ไทยรุกดึงลงทุน ‘ชิป’ ‘บีโอไอ’ลุยเจรจาผู้ผลิตรายใหญ่
ไทยเร่งดึงลงทุนชิป ดันอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ “บีโอไอ” เร่งหารือผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ระดับโลกมาลงทุนไทย “พิมพ์ภัทรา“ ดึงผู้ประกอบการ จ.มิเอะ ประเทศญี่ปุ่น ลงทุนเซมิคอนดักเตอร์ ชิ้นส่วนเครื่องจักรกล และยานยนต์
รัฐบาลมีนโยบายดึงการลงทุนอิเล็กทรอนิส์ต้นน้ำ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ โดยรัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เร่งดึงลงทุนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ เช่น ชิป
สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ถือเป็น 1 ใน 3 อุตสาหกรรมเป้าหมาย 3 กลุ่มที่ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี กำหนดเป้าหมายดึงการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีในประเทศไทย ได้แก่ ดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ไฟฟ้า (EV)
รวมทั้งไทยยังให้ความสำคัญกับการดึงดูดบริษัทที่สามารถผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นต้นได้ โดยเฉพาะการออกแบบเซมิคอนดักเตอร์และแผ่นเวเฟอร์ ซึ่งใช้เทคนิคการผลิตที่สูงกว่าเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสุดท้าย
นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า ชิปกำลังกลายเป็นผลิตภัณฑ์ยุทธศาสตร์ระดับโลก และเปลี่ยนผ่านสู่สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ และดิจิทัลเกิดการพัฒนา Generative AI และดิจิทัล ทรานฟอร์เมชั่น ซึ่งเกิดความต้องการคลาวด์เซอร์วิสครั้งใหญ่ทั่วโลก
ทั้งนี้บีโอไออยู่ระหว่างการเจรจากับ Top Players รายใหญ่เพื่อให้เข้ามาตั้งฐานผลิตอิเล็กทรอนิกส์ในไทย รวมทั้งส่งเสริมการขยายลงทุนของรายเดิม โดยให้สิทธิประโยชน์เป็นขั้นบันไดสำหรับการลงทุนเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนสูง ขณะเดียวกันยังส่งเสริมผู้ผลิตไทยให้เกิดการจับคู่ธุรกิจและเข้ามาอยู่ในซัพพลายเชนระดับโลก
ขณะที่ปัจจุบันมีนักลงทุนรายใหญ่ของโลกเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ทั้ง PCB (Printed Circuit Board) และ PCBA (Printed Circuit Board Assembly) ซึ่งทำให้ไทยกลายเป็นฐานการผลิตอันดับ 1 ของอาเซียน และเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาครองจากจีน
พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ร่วมจัดงาน “Mie-Thailand Innovation Center 5th Anniversary Event” เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2566 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และจังหวัดมิเอะ ประเทศญี่ปุ่น ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ตั้งแต่ปี 2558 เพื่อความร่วมมือในด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลและการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมอาหาร
รวมทั้ง จังหวัดมิเอะ ยังเป็นส่วนหนึ่งของ Greater Nagoya Initiative (GNI) ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมการลงทนขนาดใหญ่ที่มีเมืองนาโกยาเป็นศูนย์กลาง และเป็นที่ตั้งโรงงานผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนที่สำคัญ เช่น ฮอนด้า โตโยต้า และเด็นโสะ
นอกจากนี้เป็นที่ตั้งของเอสเอ็มอีที่ผลิตอิเล็กทรอนิกส์ของบริษัทขนาดใหญ่ เช่น บริษัทชาร์ป โตชิบา ฟูจิทสึ และพานาโซนิค โดย จ.มิเอะ เป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงด้านอุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร การแพทย์ แหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อทางประวัติศาสตร์
สำหรับไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์และความร่วมมือในทุกมิติมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย สะท้อนจากการลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทยมีมูลค่ากว่า 40% ของการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมด