เปิด 3 ปมขย่มแบงก์ชาติ ‘นายกฯ-ผู้ว่า’ นัดเคลียร์ หารือแบบผู้ใหญ่คุยกัน
เปิดความเห็นขัดแย้ง "เศรษฐา-ธปท." 3 ประเด็น “เงินดิจิทัล-ดอกเบี้ยสูงสสวนเงินเฟ้อ-หั่นจีดีพี” นัดหารือผู้ว่า ธปท.เคลียร์ประเด็นดอกเบี้ยสูง พร้อมกล่อมข้อมูลเศรษฐกิจหลังสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป
Key Points
- ความเห็นทางเศรษฐกิจที่แย้งกันระหว่างนายกรัฐมนตรีและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นำมาสู่การเชิญผู้ว่าฯ เข้ามาหารือที่ทำเนียบรัฐบาล
- ที่ผ่านมามีความเห็นแย้งกันหลายประเด็น เช่น การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในทิศทางขาลง ถือเป็นต้นทุนของผู้มีเงินกู้
- นายกนัฐมนตรีเชิญผู้ว่าฯ มาหารือเป็นครั้งที่ 2 เพื่อชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป และเห็นว่าไม่ควรมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย
ความเห็นแย้งทางเศรษฐกิจระหว่าง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมาเป็นระยะนับตั้งแต่นายเศรษฐาเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีจะออกมายืนยันว่ารัฐบาลไม่มีความขัดแย้งในการทำงานร่วมกัน แต่ยังคงมีข่าวการปลดผู้ว่า ธปท.ออกมาเป็นระยะ หลังจากมีประเด็นที่รัฐบาลและ ธปท.มีความเห็นแย้งกันใน 3 ประเด็น คือ
1.การแจกเงินดิจิทัล โดย ธปท.เห็นว่าไม่ควรแจกเป็นการทั่วไป ในขณะที่ช่วงแรกรัฐบาลมีนโยบายแจกให้คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน จะใช้งบประมาณ 500,000 ล้านบาท
2.การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งรัฐบาลเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยมีทิศทางลดลงมาตั้งแต่ช่วงครึ่งปลังของปี 2566 ในขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% รวมเป็น 2.50% เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2566 และในการประชุม กนง.วันที่ 29 พ.ย.2566 ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
3.การลดเป้าหมาย GDP ในขณะที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดย กนง.มีมติขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 27 ก.ย.2566 มาอยู่ที่ 2.50% และในขณะที่ปรับลดประมาณการณ์ GDP เหลือ 2.8% ซึ่งรัฐบาลเห็นแย้งการขึ้นดอกเบี้ยสวนทางการลดเป้า
การเห็นต่างระหว่างรัฐบาลและ ธปท.นำมาสู่แนวปฏิบัติของนายเศรษฐา ในการเชิญผู้ว่า ธปท.มาหารืออย่างไม่เป็นทางการที่ทำเนียบรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีตั้งใจที่จะหารือลักษณะนี้เดือนละ 1 ครั้ง และหารือครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 2 ต.ค.2566การหารือครั้งดังกล่าว นายกรัฐมนตรีให้คำนิยามว่า “เป็นการหารือของผู้ใหญ่ 2 คนคุยกัน” โดยเป็นการหารือในฐานะที่ ธปท.เป็นผู้ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ รวมทั้งยืนยันว่า ไม่ใช่การจัดฉากและไม่มีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและ ธปท.
ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ม.ค.2567 นายกรัฐมนตรี ออกมาระบุถึงใช้นโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยกระทบเศรษฐกิจและมีผลต่อประชาชน
"ดอกเบี้ยสวนทางกับเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงกระทบเศรษฐกิจ และคาดหวังแบงก์ชาติจะดูแลประชาชนไม่ขึ้นดอกเบี้ยสวนทางเงินเฟ้อ"
หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ว่า ระหว่างรัฐบาลและ ธปท.หารือกันต่อเนื่องเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งมีจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ก็ถือเป็นอำนาจของ ธปท.
สถานการณ์ดังกล่าวนำมาสู่การที่นายกรัฐมนตรีเชิญผู้ว่า ธปท.มาหารืออย่างไม่เป็นทางการที่ทำเนียบรัฐบาลเป็นครั้งที่ 2 เพื่อหารือเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยและปัญหาหุ้นกู้ผิดนัดชำระ
นายเศรษฐา ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 ม.ค.2567 ว่า จะมีการหารือกับผู้ว่า ธปท.ในวันที่ 10 ม.ค.2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล ในหลายประเด็นที่ให้ความสำคัญเพื่อนำข้อมูลมานำเสนอกัน รวมทั้งจะหารือกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังด้วย
สำหรับประเด็นความเห็นต่างเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นายเศรษฐา กล่าวว่า คนอยู่บ้านเดียวกันเห็นไม่ตรงกันก็หลายอย่าง ซึ่งเชื่อว่าหลายฝ่ายมีจุดประสงค์เดียวกัน คือ ต้องการให้ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น แต่การปฏิบัติการหรือนโยบายมันมีความเห็นไม่ตรงกันบ้างเป็นธรรมดาจึงต้องมีการพูดคุยกัน
“เดือน ธ.ค.ไม่ได้พูดคุยกัน แต่ยกหูโทรศัพท์คุยกัน ผมนัดไปเมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา และผู้ว่า ธปท.ตอบรับโดยดี ไม่มีเรื่องอะไร เป็นเรื่องที่เห็นไม่ตรงกัน แน่นอนไม่ปฏิเสธว่าเห็นตรงกันทุกเรื่อง ผมเชื่อว่าผู้ว่าเห็นตรงกันกับผมบางเรื่อง ผมเห็นตรงกับผู้ว่าบางเรื่อง แต่บางเรื่องเห็นไม่ตรงกัน เหตุการณ์ก็เปลี่ยนไปเยอะ เป็นหน้าที่ผมที่ต้องโน้มน้าวความคิดเห็นของผู้ว่าถึงเหตุการณ์เปลี่ยนไป คนที่อยู่ร่วมกันธรรมดา เราก็ต้องพูดคุยกันเป็นธรรมดา“ นายกฯ กล่าว
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในประเด็นดอกเบี้ยนโยบายคาดว่านายกรัฐมนตรีอาจใช้โอกาสในการประชุมร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 เพื่อหารือสถานการณ์ดอกเบี้ย ซึ่งมีทั้งสำนักงบประมาณ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าร่วมประชุม