‘อารักษ์’ ปักหมุด ‘เอสซีบีเอกซ์’ โตสองเด้ง จากธุรกิจ Gen2-3 หนุนองค์กร

‘อารักษ์’ ปักหมุด ‘เอสซีบีเอกซ์’ โตสองเด้ง จากธุรกิจ Gen2-3 หนุนองค์กร

‘อารักษ์’ เข็นธุรกิจเจนสอง-เจนสาม ปักหมุดดัน ‘เอสซีบีเอกซ์’โตสองเด้ง ตั้งเป้าปี68 ธุรกิจทุกบริษัทต้องมี “กำไร” ตอกย้ำสู่เป้ากลุ่มเทคโนโลยีการเงินชั้นนำภูมิภาค

‘อารักษ์’ ปักหมุด ‘เอสซีบีเอกซ์’ โตสองเด้ง จากธุรกิจ Gen2-3 หนุนองค์กร การดำเนินธุรกิจภายใต้ “เอสซีบีเอกซ์” หรือยานแม่ของกลุ่ม ที่ดำเนินการมาแล้วกว่า 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2564 วันนี้เริ่มผลิดอกออกผล แม้วันนี้อู่ข้าวอู่น้ำจะยังคงมาจาก ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่เป็นธุรกิจดั้งเดิมที่สร้างรายได้ให้กับองค์กร

แต่หลังจากนี้จะเริ่มเห็น ส่วนต่างๆ ขององค์กรทั้งที่ตั้งขึ้นมาใหม่ การแยกออกไปเริ่มกลับมาอยู่ตัว และมี “ผลกำไร” ให้ชื่นชมได้แล้ว

ล่าสุด สัมภาษณ์พิเศษ “อารักษ์ สุธีวงศ์” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เดต้าเอกซ์ จำกัด (DataX) ที่จะมาฉายภาพองค์กร “เอสซีบีเอกซ์” ให้ชัดเจนขึ้น

“อารักษ์” เริ่มฉายภาพองค์กร “เอสซีบี เอกซ์” ว่า วันนี้แบ่งเป็น 3 กลุ่มธุรกิจ ธุรกิจแรกมาจาก “ธุรกิจธนาคาร” ที่เป็นธุรกิจหลักที่มั่นคง และมีรายได้เข้ามาต่อเนื่อง จากธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ที่สร้างผลกำไรมั่นคง เติบโตสอดคล้องกับเศรษฐกิจในประเทศ

ธุรกิจที่สองคือ ธุรกิจใน Gen2 (Next Growth Engine) ที่ปัจจุบันเริ่มสร้างผลกำไรแล้ว เช่น AutoX ,CardX ,MONIX ที่ปัจจุบันผลประกอบการเริ่มมั่นคง โดยหลายบริษัทเริ่มมีความมั่นคง หลายบริษัทเริ่มเปลี่ยนจากขาดทุนมากำไรแล้วในปัจจุบัน ดังนั้น มองธุรกิจ Gen 2 จะเป็นธุรกิจที่จะสร้างผลลัพธ์เชิงบวกต่อกลุ่ม “เอสซีบี เอกซ์” ได้ในอนาคตอันใกล้

ธุรกิจ Gen3 (Future Growth) ที่เป็นธุรกิจที่ 3-5 ปีหลังจากนี้ ยังมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง แต่มีศักยภาพในระยะยาว เช่น DataX ,TechX ฯลฯ ที่เกี่ยวกับการลงทุนด้านเทคโนโลยี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านดาต้า Cybersecurity รวมถึงธุรกิจที่มีโอกาสออกไปเติบโตในต่างประเทศได้

“กลุ่มที่ 3 วันนี้ยังมีความเสี่ยง แต่จะเป็นอนาคตของโลกที่จะหมุนไป เช่น คริปโทฯ การเข้าไปเจาะตลาดล่างของประเทศ การเข้าไปซื้อกิจการในต่างประเทศ หรือการทำเวอร์ชวลแบงก์ เป็นต้น เหล่านี้จะเริ่มเห็นเมล็ดพันธุ์ที่เริ่มหว่านออกมาและเริ่มออกดอกผลที่สวยงามในระยะข้างหน้า”

ซึ่งสิ่งที่ค้นพบ จากการตั้ง “เอสซีบีเอกซ์” มาแล้ว 3 ปี วันนี้พบว่า เอสซีบีเอกซ์ อยู่ในจุดที่คิดว่าจะ เริ่มเห็นผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะจากปีนี้เป็นต้นไป

“โครงสร้างของเอสซีบีเอกซ์วันนี้ ก่อนจัดโครงสร้าง เช่นไทยพาณิชย์มีกำไร 100บาท พอจัดโครงสร้าง กำไรของแบงก์เพิ่มทันทีเป็น 110 บาททันที เพราะ มีการดึงบางส่วน ธุรกิจอื่นๆที่ขาดทุน และเป็นธุรกิจที่ต้องลงทุน ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ไซเบอร์ซีเคียวริตี้ คลาวด์ เดต้า มาอยู่ภายใต้เอสซีบีเอกซ์ ทำให้สิ่งที่เคยเป็นต้นทุนของธนาคารถูกดึงออก ทำให้วันนี้ธนาคารดูเหมือนมีกำไรเพิ่มขึ้น แต่พอผ่านไป การลงทุนต่างๆที่สร้างมา เริ่มสร้างผลลัพธ์เกิดขึ้นแต่พอผ่านไปมองว่า ธุรกิจใน Gen2-Gen3 จะเริ่มมีรายได้เพียงพอในการโคฟเวอร์ค่าใช้จ่ายต่างๆและเริ่มเห็นกำไรขึ้นมาได้”

ดังนั้นในระยะข้างหน้า เมื่อธุรกิจ Gen2 และ Gen3 เริ่มให้ผลลัพธ์ที่ดี เริ่มเห็นรายได้ต่างๆโคฟเวอร์กับค่าใช้จ่ายต่างๆได้ ก็จะเริ่มเห็นกำไรจากธุรกิจใหม่เหล่านี้ได้ แปลว่า “เอสซีบีเอกซ์”จะสำเร็จสองเด้ง คือ ธนาคารจะใหญ่ขึ้นกว่าเดิม ด้วยตัวของธนาคาร ดังนั้นหากทั้งหมดสำเร็จ แปลว่า ผลมันทวีคูณ

ในปีนี้ “อารักษ์” มองว่า ธุรกิจ Gen2 ต้องกำไรทุกบริษัท ขณะที่ธุรกิจ Gen3 อาจยังเห็นการติดลบอยู่บ้าง ดังนั้น โดยรวมในปีนี้อาจจะเรียกว่าจะเป็นปีที่เรียกว่า “Neutral” ได้แล้ว

หากกลับมาจุดเริ่มต้น มีการตั้งคำถามว่าทำไมถึงปรับโครงสร้างเป็นเอสซีบีเอกซ์ เหล่านี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย มีทั้งการลองผิดลองถูก ที่ถือเป็นดีเอ็นเอขององค์กรที่ต้องพยายามปรับเปลี่ยนองค์กร ก่อนที่จะถูกบังคับให้ปรับเปลี่ยน

เช่นในอนาคต ที่มีการพูดถึง “โลกจะแยกสองใบ” มากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ไม่เท่าเทียม และหากดูขีดความสามารถการแข่งขันของไทยต่ำลง สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้เติบโต และธนาคาร ซึ่งเป็นตัวที่สะท้อนเศรษฐกิจ ก็ไม่มีทางเติบโตได้ หากภาพรวมเศรษฐกิจไม่เติบโต ธนาคารในระยะยาวก็จะไม่แข็งแรง                  

นอกจากนี้ จะมีบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาแข่งขันมากขึ้น ทั้งเอไอ ฟินเทค ฯลฯ ดังนั้น ภาพรวมของธนาคารคือ มีหน้าที่เติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้การรับความเสี่ยงที่ไม่มากเกินไป ดังนั้น ภายใต้ความเสี่ยงที่มีต่อธุรกิจหลัก จึงต้องหาการเติบโตรูปแบบใหม่ ทั้งจากธุรกิจ Gen2 และ Gen3

นอกจากนี้ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงขององค์กร ของเทคโนโลยีต่างๆ “เอสซีบี เอกซ์” ยังต้องให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ทั้งการลงทุน R&D การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยมีการตั้งงบลงทุนต่อปีอยู่ที่ 5% ของกำไรสุทธิ เช่นหาก SCBX มีกำไรปีละ 40,000 ล้านบาท การลงทุนด้านเทคโนโลยีเหล่านี้จะอยู่ที่ปีละไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท เพราะมองว่าวันนี้โลกเปลี่ยนเร็วมาก ดังนั้น องค์กรก็ต้องตอบโจทย์สิ่งที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปให้ทันด้วย

อารักษ์” ปิดท้ายว่า หมุดหมายสุดท้ายของ “เอสซีบี เอกซ์” คงตั้งเป้าเป็น The Most Admired Financial Technology group in regional หรือการมุ่งผลักดันองค์กรไปสู่ “กลุ่มเทคโนโลยีทางการเงินชั้นนำของภูมิภาคที่ยังเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้