุนในธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ (Life science)
รวมถึงธุรกิจยา ธุรกิจโภชนาการและอุปกรณ์และการวินิจฉัยทางการแพทย์ธุรกิจ AI & Robotics เพื่อเป้าหมายการเป็นผู้นำการให้บริการด้าน AI & Robotics ในอนาคต ตลอดจนการลงทุนในธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานโดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงระบบเครือข่ายขนส่งทั้งหมดของประเทศ