‘เศรษฐา’ เมินเงินเฟ้อติดลบ ไม่ถอนคันเร่งอุ้มราคาพลังงาน
"เศรษฐา" ไม่หวั่นเงินเฟ้อติดลบ ลั่นพร้อมเดินหน้าอุ้มราคาพลังงาน ย้ำต้องลดรายจ่ายของประชาชน ล่าสุดควักงบกลางฯ กล่อม "กฟผ.-ปตท." อุ้มค่าไฟ 3.99 บาท สำหรับกลุ่มเปราะบาง ส่วนประชาชนทั่วไปจ่าย 4.18 บาท ต่ออีก 4 เดือน
การหารือระหว่างนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 10 ม.ค.2567 เกิดขึ้นหลังจากที่นายกรัฐมนตรีออกมาแสดงความเห็นถึงอัตราดอกเบี้ยของไทยที่อยู่ในระดับสูง ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อได้ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง
หลังการหารือครั้งนี้นายเศรษฐา ให้สัมภาษณ์ส่วนหนึ่งถึงประเด็นอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบจะทำให้รัฐบาลถอนมาตรการดูแลค่าพลังงานหรือไม่ ว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องลดรายจ่ายของประชาชน ซึ่งต้องดูโครงสร้างระยะยาวว่าจะทำอย่างไรให้มีราคาในระดับที่ทุกคนยอมรับได้
รวมทั้งระบุว่า การนัดผู้ว่า ธปท.เพื่อหารือเศรษฐกิจโดยรวมทั้งเศรษฐกิจต่างประเทศ อัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อ โดยได้ชี้แจงว่าสถานการณ์ของตลาดในปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง รวมทั้งเรื่องของเศรษฐกิจของภาวะประชาชนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
รายงานข่าวจากกระทรงพาณิชย์ ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน พ.ย.2566 เท่ากับ 107.45 เทียบกับเดือน พ.ย.2565 ลดลง 0.44% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน และต่ำสุดในรอบ 33 เดือน นับจาก ก.พ.2564
ทั้งนี้ มีสาเหตุสำคัญมาจากการมาตรการพลังงานของรัฐ โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลและแก๊สโซฮอล์ 91 และยังมีสินค้ากลุ่มอาหารสำคัญที่ลดลง เช่น เนื้อสุกร ไก่สด และน้ำมันพืช ราคาต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนราคาสินค้าและบริการอื่นยังเคลื่อนไหวทิศทางปกติ และรวมเงินเฟ้อเฉลี่ย 11 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-พ.ย.) เพิ่มขึ้น 1.41%
ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน พ.ย.2566 อยู่ที่ 104.52 เพิ่มขึ้น 0.58% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐาน 11 เดือนแรกของปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 1.33%
ทั้งนี้ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้สรุปประเด็นในการดำเนินการเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งในกลุ่มน้ำมันดีเซล ก๊าซ LPG และกลุ่มน้ำมันเบนซิน ดังนี้
1. รักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลให้อยู่ในระดับ 30 บาท/ลิตร เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 31 มี.ค. 2567 ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2566 เพื่อเป็นการตรึงค่าครองชีพให้ประชาชนต่อเนื่องภายหลังจากมาตรการลดภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันดีเซลซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธ.ค. 2566
2. ลดราคาน้ำมันเบนซิน จากมติครม. เมื่อ 31 ต.ค. 2566 เห็นชอบแนวทางการลดค่าครองชีพประชาชนตามที่กระทรวงพลังงานเสนอลดราคาแก๊สโซฮอล 91 ลง 2.50 บาท/ลิตร เป็นเวลา 3 เดือน โดยใช้กลไกลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซิน 1 บาท/ลิตร พร้อมใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ อุดหนุนเพื่อทำให้ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล 91 ลดลงรวม 2.50 บาท/ลิตร โดยที่ประชุม กบน. ได้ดำเนินการปรับลดราคาขายปลีกกลุ่มน้ำมันเบนซิน ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย. 2566 – 31 ม.ค. 2567 โดยราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล 91 ลดลง 2.50 บาท/ลิตร ราคาน้ำมันเบนซิน 95 และน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 ลดลง 1 บาท/ลิตร ส่วน E20 และ85 ลดลง 80 สตางค์/ลิตร
3. การรักษาระดับราคาขายปลีกก๊าซ LPG ไม่ให้เกิน 423 บาท/ถังขนาด 15 กิโลกรัม (กก.) จามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 31 มี.ค. 2567
4. ตรึงค่าไฟฟ้างวดม.ค.-เม.ย. 2567 โดยจากมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติในการประชุมวันที่ 29 พ.ย. 2566 เรียกเก็บของผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2566 โดยให้ปรับปรุงรายละเอียดการคำนวณใหม่ อาทิ ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระเงินคงค้างสะสมงวดดังกล่าว 15,963 ล้านบาท
ปรับปรุงราคาประมาณการ Spot LNG จากเดิมที่ประมาณการไว้ที่ 16.9 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียูเป็น 14.3 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ทำให้ราคา Pool Gas ลดลงจากเดิม 387 บาทต่อล้านบีทียูเหลือ 365 บาทต่อล้านบีทียู, ปรับปรุงตามมาตรการปรับราคาก๊าซธรรมชาติเข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติเป็นราคา Pool Gas ซึ่งเป็นราคารวมก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่นๆ ด้วย
พร้อมกับเรียกเก็บ Shortfall ช่วงปี 2563 - 2565 จากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ 4,300 ล้านบาท ส่งผลให้มติกกพ. วันที่ 10 ม.ค. 2567 เรียกเก็บค่าไฟฟ้าลดลงจาก 4.68 บาทต่อหน่วย เหลือ 4.18 บาทต่อหน่วย
นอกจากนี้ ครม. ยังเห็นชอบช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือนตรึงค่าไฟฟ้างวดดังกล่าวให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มดังกล่าวที่อัตรา 3.99 บาทต่อหน่วยโดยใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจากคณะรัฐมนตรี วงเงินรวม 1,950 ล้านบาท