แลนด์บริดจ์ทำท่าจะไม่ปัง ดิจิทัลวอลเล็ตก็ทำท่าอาจจะพัง
โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทย และอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) เป็นจุดสนใจอีกครั้งในวงกว้างขึ้นหลังจาก ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล นำทีม กรรมาธิการ (กมธ.)
วิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์สภาผู้แทนราษฎร บางส่วนลาออกด้วยเหตุผลข้อมูลประกอบการพิจารณาไม่สมบูรณ์
เกิดคำถามว่าโครงการดังกล่าวที่กำหนดให้เป็นการจุดพลุเศรษฐกิจไทย เปิดน่านน้ำใหม่ทางการค้านั้นจะทำได้จริงอย่างที่รัฐบาลนำโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวอ้างไว้
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักโครงการนี้คร่าวๆ ก่อน ข้อมูลจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า เส้นทางการเดินเรือทั่วโลกมีหลายเส้นทาง อาทิ ช่องแคบฮอร์มุซ คลองสุเอซ คลองปานามา และช่องแคบมะละกาที่อยู่ใกล้ไทย และมีปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านไทยเข้าช่องแคบมะละกาจำนวนมาก โดยเฉพาะสินค้าด้านพลังงาน ทำให้ช่องแคบมะละกาเป็นจุดที่สำคัญต่อการขนส่งสินค้าทางทะเลโลก และมีอิทธิพลต่อภูมิภาค
“ขณะนี้การจราจรทางเรือติดขัดขึ้น จึงเป็นปัจจัยกระตุ้นโครงการแลนด์บริดจ์ให้น่าสนใจขึ้น ขณะเดียวกันไทยมีจุดแข็งคือ ตำแหน่งที่ตั้งที่อยู่ระหว่างกลางของเส้นทางการเดินเรือโลกที่มีความหนาแน่นมากแห่งหนึ่งของโลก ”
ด้านความเห็นจากพิเศษ ฤทธาภิรมย์ ประธานสมาคมเจ้าของ และตัวแทนเรือกรุงเทพฯ ประเมินว่าการประหยัดเวลาเดินทางของเรือ 2-5 วันอาจไม่คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และยังมีข้อสงสัยว่าสมมติฐานการปฏิบัติงานแบบไร้รอยต่อของโครงการแลนด์บริดจ์จะสามารถทำได้จริงหรือไม่
โปรเจกต์ยักษ์ของรัฐบาลเศรษฐายังไม่จบแค่นี้ ยังมี โครงการเติมเงินผ่านกระเป๋า เงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่ประชาชนกำลังอยู่ในอาการลุ้นว่าจะได้เงินมาใช้ฟรีๆ หมื่นบาท (คิดแบบลืมไปว่านี่มาจากเงินกู้ และคนที่ต้องใช้เงินกู้ก็คือ ประชาชนนั่นแหละ) หรือไม่นั้น ก็ทำท่าจะไม่ง่ายเมื่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบข้อถามจากรัฐบาลแบบกำกวมแบบแล้วแต่ใครสะดวกจะตีความ
สำหรับ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ธนาคารโลกประจำประเทศไทย (เวิลด์แบงก์) ได้ประเมินโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่มีการวางแผนมูลค่าโครงการคิดเป็นประมาณ 2.7% ของ GDP โดยหากมีการดำเนินโครงการคาดว่าจะสามารถกระตุ้นการเติบโตในระยะสั้นได้เพิ่มขึ้น 0.5% - 1% ของ GDP ในช่วงปี พ.ศ.2567 - 2568 แต่จะส่งผลให้การขาดดุลทางการคลังอาจเพิ่มขึ้นเป็น 4% ถึง 5% ของ GDP ในขณะที่หนี้สาธารณะอาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 65% - 66% ของ GDP
ชั่งน้ำหนักข้อดี - ข้อเสีย งานใหญ่ของรัฐบาลเศรษฐาที่ใช้เงินหลักหลายแสนล้านบาท สำหรับ 2 โครงการนี้ ที่ดูเหมือนว่า โครงการหนึ่งก็ทำท่าจะไม่ปังอย่างที่คิด เพราะโรดโชว์หลายที่แล้วนักลงทุนต่างชาติก็ยังเงียบ ส่วนอีกโครงการก็เต็มไปด้วยอุปสรรค และอาจเป็นจุดหักทางการเมืองหากกฎหมายไม่ผ่านสภา
ก็ได้แต่เป็นกำลังใจให้ทุกฝ่ายใช้ความรู้ ความสามารถที่มี จบความเห็นต่างด้วยข้อสรุปที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติที่สุด
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์