ส่อง ‘งบกลางฯปี 67‘ 6 แสนล้าน สะท้อนจัดงบฯ ‘รัฐราชการ’ ?
ส่องตัวเลขงบกลางฯปี 67 จัดสรร 6 แสนล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนกว่า 2.8% หรือกว่า 1.69 หมื่นล้านบาท พบข้อมูลตัวเลขงบกลางฯ5 แสนล้านบาทใช้เป็นงบที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรภาครัฐ เบี้ยหวัด บำนาญเฉียด 3.3 แสนล้าน ค่ารักษาพยาบาลขรก.-ลูกจ้างรัฐ 7.6 หมื่นล้าน งบขึ้นเงินเดือนหมื่นล้าน
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท วาระแรกระหว่างวันที่ 3 – 5 ม.ค. 2567 มีหลายประเด็นที่ฝ่ายค้านอภิปรายการจัดทำงบประมาณของ “รัฐบาลเศรษฐา1” โดยเฉพาะประเด็นการจัดทำงบประมาณไม่แตกต่างจากรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่ได้ตอบโจทย์ นโยบายเร่งด่วนตามที่รัฐบาลได้มีการแถลงนโยบายไว้
โดยประเด็นหนึ่งที่มีการอภิปรายคือการตั้งงบประมาณรายจ่ายงบกลางไว้กว่า 6 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อน “กรุงเทพธุรกิจ” ตรวจสอบงบกลางในปีงบประมาณ 2567 พบว่ารัฐบาลได้ตั้งวงเงินเป็นงบกลางไว้ทั้งสิ้น 606,765 ล้านบาท คิดเป็น 17.4% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า จำนวน 16,295 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.8%
สำนักงบประมาณของรัฐสภา (PBO) ระบุในเอกสารการวิเคราะห์งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ว่างบกลางกว่า 6 แสนล้านส่วนใหญ่เป็นเป็นรายจ่ายเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐสะท้อนถึงจำนวนบุคลากรภาครัฐที่เพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรประเภทข้าราชการที่เพิ่มขึ้นจากจำนวน 1,271,395 คน ในปี 2556 มาเป็น 1,775,812 คน ในปี 2565 หรือ เพิ่มขึ้น 504,417 คน คิดเป็น39.7%
ส่งผลให้รายจ่ายบุคลากรมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปีงบประมาณ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ได้รับจัดสรร 785,957.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 17,849 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.3% ทั้งนี้ งบบุคลากรเป็นค่าใช้จ่ายที่กำหนดไว้ในแผนงานบุคลากรภาครัฐ ตามมาตรา 38 ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 785,957.6 ล้านบาท คิดเป็น22.6% ของ
วงเงินงบประมาณรายจ่ายฯยังไม่ครอบคลุมบางรายการค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรภาครัฐ
ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายต่างๆของบุคลากรของรัฐที่เกี่ยวข้องได้มาตั้งไว้เป็นงบกลาง เป็นจำนวนเงิน 500,165 ล้านบาท คิดเป็น 82.4% ของงบประมาณรายจ่ายงบกลาง ประกอบด้วย
- รายจ่ายงบกลางรายการเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ 329,430 ล้านบาท
- เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ 11,000 ล้านบาท
- เงินสมทบของลูกจ้างประจำ 440 ล้านบาท
- เงินสำรอง เงินสมทบ เงินชดเชยของข้าราชการ 78,775 ล้านบาท
- เงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐสภา 4,520 ล้านบาท
- ค่าใช้จ่ายในการรักษา พยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ 76,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีเงินอุดหนุน ให้กับองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ ด้วยเช่นกัน เช่น ค่าใช้จ่ายบุคลากรที่ตั้งเป็น เงินอุดหนุนให้ท้องถิ่น เงินอุดหนุนสำหรับการจัดการศึกษาภาคบังคับ ค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาพยาบาลฯ อีกจำนวน 62,338.5 ล้านบาท
ทั้งนี้หากรวมค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐทั้งสิ้นจะเป็นจำนวนเงิน 1,348,460 ล้านบาทคิดเป็น 38.7% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีวงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท
จะเห็นได้ว่าการจัดสรรงบประมาณปี 2567 หากมองจากงบประมาณที่เพิ่มขึ้นในส่วนของบุคลากรภาครัฐ และการจัดสรรงบกลางที่เป็นรายจ่ายเกี่ยวกับบุคลากรภาครัฐกว่า 5 แสนล้านบาท จากงบกลางที่จัดไว้ทั้งหมด 6 แสนล้านบาท สะท้อนการเป็น “รัฐราชการ” ของไทยที่ยังคงใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับนโยบายที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ว่าจะลดขนาดของหน่วยงานราชการ และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของข้าราชการเพิ่มขึ้น