‘ศุภวุฒิ’ห่วง‘ดอกเบี้ยสูงเกินไป’ หวั่นฉุด‘เศรษฐกิจดิ่ง’ครึ่งหลัง
“ศุภวุฒิ” มองดอกเบี้ยปัจจุบันสูงเกินไป ย้ำควร “ลดดอกเบี้ย” นานแล้ว “ไม่ควรขึ้น” ชี้อัตราเหมาะสม เป็นกลางกับเศรษฐกิจไทย อยู่ระดับ 0-1% ภายใต้เงินเฟ้อ 0.4% หวั่นกรณี “ไม่ลดดอกเบี้ย” ครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยอาจอ่อนแรงลง
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวในงานสัมมนา “KKP Year Ahead 2025 : Opportunities Unbounded” กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันต้องยอมรับว่า “ไทย” อยู่ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่เติบโตช้าลงเรื่อยๆ ประเทศที่พัฒนาแล้วการขยายตัวของ “จีดีพี” ต่ำลง
ดังนั้น โจทย์ของเศรษฐกิจไทยวันนี้ เศรษฐกิจอาจโตช้าลง และดอกเบี้ยอาจไม่ได้ลงเร็วเหมือนอย่างที่คิด
ยิ่งไปกว่านั้น “นโยบายทรัมป์” ทุกนโยบายเสมือนการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็เป็นนโยบายที่กำลังจะทำให้เกิดความแตกแยกของโลก ภายใต้ความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นอีกมากมายหลักจากนี้
ดังนั้น มองว่า หลังวันที่ 20 ม.ค.2568 หลังจากการรับตำแหน่งของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ จะเกิด “Paradigm shift” การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของสหรัฐและของโลกที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้
หากดูภาพของเศรษฐกิจไทยมองว่า หลังจากนี้จะเป็นการฟื้นตัวอย่างกระท่อนกระแท่นที่ชัดเจนมากขึ้น แม้ครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ดี แต่ในครึ่งปีหลังมองว่าจะขยายตัวจำกัดมากขึ้น
ภายใต้การสนับสนุนจากภาคการคลังที่จำกัด หากแบงก์ชาติ หรือคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ไม่ลดดอกเบี้ย หรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยนโยบายจากเลย ก็อาจทำให้เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง เผชิญความท้าทายมากขึ้น โดยเฉพาะท่ามกลางที่มีผลกระทบจากนโยบายทรัมป์ที่เข้ามากระทบค่อนข้างมากตั้งแต่ครึ่งปีหลังเป็นต้นไป รวมถึงการทำสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ การชนกันระหว่างยักษ์ใหญ่ อาจทำให้เศรษฐกิจยิ่งน่าห่วงว่า อาจอ่อนแรงลงในครึ่งปีหลังปีนี้
“หากแบงก์ชาติไม่ลดดอกเบี้ย เราคงไม่วิกฤติหรอกแต่การฟื้นตัวเศรษฐกิจจะยากขึ้น เศรษฐกิจไทยหลังคิดเป็นต้นมาเราฟื้นตัวกระท่อนกระแท่นมาโดยตลอด วันนี้ก็ยังกระท่อนกระแท่น ซึ่งน่าห่วง เพราะหากเศรษฐกิจยิ่งโตช้า ก็เหมือนถีบจักรยานช้า เราก็อาจล้มได้ เหมือนเศรษฐกิจหากถีบผิดจังหวะก็อาจล้มได้ ดังนั้นต้องถีบให้พอดี”
ดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยต้องอยู่ที่ 0-1%
หากดูภาพดอกเบี้ยนโยบาย มองว่า ควรลดลง และควรลดลงตั้งนานแล้ว และมองว่าไม่มีเหตุจำเป็นที่แบงก์ชาติต้องขึ้นดอกเบี้ยขึ้นมาสู่ 2.50% หลังจากโควิด-19 อีกทั้งหากดูภายใต้เงินเฟ้อปัจจุบัน ที่ปี 2567 ขยายตัวเพียง 0.4% ดอกเบี้ยปัจจุบันก็ถือว่าสูงเกินไป จนทำให้ดอกเบี้ยที่แท้จริง หรือ Neutral rate หรือดอกเบี้ยที่เป็นกลางของเศรษฐกิจสูงเกินไป โดยอยู่ที่ปัจจุบัน 2%
ซึ่งสูงกว่าในอดีต หากเทียบกับก่อนหน้าโควิด ที่เศรษฐกิจไทยเติบโตไม่ถึง 3% ดังนั้นมองว่า ภายใต้เศรษฐกิจไทยที่เติบโตระดับ 3% ดอกเบี้ยที่แท้จริง (เมื่อหักเงินเฟ้อแล้ว) ควรจะอยู่ที่ 0-1% เท่านั้น หรือหากเงินเฟ้อปีนี้มาอยู่ที่ 1% แปลว่าดอกเบี้ยที่แท้จริงควรอยู่ที่ 1-2% ที่ถือเป็นระดับที่เหมาะสม
“ตัวเลขคร่าวๆ ดอกเบี้ยที่แท้จริงควรต่ำกว่า 2% หากธปท.ประเมินว่าเงินเฟ้อจะเข้ากรอบ 1% แปลว่าดอกเบี้ยจะอยู่สูงสุดเพียง 2% เท่านั้น หรือหากดูเงินเฟ้อปัจจุบัน ดอกเบี้ยที่เหมาะสมก็ควรจะอยู่แค่ 0-1% แต่สุดท้ายก็ต้องดูว่าเงินเฟ้อเข้ากรอบที่เท่าไหร่ด้วย”
“เงินเฟ้อ”เหมาะสมของไทยค่ากลางที่ 2%
อย่างไรก็ตาม มองว่าเงินเฟ้อที่เหมาะสมของไทย ควรจะมีการกำหนดค่ากลางที่ 2% ไม่ใช่กรอบปัจจุบันที่ 1-3% เพราะกรอบดังกล่าวกว้างเกินไป และที่ผ่านมา เงินเฟ้อต่ำเป้ามาโดยตลอด ทำให้แบงก์ชาติต้องเขียนจดหมายถึงรัฐมนตรีคลังเพื่ออธิบายที่เงินเฟ้อตกกรอบล่างมาอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น ควรมีการกำหนดค่ากลางของเงินเฟ้อที่ 2% เป็นเป้าเดียวกับหลายประเทศที่ใช้อยู่ที่ 2% เพื่อทำให้เงินเฟ้อไม่ต่ำเกินไป หรือสูงเกินไป เพราะหากเงินเฟ้อสูงเกินไป หรือโดยเฉพาะหากต่ำเกินไป อาจทำให้เศรษฐกิจต้องเผชิญกับภาวะเงินฝืดเข้าครอบงำ
หนุนแนวคิดฟื้น LTF ดีต่อตลาดหุ้นไทย
สำหรับแนวคิดที่จะให้การกลับมาพิจารณาต่ออายุกองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) นั้น มองว่า อีกด้านจะเป็นประโยชน์กับตลาดหุ้นไทย ส่งเสริมให้การระดมทุนกลับมาคึกคักมากขึ้น แต่ภาครัฐอาจเสียประโยชน์ ซึ่งต้องยอมเสียรายได้จากภาษี เพื่อกระตุ้น และส่งเสริมให้เกิดการลงทุน
อย่างไรก็ตาม มีบางกลุ่มมองว่า อาจไม่ยุติธรรมกับบางกลุ่ม หรือผลประโยชน์อาจไม่เต็มที่ เพราะการต่ออายุ LTF คนที่ได้ประโยชน์จะมีจำกัดเฉพาะกลุ่มเท่านั้น เช่น ปัจจุบันคนไทยที่อยู่ในระบบแรงงาน 30-40 ล้านคน แต่พบว่ามีคนเสียภาษีเพียง 3-4 ล้านคนเท่านั้น ดังนั้น มาตรการนี้อาจจูงใจกลุ่มนี้ 3-4 ล้านคน ให้ลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยื่นภาษีอยู่แล้ว แต่ก็อาจไม่ได้ชักจูงคนนอกระบบให้เข้ามาสู่ระบบภาษีอยู่ดี
สุดท้ายแล้วประเทศไทยจะอยู่รอดอย่างไร ท่ามกลางโลกที่มีการแบ่งแยกทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยมองว่า ประเทศไทยควรสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว ควรขยายการท่องเที่ยวไปสู่สุขภาพ และขยายไปสู่อาหารเพื่อสุขภาพด้วย รวมถึงการทำให้ประเทศไทยเป็นโลจิสติกส์ฮับเพื่อส่งออกหารไปจีน หรือประเทศต่างๆได้มากขึ้น
“มองว่า อนาคตของประเทศไทยเราต้องขยายการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ลิงค์ไปสู่อาหารเพื่อสุขภาพ และทำให้เราเป็นโลจิสติกส์ฮับ ส่งอาหารไปจีน เพราะจีนต้องการอาหารอีกมาก และไทยมีความเก่ง มีความสามารถในการผลิตอาหาร ดังนั้นหากจะทำให้ประเทศเติบโตท่ามกลางโลกที่แบ่งแยกมากขึ้น เราต้องหันมาเน้นเรื่องบริการมากขึ้น”