'กฤษฎีกา' ตั้งธง ม. 53 'พ.ร.บ.วินัยการคลัง' จุดตายโครงการ 'ดิจิทัล วอลเล็ต'!
เปิดจุดตาย เงื่อนกฎหมาย ทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอาจไปไม่ถึงฝัน หลังยื่นกฤษฎีกาตีความข้อกฎหมาย กฤษฎีกาคณะที่ 12 พิจารณาช่วงก่อนปีใหม่แล้ว ตั้งประเด็น "วิกฤติหรือไม่?" พิจารณาข้อกฎหมายมาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการคลัง หากวิกฤติจริงควรออก พ.ร.ก.มากกว่า พ.ร.บ.
key points:
- นโยบายแจกเงินดิจิทัลคนละ1หมื่นบาท โดยการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท รัฐบาลได้ส่งข้อคำถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าสามารถทำได้ตามข้อกฎหมายหรือไม่
- คณะกรรมการกฤษฎีกาได้มอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 12 เป็นผู้ตอบข้อกฎหมาย โดยได้ประชุมไปและส่งคำตอบให้รัฐบาลแล้ว
- ประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตั้งประเด็นในการหารือคือ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐมาตรา 53 ว่าด้วยการกู้เงินเพิ่มเติมจะต้องใช้กรณีจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น
- โดยการกู้เงินหากมีวิกฤติและเร่งด่วนรัฐบาลทำได้โดยออก พ.ร.ก.แต่เมื่อออก พ.ร.บ.ต้องผ่านขั้นตอนทางกฎหมายมากและใช้เวลานาน อาจไม่ "ฉุกเฉิน" สะท้อนความไม่เร่งด่วน
- คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่12 ส่งคำตอบกลับมายังรัฐบาลแล้ว โดยให้รัฐบาลเป็นผู้แถลงข่าวเรื่องนี้เอง ซึ่งต้องติดตามว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่
นโยบายเติมเงินในกระเป๋าดิจิทัล วอลเล็ต คนละ 10,000 บาท ให้กับคนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป เป้าหมาย 50 ล้านคน ถือเป็นนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐบาลที่จะใช้ในปี 2567 โดยรัฐบาลตั้งเป้าจะใช้งบประมาณ 5 แสนล้านบาท โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง แถลงข่าวเมื่อวันที่ 10 พ.ย.2566 ว่ารัฐบาลจะออก พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน พ.ศ...วงเงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในโครงการนี้
โดยได้มีการมอบหมายให้กระทรวงการคลังส่งคำถามไปถามยังคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าการกู้เงินของรัฐบาลสามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งได้ให้คณะกรรมการตอบคำถามของรัฐบาลในแง่กฎหมายเกี่ยวกับการกู้เงินในครั้งนี้ โดยกระทรวงการคลังได้ส่งข้อคำถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วในช่วงปลายปี 2566 โดยในขณะนี้รอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาส่งคำตอบกลับมายังกระทรวงการคลัง เพื่อนำเข้าสู่คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
ถือเป็นด่านแรกที่รัฐบาลต้องรอฟังการวินิจฉัยข้อกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา หากชอบโดยกฎหมายก็จะเดินหน้าได้ แต่หากไม่ผ่านความเห็นชอบของกฤษฎีกาก็ต้องรอดูว่ารัฐบาลจะตัดสินใจเดินหน้านโยบายนี้ต่อไปหรือไม่ ?
คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 12 ชี้ชะตาดิจิทัลวอลเล็ต
ทั้งนี้การตอบข้อซักถามทางกฎหมายเกี่ยวกับการออก พ.ร.บ.กู้เงินฯ 5 แสนล้านบาท ให้กับรัฐบาล คณะกรรมการกฤษฎีกามอบหมายให้ “คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 12” ซึ่งเป็นคณะที่รับผิดชอบเรื่องการเงินการคลังโดยตรง มีนายพนัส สิมะเสถียร เป็นประธานกรรมการ
มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นอดีตข้าราชการระดับสูงจากกระทรวงเศรษฐกิจ และหน่วยงานราชการหลายท่าน เช่น
- นายบดี จุณณานนท์
- นายสมชัย ฤชุพันธุ์
- นายปัญญา ถนอมรอด
- นายธานิศ เกศวพิทักษ์
- นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล
- นายเข็มชัย ชุติวงศ์
- นายนนทิกร กาญจนะจิตรา
- นางสาวจารุวรรณ เฮงตระกูล
- นายศักดา ธนิตกุล
ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ได้มีการประชุมและตอบคำถามของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการที่รัฐบาลจะออก พ.ร.บ.กู้เงินฯ 5 แสนล้านบาทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตามคณะกรรมการกฤษฎีกาตกลงกันอย่างเข้มงวดว่าจะไม่เป็นผู้ใช้ข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยจะให้รัฐบาลหรือกระทรวงการคลังเป็นผู้แถลงข่าวในเรื่องนี้เอง
มาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังจุดตายเงินดิจิทัลฯ
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 12 ให้ความสำคัญคือ ข้อกฎหมายเกี่ยวกับการกู้เงินเพิ่มเติมจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี ของรัฐบาลจะสามารถทำได้เมื่อเกิดกรณีวิกฤติ ฉุกเฉิน และจำเป็นเร่งด่วนอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เท่านั้นซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย มาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ที่ระบุว่า หากใช้เงินที่ไม่ได้เป็นไปตามงบประมาณปกติ หรือกู้เงินรัฐบาลจะทำได้ในกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น
“มาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการคลังฯ ระบุว่าการกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน กฎหมายที่ตราขึ้นตามวรรคหนึ่ง ต้องระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ การดำเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้นั้น เงินที่ได้รับจากการกู้เงินตามวรรคหนึ่ง ให้กระทรวงการคลังเก็บรักษาไว้เพื่อให้หน่วยงานของรัฐ เบิกไปใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการตามที่กฎหมายกำหนดได้โดยไม่ต้องนำส่งคลัง เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”
ทั้งนี้ประเด็นที่มีการหารือกันอีกประเด็นก็คือ กรณีที่ผ่านมาเมื่อเกิดวิกฤติกับประเทศ แล้วรัฐบาลต้องกู้เงินเพื่อใช้ในการรับมือกับวิกฤติที่เกิดขึ้นรัฐบาลที่ผ่านๆมาใช้การออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ในการให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เช่น ในช่วงวิกฤติโควิด-19 รัฐบาลขณะนั้นก็ใช้มติ ครม.ในการออก พ.ร.ก.ซึ่งเป็นวิธีการจัดการในช่วงที่เกิดวิกฤติ ไม่ใช่การออก พ.ร.บ.ซึ่งใช้เวลาในการดำเนินการนาน สะท้อนว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในขนาดนี้ของประเทศไม่ได้วิกฤติจริง รัฐบาลจึงใช้วิธีการออก พ.ร.บ.ซึ่งใช้เวลาในการออกกฎหมายนาน การออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทจึงมีความย้อนแย้งกันกับสิ่งที่รัฐบาลบอกว่าเกิดวิกฤติที่ต้องเร่งแก้ไข
ส่อขัด รธน.มาตรา 140 การใช้เงินแผ่นดิน
นอกจากนั้นในรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 140 ที่บัญญัติไว้ว่า “การจ่ายเงินแผ่นดิน จะกระทำได้เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ กฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง หรือกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ เว้นแต่ในกรณีจำเป็นรีบด่วนจะจ่ายไปก่อนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ
ในกรณีเช่นว่านี้ ต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายชดใช้ในพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไป ซึ่งการกู้เงิน 5 แสนล้านบาทนั้นรัฐบาลไม่สามารถชำระคืนได้เต็มจำนวนในปีงบประมาณถัดไปตามที่ข้อกฎหมายกำหนดไว้
จะเห็นได้ว่ามีข้อกฎหมายที่ยังเป็น “จุดตาย” และ “เงื่อนปม” ที่อาจจะทำให้การขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล สะดุดหยุดลงตั้งแต่ด่านแรก ในชั้นการพิจารณาของ “คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 12 ” ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดจะถูกเปิดเผยต่อไปเร็วๆนี้