วิกฤติ 'ทะเลแดง' ดันค่าระวางเรือพุ่ง 200-400% 'พาณิชย์' เร่งหารือผลกระทบ
พาณิชย์ถกปัญหาวิกฤติทะเลแดง เตรียมส่งหนังสือถึง บ.สายเดินเรือ แจ้งข้อกังวลค่าระวางเรือ พร้อมขอประกาศ surcharge ให้ชัดเจน ด้านผู้ส่งออก เริ่มได้รับผลกระทบ ใน 3 ท่าเรือที่ใช้เส้นทางทะเลแดง ทำ ค่าขนส่งปรับเพิ่มเฉลี่ย 200-400 %
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือติดตามสถานการณ์ ผลกระทบ และหามาตรการรองรับกรณีกองทัพฮูติโจมตีเรือขนส่งสินค้าเส้นทางทะเลแดง ว่า ได้ร่วมประชุมกับสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ,ตัวแทนสายการเดินเรือ และ สำนักงานทูตพาณิชย์ในภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมได้ขอให้ทางบริษัทสายการเดินเรือคงราคา ค่า ระวางเรือไว้ตามสัญญา ซึ่งได้รับคำมั่นจากสายการเดินเรือว่า ค่าระวางเรือที่จองไว้ล่วงหน้าแล้ว จะเป็นไปตามสัญญา ไม่ปรับขึ้น และจะเก็บ ตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจริง แต่จะต้องขึ้นอยู่กับบริษัทแม่ที่อยู่ต่างประเทศด้วย
นอกจากนั้นอยากให้สายเดินเรือเจรจาท่าเรือในเรื่องการขยายเวลา Free time ในการขนส่งสินค้าที่ท่าเรือจากระยะเวลาที่ขนส่งที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสายเดินเรือพยายามช่วยเจรจาอยู่แล้วแต่ก็ต้องคำนึงถึงความสมดุล หากขยายเวลา Free time ออกไปอาจเกิดการแออัดในท่าเรือได้ ดังนั้นจึงต้องหาจุดสมดุลทั้ง 2 ฝ่ายซึ่งอาจต้องดูเป็นกรณีๆไป ในส่วนของค่า surcharge ที่เกิดขึ้น ต้องการให้บริษัทสายการเดินเรือ ประกาศออกมาให้ทราบอย่างชัดเจน เพื่อให้ผุ้ส่งออก สามารถวางแผนและเจรจากับ ผู้นำเข้า ได้
“ กระทรวงพาณิชย์ จะทำหนังสือไปถึงบริษัทสายการเดินเรือเพื่อแจ้ง ข้อกังวล ดังกล่าวและขอความชัดเจนจากสายการเดินเรือเรื่อง surcharge ที่ขอให้มีการประกาศให้ชัดเจน เพื่อ ผู้ส่งออก และ นำเข้าจะได้ วางแผนทำธุรกิจได้”
นายภูสิต กล่าวว่า ในส่วนของปัญหาเรื่องตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า สถานการณ์ไม่เหมือนกับช่วงโควิด-19 ปัจจุบันตู้ยังมีเพียงพอ เพราะ ในปีที่ผ่านมา มีเรือเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้นถึง 350 ลำและ ในปีนี้จะมีเพิ่มขึ้น 478 ลำ ซึ่งตู้ยังเพียงพอ แต่กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้นิ่งนอนใจ เตรียมส่งหนังสือถึงการท่าเรือแห่งประเทศไทย กรมศุลกากร และ กรมเจ้าท่าเพื่อ ให้ช่วยประเมินและ รวบรวมจำนวนตู้ทั้งส่งออกและนำเข้าทั้งหมด และ จะติดตามประเมินสถานการณ์ตู้อย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ในการประชุมครั้งต่อไปในปลายเดือนนี้ จะนำข้อมูลที่รวบรวมได้มา ประเมินสถานการณ์เพื่อทำงานเชิงรุกและกรมฯได้สั่งการทางสำนักงานทูตพาณิชย์ติดตามสถานการณ์ของการบริหารจัดการที่ท่าเรือ ต่างๆอย่างใกล้ชิด ทั้งด้านการนำเข้าและส่งออก เพื่อเตรียมการรับมือในอนาคต
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสรท. กล่าวว่า จากการประเมินล่าสุด พบว่า สถานการณ์ที่ทะเลแดง ยังยืดเยื้อ และ เริ่มจะมีผลกระทบต่อการเพิ่มของค่าระวางเรือ ,ระยะเวลาการเดินเรือ, การจองพื้นที่ในเรือหรือ booking space เรือ ซึ่ง ผู้ส่งออก ต้องปรับตัวมากขึ้น โดยเฉพาะ ต้นทุนค่าระวางเรือในการขนส่งสินค้า ในเส้น North Africa, Middle East , EU ซึ่งขณะนี้ ได้ขยับเพิ่มขึ้น มีความไม่แน่นอนมากขึ้น รวมทั้ง ความล่าช้าในการขนส่งสินค้าไปถึงมือลูกค้า
โดยสินค้าส่งออกไทยที่โดนผลกระทบไปคือ ชิ้นส่วนยานยนต์ ที่ส่งไปซาอุดิอารเบีย , แอฟริกาเหนือ และไปยุโรป และ การส่งออกยางล้อรถยนต์ ,สินค้าอาหาร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ไปยุโรป ซึ่งสัดส่วนการส่งออกของไทยไปยุโรป อยู่ที่ 7-8% ของการส่งออกรวมทั้งหมด ซึ่งถือว่า เป็นตลาดสำคัญของไทย ซึ่งผู้ส่งออกไม่อยากให้ ต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้นมากเพราะจะไม่เป็นผลดีต่อการส่งออก
นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท Fortune Parts Industry Pubic Company Limited กล่าวว่า ขณะนี้ ค่าระวางเรือ ที่ไป Red Sea ได้ปรับเพิ่มขึ้นมาแล้ว โดย เฉลี่ยจะเพิ่มขึ้น200 -400 % โดยในเส้นทางการขนสงไปเมืองเจดดาห์ ซาอุดิอาระเบีย , อากาบา จอร์แดน , และซอคน่าของอียิปต์ ค่าระวางเรือได้เพิ่มขึ้นมา เป็น 8,500 ดอลลาร์ต่อตู้ 20 ฟุต จากเดิมที่อยู่ที่ 1,500 ดอลลาร์ต่อตู้ และ ตู้ไปตุรกี เป็นเป็น 7,500 ดอลลาร์ต่อตู้ จาก 2,400 ดอลลาร์ต่อต่อตู้ สำหรับเส้นทางไปยุโรป ค่าระวางเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3 เท่าตัว
ดังนั้น ผู้ส่งออก และ ผู้นำเข้า จะต้องเตรียมการรับมือในการจองตู้และสายเดินเรือล่วงหน้าประมาณ 1 เดือนและหากเป็นสินค้าส่งออกที่ไม่จำเป็นเร่งด่วนมาก ควรรอและยืดเวลาการส่งออกไปในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนกพ. ที่เป็นช่วงวันหยุดตรุษจีน ของประเทศจีน เนื่องจากคาดว่า ค่าเฟดจะลดต่ำลงในช่วงนั้น เมื่อเทียบกับช่วงนี้ที่จีน กำลังเร่งนำเข้าและส่งออก ก่อนจะถึงตรุษจีน