“ประโยชน์ 5 ข้อ”โฉนดจากที่สปก.4-01 เกษตรฯลุยต่อยอดมูลค่าทางเศรษฐกิจ
“ที่ดิน”คือปัจจัย“ทุน” การดำเนินชีวิตที่สำคัญ ดังนั้นนโยบายการเปลี่ยน ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดเพื่อการเกษตรจึงเป็นเป้าหมายหลักที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศจะดำเนินการเป็นผลงานชิ้นโบแดง
ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า นโยบายการเปลี่ยนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) เป็นโฉนดเพื่อการเกษตรซึ่งเป็นเป้าหมายในการปรับปรุงและพัฒนาสิทธิในที่ดินของรัฐบาล สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) ได้ขับเคลื่อนงานตามนโยบายดังกล่าวเพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน โดยจะมอบโฉนดเพื่อการเกษตร 15 ม.ค.2567 พร้อมกันทั่วประเทศ
สำหรับสิทธิประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับจากโฉนดเพื่อการเกษตร ประกอบด้วย 1. เปลี่ยนมือได้ (โอนสิทธิ) สามารถโอนคืน ส.ป.ก. ได้ โดยโอนคืนให้ ส.ป.ก.ทั้งแปลงหรือบางส่วนได้ และได้รับค่าชดเชยหากเกษตรกรไม่ประสงค์ประกอบอาชีพเกษตรกรรม สามารถสละสิทธิให้เกษตรกรอื่นที่มีคุณสมบัติตามกำหนด โดยสามารถเปลี่ยนมือให้แก่เกษตรกรอื่นที่มีคุณสมบัติตาม ส.ป.ก. กำหนดได้
2. เพิ่มวงเงินสินเชื่อ การเข้าถึงแหล่งทุนใหม่ โฉนดที่ดินสามารถเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ โดยขยายวงเงินสินเชื่อให้กับเกษตรกรที่ขอกู้กับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) หรือใช้ไม้มีค่าที่ปลูกบนที่ดิน ค้ำประกันสินเชื่อให้เต็มวงเงิน 100% และสามารถขอสินเชื่อนโยบายจากกองทุน ส.ป.ก. เต็มวงเงินตามราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ นอกจากนั้นยังเพิ่มแหล่งสินเชื่อใหม่ โดยการเจรจากับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ชุมนุมสหกรณ์ สถาบันการเงินของรัฐ และสถาบันการเงินอื่น
ค้ำประกันบุคคลชั้นศาล-สอบสวน
3. สามารถใช้ค้ำประกันตัวบุคคล โดยเป็นหลักทรัพย์ประเภทหนึ่งที่สามารถค้ำประกันตัวบุคคลทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นศาล โดยความร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
4. สร้างรายได้ให้เกษตรกร เพิ่มทรัพย์สินโดยส่งเสริมการปลูกไม้มีค่า 10 ต้นต่อไร่ ซึ่งสามารถใช้ต้นไม้ค้ำประกันสินเชื่อ หรือโฉนดต้นไม้ และขาย Carbon Credit โดยความร่วมมือกับ กรมป่าไม้, ธ.ก.ส. และ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.)
5. ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาจากรัฐในด้านโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค ซึ่งมีการทำ MOU 16 หน่วยงาน ด้านการพัฒนาอาชีพ และรับเงินชดเชยหรือเยียวยาภัยพิบัติ
“การเปลี่ยนเอกสารสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดิน จาก ส.ป.ก. 4-01 ให้เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร เพื่อขยายสิทธิการใช้ประโยชน์ให้เป็นที่ยอมรับเพื่อเพิ่มมูลค่าและใช้ค้ำประกันสินเชื่อกับสถาบันการเงินได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น"
เพิ่มรายได้ด้วยโฉนดต้นไม้
ขณะที่เรื่องทำโฉนดต้นไม้ในเขต ส.ป.ก. ซึ่งเป็นการออกเอกสารสิทธิสำหรับต้นไม้ที่เป็นพืชเศรษฐกิจ เช่น ต้นยางพาราที่ปลูกบนที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ โดยจะมีการดำเนินโครงการหลังจากเสร็จสิ้นการมอบที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ มีเงินทุนหมุนเวียนในระบบเพิ่มมากขึ้น สร้างรายได้และลดรายจ่ายครัวเรือนให้กับเกษตรกรและประชาชน ตลอดจนเพื่อส่งมอบความสุขจากรัฐสู่ประชาชน
ทั้งนี้ จะมีการ Kick off มอบโฉนดเพื่อการเกษตรเป็นของขวัญ เพิ่มสุขปีใหม่ให้แก่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ในวันที่ 15 ม.ค. 2567 จะนำรองก่อน 25,000 ราย พร้อมกันทั่วประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการมอบโฉนดเพื่อการเกษตรจำนวน 1,000 ฉบับ ณ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเสริมนอกภาคการเกษตร อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา สำหรับส่วนภูมิภาคกำหนดจัดงาน ณ ศูนย์บริการเกษตรพิรุณราชในแต่ละจังหวัด
“ที่ดินส.ป.ก. มี กว่า 22 ล้านไร่ พร้อมที่จะปรับเป็นโฉนดทั้งหมด แต่ต้องเป็นไปตามกฎหมาย โดยเฉพาะการถือครองที่ดินอย่างน้อย 5 ปี ซึ่งทะยอยขึ้นทะเบียน จากนั้นเจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจสอบ ทำต่อเนื่อง เชื่อว่า ในช่วง 10 ปีนี้ ที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 นั้นจะกลายเป็นโฉนดเพื่อการเกษตรทั้งหมด โดยการขึ้นทะเบียน กำหนดการถือครองไม่เกิน50 ไร่ และกำหนดเพื่อกิจกรรมเพื่อการเกษตรเท่านั้นจะควบคุมไม่ให้เกิดการถือครองโดยนอมินี ”
เล็งออกโฉนดกระชังเลี้ยงปลา
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. จะต้องออกสำรวจผู้ถือครองที่ดิน ที่ตกหล่นเพื่อให้ได้รับสิทธิ์ที่มากกว่า รวมทั้งกระทรวงเกษตรฯยังมีแผนที่จะออกโฉนดเพื่อการเกษตรให้กับกิจกรรมการเกษตรอื่นๆ ด้วย เช่น กระชังเลี้ยงปลา โฉนดยางที่ปลูกในที่ดินของตนเองที่รัฐอนุญาตให้ก็มีมูลค่า ซึ่งเบื้องต้นกระทรวงเกษตรฯต้องจำแนกเกษตรกรให้แล้วเสร็จก่อน แยกเป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็งคือเพื่อสนับสนุนการผลิตเพื่อส่งออกกลุ่มปานกลาง เพื่อหนุนการแปรรูป และกลุ่มอ่อนแอเป็นกลุ่มที่รัฐบาลต้องอุดหนุนเพิ่มรายได้ 3 เท่าใน 4 ปี
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวว่า กรณีการค้ำประกันเงินกู้กับธ.ก.ส. นั้นปัจจุบันกำหนดไว้ 50 % ของมูลค่าที่ดิน ซึ่งอยู่ระหว่างหารือให้ค้ำประกัน 80-100% เทียบเท่ากับโฉนดทั่วไปคาดว่าจะไม่มีปัญหา เพราะโฉนดนี้นอกจากเกษตรกรจะถือครองแล้ว ส.ป.ก. ยังเป็นหน่วยงานที่รับรองอีกลำดับทำให้ ธ.ก.ส. มั่นใจได้
นอกจากนี้จะหารือกับสถาบันการเงินทั่วไป สหกรณ์ต่างๆ เพื่อยอมรับโฉนดดังกล่าวกรณีค้ำประกันเงินกู้ได้ด้วย เป็นการเพิ่มช่องทางให้กับเกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทั้งนี้การแปลงโฉนดเพื่อการเกษตรนี้ในปี 2567 คาดว่าจะทำได้ 5 แสนฉบับ ซึ่ง ได้มอบอำนาจให้ ส.ป.ก. จังหวัด รับดำเนินการแล้ว