คลื่นลงทุนย้ายฐาน ดันไทยขึ้นแท่นเบอร์ 1 ฐานผลิต ‘PCB’ ในอาเซียน
บีโอไอเผย 2 ปีหลังโควิดไทยรับคลื่นลงทุนใหญ่ ดันไทยขึ้นแท่นฐานผลิต PCB อันดับ 1 ในอาเซียน ช่วง 11 เดือน ปี 66 ขอส่งเสริมลงทุนกว่า 9.6 หมื่นล้าน ผนึกสมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไทย เตรียมจัดงานแสดงสินค้าและบริการวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (เทกก้า) เปิดเวทีโชว์เคสเชื่อมซัพพลายเชนระดับโลก
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมายาวนานกว่า 40 ปี และเป็น 1 ใน 5 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ที่บีโอไอให้ความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ทั้ง PCB (Printed Circuit Board) และ PCBA (Printed Circuit Board Assembly) ที่เป็นหัวใจสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเป็นพื้นฐานในการต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายอื่นๆ
อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โทรคมนาคม อุปกรณ์การแพทย์ เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ คอมพิวเตอร์ ระบบดิจิทัล ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ และเทคโนโลยีอากาศยาน รวมถึงเป็นส่วนสำคัญในการช่วยสนับสนุนการยกระดับประเทศไทยไปสู่อุตสาหกรรม 5.0 และระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม
สำหรับการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB และ PCBA) ในช่วง 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ปี 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 38 โครงการ เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปีก่อนหน้า คิดเป็นมูลค่าลงทุนกว่า 96,000 ล้านบาท ขยายตัวกว่า 6 เท่า โดยเป็นทั้งการลงทุนใหม่และการขยายลงทุนอย่างต่อเนื่อง ขณะที่โครงการที่ขอรับส่งเสริมลงทุนตั้งแต่ปี 2561-พ.ย. 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 106 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 150,557 ล้านบาท
“ในช่วง 2 ปี หลังโควิด โดยเฉพาะปี 2566 เป็นปีที่มีโครงการขอส่งเสริมลงทุนในกิจการ PCB ขยายตัวมากที่สุดและเป็นกิจการที่มีขอรับส่งเสริมลงทุนมากที่สุด เนื่องจากปัจจัยเรื่องความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์และสงครามการค้าที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น ทำให้อุตสาหกรรม PCB จำเป็นต้องหาแหล่งลงทุนใหม่เพื่อลดความเสี่ยง และไทยเป็นคำตอบนั้น”
ปัจจุบันมีนักลงทุนรายใหญ่ของโลกเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญ ทำให้ไทยกลายเป็นฐานการผลิต PCB อันดับ 1 ของอาเซียน และเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค รองจากจีน
โดยกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ที่ขยายการลงทุนในไทยต่อเนื่อง อาทิ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) บริษัท เอเพ็กซ์ เซอร์คิต (ไทยแลนด์) บริษัท เคซีอี อิเลคโทรนิคส์บริษัท แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย)
นอกจากนี้ ยังมีนักลงทุนกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำรายใหม่จำนวนมากที่ได้ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทย จากจีน ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น อาทิ บริษัท Zhen Ding Technology (ZDT), บริษัท ยูนิไมครอน (ประเทศไทย), บริษัท คอมเปค (ประเทศไทย)
“ทั้งนี้ บีโอไออยู่ระหว่างการเจรจากับ Top Players รายอื่นๆ ให้เข้ามาตั้งฐานผลิตในไทย รวมทั้งส่งเสริมการขยายลงทุนของรายเดิม โดยให้สิทธิประโยชน์เป็นขั้นบันไดสำหรับการลงทุนเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนสูง ขณะเดียวกันยังส่งเสริมผู้ผลิตไทยให้เกิดการจับคู่ธุรกิจและเข้ามาอยู่ในซัพพลายเชนระดับโลก”
นอกจากนี้ บีโอไอ ร่วมกับ สมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไทยและสมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ฮ่องกง ร่วมจัดงานแสดงสินค้าและบริการวงจรอิเล็กทรอนิกส์แห่งเอเชีย หรือ เทกก้า (Thailand Electronics Grcuit Asia - THECA) ครั้งแรกของไทย ที่รวบรวมนวัตกรรม เทคโนโลยี และผู้ประกอบการแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องจากทั่วโลกมาจัดแสดงในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 24 - 26 ก.ค. 2567 ณ อาคาร EH101 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ประเทศไทย เพื่อประกาศจุดยืนสำคัญต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย ในการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็น "ฐานการผลิตแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำในตลาดโลก"
นายพิธาน องค์โมษิต นายกสมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่มีมูลค่ากว่า 4.7 หมื่นล้านบาท คาดว่าภายในปี 2568 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 2.7 แสนล้านบาท เติบโตเกือบ 6 เท่าตัว ตามทิศทางความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว
“ช่วงเวลานี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่นักลงทุนต่างประเทศอยู่ระหว่างการตัดสินใจย้ายฐานการผลิตเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของสงครามการค้า และไทยก็เป็นฐานผลิตที่น่าสนใจในภูมิภาคอาเซียนด้วยความพร้อมของบุคคลากร โครงสร้างพื้นฐานทั้งน้ำและไฟฟ้า ซัพพลายเชนในประเทศที่แข็งแกร่ง”
ดังนั้น การจัดงานแสดงสินค้าและบริการวงจรอิเล็กทรอนิกส์แห่งเอเชีย หรือ เทกก้าครั้งนี้ จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุน การสร้างโอกาสทางธุรกิจ โดยจะเป็นเวทีสำคัญที่จะประกาศให้บริษัททั่วโลกรับรู้ว่าไทยพร้อมเป็นฐานการผลิต PCB เชื่อมโยงซัพพลายเชนที่แข็งแกร่ง นำไปสู่การสร้างงาน สร้างเงิน และสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศชาติได้เป็นอย่างดีต่อไป
ทั้งนี้ ภายในงาน เทกก้า ยังมีงานประชุมวิชาการและปฏิบัติการระดับนานาชาติหลากหลายหัวข้อ จัดโดยสมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ฮ่องกง โดยมีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนแนวความคิด ผลงานวิจัยและพัฒนา สร้างสรรค์เทคโนโลยี การผลิตอัจฉริยะและปัญญาประดิษฐ์ สร้างเครือข่ายผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่าต่อการลงทุนมากที่สุด