อวสาน ‘บ้านต่ำ 3 ล้าน’ เมืองไทยจะมีแต่ ‘บ้านหรู’ คนรายได้น้อยกู้ไม่ผ่าน หมดสิทธิ์มีบ้าน?
อสังหาฯ กลุ่มราคาต่ำ 3 ล้าน ขึ้นแท่น “โซนอันตราย” ดีมานด์ยังมีแต่ยอดปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มขึ้น พร้อมจับตา “หนี้เสีย” พุ่งอีก เหตุค้างค่างวด-ผ่อนไม่ไหว สวนทางต่างชาติกว้านซื้อคอนโดฯ กระหึ่ม “จีน” ยังครองแชมป์ลูกค้าอันดับ 1 คอนโดฯ ไทย
Key Points:
- ปี 2566 ที่ผ่านมา ไทยเผชิญกับภาวะ “ดอกเบี้ยขาขึ้น” จนกลุ่มเปราะบางที่มีรายได้น้อยต้องอยู่ในสถานะ “เดอะแบก” โดยเฉพาะ “ดอกเบี้ยบ้าน” ที่สูงจนกระทบทั้งเจ้าของโครงการ-แบงก์-คนผ่อน
- “ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์” ระบุว่า ปี 2567 แนวโน้มตลาดอสังหาฯ จะยังทรงตัวจากภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น เศรษฐกิจตึงตัว และนโยบายแบงก์ที่เข้มงวดกว่าเดิม จนทำให้มี “ยอดปฏิเสธสินเชื่อ” สูงถึง 70%
- ขณะที่ “บ้านหรู” มีแนวโน้มการเติบโตดีขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มคนรายได้สูงยังมีความต้องการบ้าน-คอนโดฯ ทำเลทอง รวมถึงต่างชาติโดยเฉพาะ “คนจีน” ที่ยังครองแชมป์กว้านซื้อคอนโดฯ ไทยสูงสุด
สถานการณ์เงินเฟ้อในไทยที่ยังร้อนแรงไม่แผ่ว จน “คณะกรรมการนโยบายการเงิน” หรือ “กนง.” มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง โดยครั้งล่าสุดของการปรับขึ้น คือขึ้นอีก 0.25% เมื่อเดือนกันยายน 2566 ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นสู่ระดับ 2.50% ต่อปี นับเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 9 ปี และยังเป็นการปรับด้วยความถี่มากถึง “7 ครั้ง” นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 - กันยายน 2566 ก่อนจะมา “คงดอกเบี้ย” ในรอบการประชุมวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566
สาเหตุในการปรับอัตราดอกเบี้ยก็คล้ายกันกับหลายประเทศทั่วโลก คือเพื่อเป็นการสกัดภาวะ “เงินเฟ้อ” ที่หากปล่อยไว้จะส่งผลให้ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น แต่สำหรับประเทศที่กำลังเผชิญกับความเปราะบางทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอาจทำให้ประชาชนต้องรับบท “เดอะแบก” โดยเฉพาะ “ดอกเบี้ยบ้าน” ที่ปรับตัวสูงจนทำให้หลายคนไม่กล้าก่อ “หนี้ดี” ขณะเดียวกันก็ทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น ซ้ำเติมวิกฤติหนี้ครัวเรือนให้ย่ำแย่ลงไปอีก
สถานการณ์ “ดอกเบี้ยขาขึ้น” สร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อตลาดบ้านและคอนโดฯ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ซื้อบ้านราคา “ต่ำ 3 ล้าน” ซึ่งเป็นกลุ่มรายได้ไม่สูงนัก มีความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจ ดอกเบี้ยสูงทำให้ลูกบ้านกลุ่มนี้มีปัญหาในการผ่อนชำระ ปลายทางเป็นหนี้เสีย และทำให้ภาพรวมตลาดอสังหาฯ ในปีที่ผ่านไม่สดใสนัก แม้โครงการบ้านราคาต่ำ 3 ล้านจะยังเป็นที่ต้องการ แต่ปัญหาสำคัญ คือภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวดี ทำให้ตลาดอสังหาฯ ในปีนี้ต้องเผชิญกับแรงเสียดทานจากสถานการณ์ดอกเบี้ยขาขึ้น รวมถึงต้นทุนที่สูงขึ้นจนกลายเป็นปัญหารุมเร้าทั้งฝั่งผู้พัฒนาโครงการ และผู้บริโภคที่แม้จะอยากมีบ้านก็ไม่อาจเอื้อมถึงได้
- มาตรการ “LTV” กันกลุ่มเก็งกำไร VS สกัดคนอยากมีบ้าน?
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2564 และ 2565 ภาคอสังหาฯ คึกคักเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับปี 2566 เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “ธปท.” ผ่อนปรนมาตรการ “LTV” เป็นการชั่วคราว ทำให้ภาคอสังหาฯ เติบโตมากขึ้นจากการปลดล็อกเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการซื้อบ้านได้คล่องตัวกว่าเดิม
“LTV” หรือ “Loan to Value Ratio” คืออัตราส่วนที่ธนาคารสามารถให้สินเชื่อได้เมื่อเทียบกับมูลค่าบ้านที่เราซื้อ มาตรการ “LTV” ช่วยลดความเสี่ยงให้กับธนาคารพาณิชย์ในการปล่อยกู้ หรือพูดให้เข้าใจโดยง่ายก็คือ “LTV” มีไว้เพื่อพิจารณาว่า ผู้ซื้อมีความสามารถในการผ่อนชำระหรือไม่ รวมถึงป้องกันไม่ให้มีการกู้ซื้อบ้านมากเกินไปจนทำให้เกิดเหตุการณ์ “ฟองสบู่อสังหาฯ”
ระหว่างปี 2564 ถึง 2565 มาตรการ “LTV” ที่ว่านี้ได้รับการผ่อนปรนลง จากเดิมที่ผู้ซื้อต้องควักกระเป๋าราว 10% ถึง 20% ในการวางเงินสดดาวน์บ้านก็สามารถขอกู้กับธนาคารได้เต็ม 100% ทันที นับเป็น “สถานการณ์พิเศษ” ที่ทำให้ผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของโครงการ “บ้านต่ำ 3 ล้าน” เข้าเป็นเจ้าของทรัพย์สินได้ไม่ยากจนเกินไป ซึ่งนอกจากมาตรการ “LTV” แล้วยังมีการลดค่าธรรมเนียมโอนกรรมสิทธิ์ และจดจำนองที่อยู่อาศัยเหลือเพียง 0.01% ของราคาประเมินอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปี 2566 มาตรการผ่อนปรนต่างๆ ถูกนำกลับมาใช้อย่างเข้มงวดอีกครั้ง บวกกับวิกฤติระดับโลกทั้งกรณี “รัสเซีย-ยูเครน” ที่ลากยาวมาตั้งแต่ต้นปี 2565 และมาซ้ำด้วยคู่กรณี “อิสราเอล-ฮามาส” ในเดือนตุลาคม 2566 รวมเข้ากับวิกฤติเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้นกับประเทศยักษ์ใหญ่ รวมทั้งสถานการณ์ในประเทศที่ยังต้องเผชิญกับภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น หนี้ครัวเรือนระดับสูง กำลังซื้อที่ยังอ่อนแอ เครื่องยนต์เศรษฐกิจที่ยังไม่สามารถพลิกฟื้นกลับมาเดินเครื่องได้เต็มกำลังเท่าก่อนโควิด-19 ฯลฯ ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบถึงภาพรวมตลาดอสังหาฯ ทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจาก “ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์” เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2567 ระบุว่า ภาพรวมตลาดในปี 2566 มีดีมานด์ด้านการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยชะลอตัวในเชิง “จำนวนหน่วย” ที่ -4.2% เกิดจากปัจจัยลบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบจากมาตรการ “LTV” หนี้ครัวเรือน และดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้ผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยมีความสามารถในการซื้อลดลง ทว่า ภาพรวมมูลค่าตลาดในปี 2566 กลับยัง “เป็นบวก” แม้จำนวนหน่วยในการขายจะลดลง เนื่องจากราคาขายต่อหน่วยแพงขึ้น
นั่นหมายความว่า “ดีมานด์” ในตลาดไม่ได้หายไป หากแต่นโยบายของภาครัฐและสภาวะเศรษฐกิจต่างหากที่เป็นปัจจัยลบในการสกัด “เรียลดีมานด์” แม้ “ธปท.” จะออกมาให้ข้อมูลว่า การขยายเวลาผ่อนปรนมาตรการอาจทำให้เกิดการเก็งกำไรของกลุ่มผู้มีรายได้สูง และเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้เกิดหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นได้ ซึ่งก็ตามมาด้วยคำถามที่ว่า ภาครัฐจะหาตรงกลางอย่างไรระหว่างกลุ่มคนที่ต้องการมีบ้านต่ำ 3 ล้าน แต่ขณะเดียวกันสถาบันการเงินก็เข้มงวดในการพิจารณาเกณฑ์การผ่อนชำระมากขึ้นจนทำให้ยอดปฏิเสธสินเชื่อในปีที่ผ่านมาสูงถึง 70%
- รายได้น้อย ผ่อนต่อไม่ไหว กระทบผู้ซื้อรายใหม่ “กู้ไม่ผ่าน”
ปี 2566 นับเป็นความท้าทายของผู้พัฒนาโครงการบ้าน-คอนโดฯ อย่างยิ่ง เนื่องจากธนาคารได้มีการปรับเกณฑ์การขอสินเชื่อที่เข้มงวดกว่าเดิม แม้ผู้ประกอบการจะหาทางช่วยเหลือผู้ซื้อทุกทางแล้วก็ตาม แต่ก็ยังพบว่า มีกลุ่มลูกค้า “กู้แบงก์ไม่ผ่าน” เป็นสัดส่วน “กว่าครึ่ง”
“สุรเชษฐ กองชีพ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด บริษัทที่ปรึกษาการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร ให้ข้อมูลกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า สำหรับบางโครงการอาจมีลูกค้าที่ติดหล่ม-กู้แบงก์ไม่ผ่าน “มากกว่า 50%” ด้วยซ้ำไป หรือบางรายก็ได้รับอนุมัติวงเงินสินเชื่อต่ำกว่ามูลค่าบ้านหรือคอนโดฯ ที่ต้องการซื้อ
หากย้อนกลับไปสืบสาวถึงต้นตอที่ทำให้แบงก์ปรับเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อพบว่า ส่วนหนึ่งมาจากภาพรวมหนี้เสียและ “หนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ” หรือ “หนี้ค้างชำระระหว่าง 1 ถึง 3 เดือน” ในตลาดอสังหาฯ ที่เริ่มมีจำนวนสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ “ศศิมา ทองสมัคร” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หนี้ค้างชำระเหล่านี้เป็นผลมาจากภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังตึงตัว นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังไม่เป็นผล รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นจากดอกเบี้ยนโยบายที่ทำให้กลุ่มลูกค้า “บ้านต่ำ 3 ล้าน” กระทบหนัก เนื่องจากลูกค้ากลุ่มนี้มีรายได้ไม่สูง อ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจได้ง่าย
ความอ่อนไหวที่ทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้บ่อยครั้ง ส่งผลให้ธนาคารเริ่มมีการปรับเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อ ทั้งยังเข้มงวดต่อการพิจารณาภาระหนี้ของผู้กู้มากขึ้น แนวโน้มการปฏิเสธการอนุมัติสินเชื่อ หรือการขอกู้แบงก์เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยหลังจากนี้อาจ “โหดหิน” มากขึ้นอีกเรื่อยๆ
สอดคล้องกับความเห็นของผู้พัฒนาโครงการบางแห่งที่ระบุว่า การปรับตัวของบรรดา “ดีเวลลอปเปอร์” หลังจากนี้ คือการลดการเปิดโครงการใหม่ๆ ให้น้อยลง โดยเฉพาะโครงการ “บ้านต่ำ 3 ล้าน” หรือโครงการบ้านทาวน์เฮ้าส์ ที่แม้ตลาดจะยังมีความต้องการซื้อ แต่เนื่องจากปัญหา “กู้แบงก์ไม่ผ่าน” ทำให้เซกเมนต์นี้มีแนวโน้มกลายเป็น “บ้านค้างสต๊อก” มากที่สุด เมื่อเทียบกับบ้านราคามากกว่า 3 ล้านบาทขึ้นไป
-ตัวอย่าง “คอนโดฯ หรู” ใจกลางเมือง ราคาเริ่มต้น 5.9 ล้านบาท-
- ไทยจะมีแต่ “บ้านหรู” เพราะซื้อง่าย-ขายคล่อง ส่วนใหญ่ “จ่ายสดงดเชื่อ”
แม้ว่าเซกเมนต์ใหญ่ของบ้านแนวราบ คือ “บ้านทาวน์เฮ้าส์” แต่จากยอดปฏิเสธสินเชื่อที่มากขึ้นทำให้หลังจากนี้เราอาจได้เห็นบรรดาผู้พัฒนาโครงการบ้านและคอนโดฯ หันไปจับตลาด “บ้านหรู” แทน “แสนผิน สุขี” อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม (ประเทศไทย) จำกัด เคยให้ข้อมูลกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า โครงการ “บ้านเดี่ยว” มีสัดส่วนยอดปฏิเสธสินเชื่อโดยเฉลี่ยราว 20% ถึง 30% เท่านั้น ที่สำคัญ ลูกค้ากลุ่มนี้มักซื้อบ้านด้วย “เงินสด” มากถึง 67% โดยมักเป็นบ้านเดี่ยวราคา 20 ล้านบาทขึ้นไป หลังจากนี้บริษัทเตรียมเปิดโครงการบ้านมูลค่าตั้งแต่ 15 ล้านบาท ไปจนถึงหลัก “ร้อยล้านบาท”
สอดคล้องกับความเห็นของ “วัชริน กสิณฤกษ์” กรรมการผู้จัดการสายงานปฏิบัติการ โครงการบ้านจัดสรร บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ที่ระบุว่า เซกเมนต์ที่จะลดลงคือ “บ้านทาวน์เฮ้าส์” เพราะเป็นตลาดที่มีความอ่อนไหวง่าย ขณะที่ “บ้านหรู” มีดีมานด์ในตลาดอยู่จริง ทำให้ผู้พัฒนาโครงการหันมาเจาะกลุ่มบ้านเดี่ยวมากขึ้น
นอกจากนี้ “บ้านต่ำ 3 ล้าน” ยังเสี่ยงเผชิญปัจจัยลบเรื่อง “ต้นทุน” ที่สูงขึ้นจากค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ราคาที่ดิน ค่าแรง ค่าวัสดุก่อสร้าง ฯลฯ ที่จะสูงขึ้นกว่าปี 2566 อย่างแน่นอน แม้ว่าปี 2566 จะถูกดีมานด์จากสองปีก่อนหน้า (ปี 2564 และปี 2565) ที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการผ่อนปรนต่างๆ ดูด “เรียลดีมานด์” ไปมากแล้ว แต่เมื่อเทียบกับปี 2567 ก็ยังนับว่า มีแนวโน้มการเติบโตสูงกว่าด้วยซ้ำไป ตลาดอสังหาฯ ในปีนี้จึงค่อนข้างน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะกลุ่ม “บ้านต่ำ 3 ล้าน” ที่ข้อมูลจาก “ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์” ระบุว่า ต่อไปราคาบ้านเหล่านี้ยังมีโอกาสจะปรับตัวสูงขึ้นอีกราว 5% ถึง 10%
-ทำเล “CBD” ใจกลางกรุงเทพมหานคร-
ขณะที่โครงการหรูบนทำเลใจกลางกรุงเทพย่าน “CBD” กลับได้รับความนิยม มี “ดีมานด์” มากกว่า “ซัพพลาย” ในตลาด เนื่องจากปัจจัยเรื่องที่ดินและความเชี่ยวชาญในการพัฒนาโครงการ ยกตัวอย่างเช่น คอนโดระดับ “ไพรม์” ย่านสุขุมวิทที่ในปี 2566 มียอดขายเฉลี่ยสูงถึง 80% เนื่องจากทำเลทองในการนำมาพัฒนาโครงการเหลือน้อยลงเต็มที แต่ความต้องการในทำเลและรูปแบบที่อยู่อาศัยดังกล่าวกลับยังพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ
โดยกลุ่มลูกค้าหลักมีทั้งชาวไทยฐานะมั่นคงที่เป็นผู้อยู่อาศัยจริง รวมถึง “ต่างชาติ” โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าชาวจีนที่ตลอดปี 2566 ยังคงครองแชมป์ซื้อคอนโดฯ ไทยอันดับ 1 และเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่ทั้งผู้พัฒนาโครงการและรัฐบาล “หวังพึ่ง” เป็นกำลังซื้อหลัก ในช่วงเวลาที่ “คนไทย” ยังติดหล่มในภาวะเศรษฐกิจซบเซาเช่นนี้
- “จีน” ครองแชมป์ แต่ “คนไทย” ยังเอื้อมไม่ถึง
รายงานสถานการณ์การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของชาวต่างชาติในไตรมาสที่ 3 ปี 2566 พบว่า มีจำนวนหน่วยรวมทั้งสิ้น 3,365 หน่วย รวมมูลค่า 17,048 ล้านบาท เพิ่มขึ้นในแง่ “จำนวนหน่วย” แต่ลดลงในแง่ของ “มูลค่าต่อหน่วย” และหากเทียบกับปี 2565 ในช่วงเวลาเดียวกันแล้วพบว่า มีมูลค่าซื้อขายเพิ่มขึ้นกว่า 31.6%
ที่น่าสนใจก็คือ รายงานฉบับดังกล่าวของ “ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์” ระบุว่า ห้องชุดคอนโดมิเนียมที่เป็นที่นิยมในกลุ่มชาวต่างชาติมากที่สุด คือกลุ่มราคา “ไม่เกิน 3 ล้านบาท” มีการโอนจำนวนหน่วยทั้งสิ้น 1,490 หน่วย โดยเป็นสัดส่วนที่ชาวต่างชาติซื้อมากที่สุดตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน รองลงมา คือระดับราคา “3 ล้านบาท ถึง 5 ล้านบาท” และระดับราคาที่มีการซื้อน้อยที่สุด คือห้องชุดราคา “7 ล้านบาท ถึง 10 ล้านบาท” มีการโอนกรรมสิทธิ์เพียง 179 หน่วยเท่านั้น
นอกจากบรรดาคอนโดฯ มือหนึ่งแล้ว คอนโดฯ มือสองทำเลทองบริเวณกรุงเทพฯ ชั้นในก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 สะท้อนให้เห็นว่า “ดีมานด์” ที่อยู่อาศัยทำเลย่าน “CBD” มีมากกว่า “ซัพพลาย” ในตลาดจริงๆ ซึ่งหากพิจารณาจากกฎหมายการถือกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์และที่ดินของชาวต่างชาติที่มีการระบุไว้ว่า ต้องไม่เกิน “49%” ของพื้นที่ทั้งโครงการก็นับว่า ยังมีชาวต่างชาติเข้ามาเป็นเจ้าของไม่มากนัก
ประเทศที่เป็นเจ้าของห้องชุดในไทยมากสุดตกเป็นของ “จีน” ที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ตลอด 9 เดือน (มกราคม - กันยายน 2566) จำนวน 4,991 หน่วย ตามมาด้วย “รัสเซีย” 962 หน่วย “สหรัฐ” 422 หน่วย “ไต้หวัน” 378 หน่วย และ “สหราชอาณาจักร” 372 หน่วย
หากเรานำทุกองค์ประกอบมาปะติดปะต่อกันจะพบว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ได้เกิดจากแบงก์ที่ไม่ปล่อยกู้ ไม่ได้เกิดจากคนรายได้น้อย-หนี้ท่วม ไร้วินัยการจับจ่ายจนไม่ผ่านเกณฑ์ “เครดิตสกอร์” ไม่ได้เกิดจากกฎหมายที่เอื้อให้ต่างชาติเข้ามาเป็นเจ้าของ แต่ใจกลางของเรื่องนี้ คือเศรษฐกิจไทยที่ย่ำแย่จนทำให้วิธีการแก้ไข ณ ตอนนี้เป็นการ “ลูบหน้าปะจมูก” มากกว่าขุดลึกไปที่รากของปัญหา
ในขณะที่ราคาสินค้าแพงขึ้นแต่รายได้คนทำงานกลับเท่าเดิม ทำให้การก่อหนี้ ทั้ง “หนี้ดี” และ “หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้” มากขึ้น จนทำให้หลายคน “ชักหน้าไม่ถึงหลัง” มีบ้านก็ผ่อนไม่ไหว มีรถก็ต้องปล่อยให้แบงก์ยึด สถาบันทางการเงินที่เป็นผู้อนุมัติสินเชื่อต้องรัดกุมในการรักษาระดับ “หนี้เสีย” ด้วยนโนบายที่เข้มงวดมากขึ้น ผู้ประกอบการบ้าน-คอนโดฯ ขายไม่ออกเพราะคนไทยถูกปฏิเสธสินเชื่อจึงต้องการกำลังซื้อจากต่างชาติในการ “ประคองตัว” กลายเป็นวงกลมที่ไม่มีจุดสิ้นสุด
ปี 2567 ที่ถูกประมาณการว่า เป็นปีแห่งการ “เผาจริง” จากสารพัดปัจจัยรุมเร้าทั่วโลกที่ดำเนินเรื่อยมา อาจเป็นอีกปีที่วงการอสังหาฯ ต้องเผชิญกับความท้าทายว่า จะตีโจทย์ที่สลับซับซ้อนเหล่านี้อย่างไร ขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจไม่สามารถแก้ไขที่นโยบายการเงินเพียงอย่างเดียวได้ การเข้าถึงอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบอื่นๆ นอกจากการ “กู้ซื้อ” อย่างการเช่า หรือนโยบาย “Public Housing” ที่อุดหนุนโดยรัฐจะช่วยให้ปมปัญหาเหล่านี้คลี่คลายได้มากน้อยเพียงใด คงเป็นเรื่องที่ผู้พัฒนาโครงการและภาครัฐต้องหาทางออกกันต่อไป
อ้างอิง: Bangkokbiznews 1, Bangkokbiznews 2, Bangkokbiznews 3, Bangkokbiznews 4, Bangkokbiznews 5, Bangkokbiznews 6, Bangkokbiznews 7, BOT, Daily News, Infoquest, Longtunman, Matichon 1, Matichon 2, Matichon 3, MGR Online 1, MGR Online 2, Money Buffalo, Prachachat, REIC 1, REIC 2, REIC 3, REIC 4, REIC 5, REIC 6, REIC 7, REIC 8, Thairath Money