แผนที่ฝุ่น PM 2.5 บนอินเทอร์เน็ต เชื่อได้แค่ไหน

แผนที่ฝุ่น PM 2.5 บนอินเทอร์เน็ต เชื่อได้แค่ไหน

แทนที่จะรายงานค่าฝุ่นเป็นแค่ตัวเลข PM 2.5 โดดๆ ก็ให้กำหนดบังคับให้รายงานเป็นค่า PM 2.5/24hr. (มี 24hr. ต่อท้าย)ที่จะหมายถึงเฉพาะตัวเลขที่เป็นค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ตัวเลขใดที่ไม่ได้แสดงผลเป็น PM2.5/24hr. นั่นไม่ให้นับเป็นผลวัดที่จะนำมาเทียบกับมาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง

ก่อนอื่นเราขอปูพื้นฐานให้เข้าใจกันก่อนว่า การตั้งมาตรฐานสารพิษหรือวัตถุอันตรายใดๆ ที่มีผลลบต่อสุขภาพ เช่น พวกโลหะหนัก ปรอท แคดเมียม ตะกั่ว หรือยาฆ่าแมลง  มีหลักคิดทางวิทยาศาสตร์สุขภาพมีอยู่ว่าสารอะไรก็ตามที่อันตรายต่อสุขภาพจะมีความอันตรายอยู่ 2 ระดับ คือ 

(1) ระดับที่รุนแรงทันที อาจถึงตายได้ในเวลาไม่นาน 

(2) ระดับที่ต้องใช้เวลาสะสมสารพิษนั้นในร่างกายเป็นเวลานานกว่าที่จะมีผลต่อสุขภาพ  แต่ไม่ได้ตายทันที เช่น เป็นมะเร็งเรื้อรังแล้วมาตายเอาในภายหลัง  ความเข้มข้นของสารในกรณีแรกจะสูงกว่าแบบที่สองอย่างมาก  อาจเป็นสิบ เป็นร้อย เป็นพันเท่า แล้วแต่ความเป็นพิษของสารนั้นๆ

มาตรฐานฝุ่น PM2.5 ที่กำหนดกันทั่วโลกรวมทั้งเกณฑ์แนะนำขององค์การอนามัยโลกและมาตรฐานของไทยได้ใช้หลักการแบบพิษสะสมหรือแบบที่สอง และคำนึงถึงระยะเวลาสัมผัสด้วย

เนื่องจากค่าฝุ่นที่วัดได้อาจสูงในบางช่วงเวลา เช่น ตอนเช้ามืดแต่มาลดต่ำลงในบางช่วงเวลา เช่น ตอนบ่ายที่อากาศร้อน ตลอดจนยังมีการแปรผันของฝุ่นตามฤดูกาลอีกด้วย

เช่น หน้าหนาวค่าฝุ่นสูง หน้าร้อนค่าฝุ่นต่ำ สากลจึงกำหนดค่ามาตรฐานของฝุ่น PM2.5 เป็นค่าเฉลี่ยของทั้งวันหรือ 24 ชั่วโมงที่ได้รับฝุ่น  เช่น ไทยกำหนดไว้ที่ 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรของอากาศที่หายใจเข้าไป ในทั้งหมด 24 ชั่วโมงนั้น

สากลได้บ่งไว้ชัดด้วยว่าค่าที่วัดได้และจะนำมาเทียบกับมาตรฐาน 24 ชั่วโมงได้นั้นต้องเป็นค่าที่วัดต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง แล้วเอาค่าที่วัดได้ใน 24 ชั่วโมงนั้นมาหาเป็นค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงเสียก่อน 

ทั้งนี้จะเอาตัวเลขที่วัดได้ในนาทีนั้นชั่วโมงนั้นมาเทียบกับมาตรฐาน 24 ชั่วโมงไม่ได้  แต่เท่าที่ปรากฏก็ยังมีคนทำเช่นนั้นอยู่มาก  ซึ่งต้องขอย้ำแล้วย้ำอีกว่าการทำเช่นนั้นไม่ถูกต้องตามหลักวิชา

ปัจจุบันมีบริษัทขายอุปกรณ์ขนาดเล็กที่ใช้วัดฝุ่น(sensor)ได้อย่างง่ายๆ  ถ้าเราใช้อุปกรณ์ประเภทนั้นมาวัดฝุ่น ข้อมูลที่เราแต่ละคนวัดได้ในนาทีนั้นถ้าเราสมัครใจจะถูกส่งไปบนคลาวด์

แล้วบริษัทก็จะเอาข้อมูล ณ นาทีนั้นที่วัดได้จากทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกบนคลาวด์มาแปลงเป็นค่า AQI จากนั้นสร้างเป็นแผนที่สีของ AQI ของฝุ่น PM2.5 ที่จุดต่างๆ แล้วนำไปโพสต์บนอินเทอร์เน็ตดังที่ปรากฏและสืบค้นหากันได้ไม่ยาก

การทำเช่นนี้ทำให้สังคมเข้าใจผิดเพราะมันผิดหลักการทางวิทยาศาสตร์สุขภาพดังที่กล่าวมาข้างต้น 

ตัวบริษัทเองก็ตระหนักดีถึงข้อแย้งนี้ บางบริษัทจึงได้ออกแถลงการณ์ออกตัวทำนองปัดข้อแย้งนี้ออกจากตัวว่า “AQI ของเราคํานวณเป็นรายชั่วโมงและอัปเดตทุกชั่วโมง  เว็บไซต์อื่น ๆ อีกมากมายคํานวณในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน  สิ่งสําคัญคือต้องเข้าใจพื้นฐานของการคํานวณข้อมูล เพื่อเปรียบเทียบกันระหว่างแอปเปิ้ลกับแอปเปิ้ล”

ที่ทุกคนต้องเข้าใจให้มากไปกว่านั้น คือ แม้ที่ค่าความเข้มข้น PM2.5 เดียวกัน  ค่า AQI ของแต่ละประเทศก็อาจไม่เท่ากัน  ระดับสีก็ไม่เหมือนกัน  ขึ้นอยู่กับค่ามาตรฐานอากาศของแต่ละประเทศ  ผู้สนใจในสาระ PM2.5 ทั้งหมดนี้สามารถหาอ่านได้จากบทความ ”ดราม่า เรื่อง PM2.5” ที่มีอยู่ 10 กว่าตอน  (https://thaipublica.org)

อย่างไรก็ตาม ในทุกสังคมย่อมมีบางคนที่สุขภาพไม่ดีเรื้อรัง หรือเป็นเด็กเล็กหรือคนสูงวัยที่เปราะบางหรือไวต่อฝุ่นมากกว่าคนแข็งแรงหนุ่มสาว  จึงมีข้อห่วงใยต่อคนกลุ่มนี้ในบางช่วงเวลาที่ค่าฝุ่นสูงมาก

ซึ่งถ้าจะมีมาตรฐานสำหรับคนกลุ่มนี้ในช่วงเวลาวิกฤติเช่นนั้นก็ต้องเป็นมาตรฐานแบบแรกคือรุนแรงเกือบทันที  ปัญหาคือยังไม่มีการกำหนดให้มีมาตรฐานแบบเฉียบพลันรายชั่วโมง  แม้แต่องค์การอนามัยโลกเองก็ยังไม่ได้กำหนดเกณฑ์แนะนำสำหรับ PM2.5 รายชั่วโมงนี้

ดังนั้น การที่เราไปดูแผนที่สีและ AQI ของ PM2.5 รายชั่วโมงของพื้นที่หนึ่งๆ ที่บริษัทหรือองค์กรหนึ่งๆ จัดทำขึ้น  แล้วเห็นเป็นสีแดงสีส้ม แล้วมีความคิดหรือความวิตกแตกต่างกันไปนั้นจึงไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ 

ที่น่ากังวลไปกว่านั้นคือยังมีนักวิชาการในเมืองไทยและต่างประเทศบางคนยังอิงกับแผนที่ที่บริษัทหรือองค์กรนั้นทำขึ้นอย่างคลาดเคลื่อนนี้ แล้วเอามาวิเคราะห์รวมทั้งทำนายผลกระทบที่จะเกิดขึ้น อันก่อให้เกิดความสับสนเข้าใจผิดแก่สังคมอย่างไม่ควรเป็น

ณ บริบทปัจจุบัน เราจึงอยากเสนอแนะว่าหากผู้ใดต้องการจะดูแผนที่ฝุ่นเพื่อความสะดวกหรือเพื่อระวังตัวหรืออะไรก็ตามที ให้ดูแผนที่ AQI ฝุ่นเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ที่หน่วยงานรัฐ เช่น กรมควบคุมมลพิษหรือกรุงเทพมหานครจัดทำขึ้นอย่างเป็นทางการ จะถูกต้องกับความเป็นจริงและหลักการทางวิทยาศาสตร์สุขภาพมากกว่า

ค่าฝุ่น pm2.5

รูปที่ 1 และ 2 เป็นการเปรียบเทียบตัวอย่างแผนที่ของผลวิเคราะห์ PM2.5 เฉลี่ยรายชั่วโมงที่วิกฤติและเฉลี่ยรายวันของต่างองค์กรกัน  ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่ารูปและสีในแผนที่ทั้งสองนี้สามารถทำให้สังคมเข้าใจ (ผิด) และเกิดความรู้สึกที่ต่างกันได้มากมาย

อย่างไรก็ตาม หากต้องการที่จะแก้ปัญหาที่กล่าวมาให้เบ็ดเสร็จเราก็ขอนำเสนอต่อภาครัฐโดยเฉพาะกรมควบคุมมลพิษ ให้รัฐกำหนดเป็นมาตรฐานในการรายงาน

คือ  แทนที่จะรายงานเป็นแค่ตัวเลข PM2.5 โดดๆ ก็ให้กำหนดบังคับให้ทุกคนรายงานเป็นค่า PM 2.5/24hr. (มีตัวเลข 24hr. ต่อท้าย) ที่จะหมายถึงเฉพาะตัวเลขที่เป็นค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง  

ตัวเลขใดที่ไม่ได้แสดงผลเป็น PM2.5/24hr. นั่นไม่ให้นับเป็นผลวัดที่จะนำมาเทียบกับมาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงได้

ด้วยมาตรการนี้ เราก็จะเห็นความแตกต่างของตัวเลขความเข้มข้นของ PM2.5 และ AQI รวมทั้งแผนที่สีได้ง่ายๆ บนพื้นฐานที่ถูกต้องเดียวกัน และความเข้าใจของสังคมก็จะดีขึ้น ความสับสนก็จะลดลงได้โดยปริยาย

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองและเตือนภัยประชาชนกลุ่มเปราะบางต่อการสัมผัสฝุ่น PM2.5 เช่น คนที่เป็นโรคภูมิแพ้หรือหอบหืด เด็ก และผู้สูงวัย รัฐควรสนับสนุนงบประมาณสำหรับการวิจัยเพื่อที่จะเร่งพัฒนากำหนดค่าแนะนำหรือค่ามาตรฐานสำหรับความเข้มข้น PM2.5 เฉลี่ย 1 ชั่วโมงสำหรับประเทศไทยออกมาด้วยในเร็ววัน

ถ้ารัฐไทยนำข้อคิดนี้ไปนำเสนอในระดับนานาชาติให้ใช้ตามเรา  ไทยเราก็จะได้เครดิตในการนำเสนอข้อมูลฝุ่นอย่างถูกต้องเช่นว่านี้ได้มากโขทีเดียว

ผู้เขียน

  • ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ 

ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

  • ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา

อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ

  • รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล

สมาคมคุณภาพอากาศ​ ภูมิอากาศ และสุขภาวะ (ประเทศไทย)