เปิด 3 เหตุผลหลัก 'ราคาน้ำมัน' 10 ประเทศ 'อาเซียน' แตกต่างกัน

เปิด 3 เหตุผลหลัก 'ราคาน้ำมัน' 10 ประเทศ 'อาเซียน' แตกต่างกัน

"สนพ." เปิดเผย 3 เหตุผลหลัก ที่ทำให้ราคาน้ำมันของ 10 ประเทศในอาเซียนมีราคาที่แตกต่างกัน "กรมธุรกิจพลังงาน" ระบุ มาตรการลดภาษีหนุนยอดใช้น้ำมัน "เบนซิล" พุ่ง

รายงานข่าวระบุว่า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้รายงาน ราคาน้ำมันเฉลี่ยอาเซียน ประจำวันที่ 1 มกราคม 2567 แบ่งเป็น ราคาน้ำมันเบนซิน และ ราคาน้ำมันดีเซล

 

ประเทศที่มีราคาน้ำมันเบนซินสูงสุดในอาเซียนประกอบด้วย

  1. สิงคโปร์ ราคา 73.50 บาทต่อลิตร
  2. ลาว ราคา 46.30 บาทต่อลิตร
  3. เมียนมา ราคา 44.79 บาทต่อลิตร
  4. กัมพูชา ราคา 44.27 บาทต่อลิตร 
  5. ไทย ราคา 35.25 บาทต่อลิตร
  6. ฟิลิปปินส์ ราคา 35.08 บาทต่อลิตร
  7. อินโดนีเซีย ราคา 31.15 บาทต่อลิตร
  8. เวียดนาม ราคา 31.11 บาทต่อลิตร
  9. มาเลเซีย ราคา 15.20 บาทต่อลิตร
  10. บรูไน ราคา 13.76 บาทต่อลิตร

เปิด 3 เหตุผลหลัก \'ราคาน้ำมัน\' 10 ประเทศ \'อาเซียน\' แตกต่างกัน

 

ประเทศที่มีราคาน้ำมันดีเซลสูงสุดในอาเซียนประกอบด้วย 

  1. สิงคโปร์ ราคา 68.57 บาทต่อลิตร
  2. กัมพูชา ราคา 41.77 บาทต่อลิตร
  3. เมียนมา ราคา 40.77 บาทต่อลิตร
  4. อินโดนีเซีย ราคา 36.36 บาทต่อลิตร
  5. ฟิลิปปินส์ ราคา 32.81 บาทต่อลิตร
  6. ลาว ราคา 32.61 บาทต่อลิตร
  7. ไทย ราคา 29.94 บาทต่อลิตร
  8. เวียดนาม ราคา 27.79 บาทต่อลิตร
  9. มาเลเซีย ราคา 15.95 บาทต่อลิตร
  10. บรูไน ราคา 8.05 บาทต่อลิตร

ราคาขายน้ำมัน ของแต่ละประเทศที่ต่างกัน มีปัจจัยทางด้านราคา ดังนี้

  • แต่ละประเทศมีมาตรการภาษี และระบบการเก็บเงินเข้ากองทุนหรืออุดหนุนราคาพลังงานที่แตกต่างกัน
  • ในหลายประเทศเพื่อนบ้านยังมีการอุดหนุนราคากันอยู่
  • ประเทศไทยสนับสนุนการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ให้การอุดหนุนราคาโดยสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) จึงทำให้ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ถูกกว่าเบนซิน

นอกจากนี้ ราคาน้ำมัน ณ วันที่ 1 มกราคม 2567 อัตราแลกเปลี่ยน (อัตรากลาง) ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2566  ทั้งนี้ ประเทศไทย อ้างอิงราคาจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และเป็น ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95E10 ซึ่งมีสัดส่วนการใช้มากที่สุด

สำหรับภาพรวมการใช้น้ำมันจากกรมธุรกิจพลังงาน พบว่าการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเฉลี่ยเดือนม.ค. – พ.ย. 2566 เพิ่มขึ้น 3.7% มียอดใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 31.54 ล้านลิตร/วัน โดยการใช้แก๊สโซฮอล์ 95 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 17.93 ล้านลิตร/วัน และแก๊สโซฮอล์ อี20 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.89 ล้านลิตร/วัน ขณะที่การใช้แก๊สโซฮอล์ 91 แก๊สโซฮอล์ อี85 และเบนซิน ลดลงมาอยู่ที่ 6.78 ล้านลิตร/วัน 0.16 ล้านลิตร/วัน และ 0.46 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ

ทั้งนี้ การใช้แก๊สโซฮอล์ 91 และแก๊สโซฮอล์ 95 เพิ่มขึ้นจากเดือนต.ค. 2566 ที่ 31.8% และ 3.2% ตามลำดับ จากนโยบายปรับลดราคาน้ำมันเบนซินลงทุกประเภทเป็นระยะเวลา 3 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย. 2566 - 31 ม.ค. 2567 เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน โดยแก๊สโซฮอล์ 91 ลดลง 2.50 บาท/ลิตร เบนซินและแก๊สโซฮอล์ 95 ลดลง 1 บาท/ลิตร แก๊สโซฮอล์ อี20 และแก๊สโซฮอล์ อี85 ลดลง 80 สตางค์/ลิตร จากการลดภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันกลุ่มเบนซิน และการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

ส่วนน้ำมันกลุ่มดีเซลเดือนม.ค. – พ.ย. 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 68.83 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.2% โดยน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 และน้ำมันดีเซลพื้นฐาน ปริมาณการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 0.80 ล้านลิตร/วัน 0.15 ล้านลิตร/วัน และ 3.76 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ ขณะที่น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.9% เฉลี่ยอยู่ที่ 64.12 ล้านลิตร/วัน แต่เมื่อพิจารณาจากช่วงเดือนที่ผ่านมาปริมาณการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

ทั้งนี้ ภาครัฐยังคงมาตรการช่วยเหลือราคาน้ำมันดีเซล โดยใช้มาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 2.50 บาท/ลิตร ตามชนิดของน้ำมันดีเซล และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะเข้าไปชดเชยเพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย. 2566 - 31 ธ.ค. 2566 และเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 - 31 มี.ค. 2567