หอการค้าฯคาด กนง. 'ตรึง' ดอกเบี้ย 2.5% ทั้งปี
สัญญาณของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือกนง. เรื่องอัตราดอกเบี้ยมีภาพที่ชัดเจนว่า 2.5% ถือว่าเหมาะสมจากเงื่อนไขคือยังทำให้เศรษฐกิจปีนี้ยังขยายตัวได้ 3.2% จากปีที่แล้ว 2.5%
อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ระบุ สัญญาณของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือกนง. เรื่องอัตราดอกเบี้ยมีภาพที่ชัดเจนว่า 2.5% ถือว่าเหมาะสมจากเงื่อนไขคือยังทำให้เศรษฐกิจปีนี้ยังขยายตัวได้ 3.2% จากปีที่แล้ว 2.5% ดังนั้นหมายความว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และดอกเบี้ยเป็นตัวค้ำยันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้โดยใช้นโยบายการคลังจากงบประมาณแผ่นดินหรือนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอื่นๆ เข้ามาเสริม
นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยขณะนี้ยังทำให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบของเป้าหมาย 1-3% ดังนั้น สัญญาณเงินเฟ้อที่ติดลบต่อเนื่อง 3 เดือนจึงเป็นการติดลบทางเทคนิคจากราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า ปรับลดลงจากนโยบายลดค่าครองชีพของรัฐบาล เงินเฟ้อที่ติดลบเกิดจากการแทรกแซงราคาโดยรัฐ ไม่ได้มาจากกำลังซื้อของประชาชนที่หดหายไป เพราะกำลังซื้อของประชาชนยังเพิ่มขึ้นผ่านการมองจากตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งอยู่ที่ประมาณ 0.6%
ดังนั้นเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ยังเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามทิศทางของการประชุม กนง.ในครั้งหน้าว่าจะพิจารณาปรับดอกเบี้ยหรือไม่ ซึ่งจากคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจขณะนี้ กนง.จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม เพราะธนาคารกลางทั่วโลกส่วนใหญ่ยังไม่ปรับลดดอกเบี้ย ทั้งนี้ต้องติดตามต่อว่า ธปท. จะมีท่าทีส่งสัญญาณว่าเงินเฟ้อน่าเป็นห่วง หรือเศรษฐกิจซึมตัวลงหรือไม่ หากมีสัญญาณเหล่านี้ทิศทางดอกเบี้ยอาจจะลดลงได้ แต่หากไม่มีสัญญาณอะไรเชื่อว่าจะตรึงดอกเบี้ยนโยบายไว้ทั้งปี 2567
ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคสูงสุดรอบ 46 เดือน
สำหรับผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนธันวาคม 2566 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลและรัฐบาลจัดทำนโยบายลดค่าครองชีพโดยลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำมัน มีนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากรัฐบาลสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็วในปี 2567 ภายใต้นโยบายที่ได้ประกาศไว้
นอกจากนี้ เห็นว่าการเมืองไทยจะมีเสถียรภาพมากขึ้นในอนาคตหลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาลสลายขั้วการเมืองต่างๆ ที่มีความเห็นแตกต่างกันโดยที่ความขัดแย้งทางการเมืองน่าจะคลี่คลายลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ