เศรษฐา มอบ ภูมิธรรมประชุมดิจิทัลวอลเล็ต พรุ่งนี้ ถกเศรษฐกิจวิกฤติหรือไม่?’
นัดชี้ชะตาดิจิทัลวอลเล็ต พรุ่งนี้ ถกจดหมายตอบกลับกฤษฎีกา "เศรษฐา" มอบ "ภูมิธรรม" นั่งหัวโต๊ะ ประชุมแทนฯ หลังมีภารกิจประชุมดาวอส จ่อตั้งคณะอนุพิจารณาข้อกฎหมายซื้อเวลา แต่ยังพยายามดันโครงการให้เริ่มได้ในพ.ค.67
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าในวันพรุ่งนี้ (16 ม.ค.) นายเศรษฐา ทวีสินนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง มอบหมายให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่าน Digital Wallet (บอร์ดชุดใหญ่) ที่ทำเนียบรัฐบาลในเวลา 15.30 น.
ทั้งนี้วาระสำคัญของการประชุมคือการนำหนังสือที่ คณะกรรมการกฤษฎีกาตอบกลับรัฐบาลมาพิจารณา ในประเด็นต่างๆ เช่น คำว่า “วิกฤติ” กระบวนการขั้นตอนการดำเนินการ ระยะเวลา รวมถึงความคุ้มค่า ของโครงการตามที่บัญญัติไว้ในข้อกฎหมาย ซึ่งเป็นไปตามที่ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีได้แจ้งกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าประเด็นต่างๆในโครงการนี้ให้มาคุยกันในที่ประชุมคณะกรรมการฯชุดใหญ่
“โดยคณะกรรมการจะพิจารณาต่อไป ว่าจะตั้งอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณาข้อกฎหมายอีกหรือไม่ รวมทั้งดูประเด็นที่บอร์ดยังเห็นไม่ตรงกัน อย่างไรก็ตามรัฐบาลมั่นใจว่าในโครงการนี้ยังเป็นไทม์ไลน์เดิมคือพยายามให้ประกาศใช้ในเดือน พ.ค.2567” แหล่งข่าวระบุ
ทั้งนี้ในขณะนี้ นายเศรษฐา อยู่ระหว่างเข้าร่วมประชุม World Economic Forum (WEF) ระหว่างวันที่ 15-19 มกราคม 2567 ณ สมาพันธรัฐสวิส จึงมอบหมายให้รองนายกฯภูมิธรรมเป็นประธานการประชุมแทน
ย้อนฟังคำตอบคณะกรรมการกฤษฎีกาชี้ชัดข้อกฎหมาย
ก่อนหน้านี้ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ส่งคำตอบเรื่องการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท มาให้รัฐบาลแล้ว ส่วนรายละเอียดคงจะต้องไปเข้าในคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ก่อน และเรื่องนี้เป็นเรื่องลับ อาจจะต้องนำไปให้กระทรวงการคลังเป็นคนชี้แจงในรายละเอียด แต่ว่าไม่มีคำว่าไฟเขียว
คำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา ตอบในแง่ของข้อกฎหมายใช่หรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า ตอบเป็นข้อกฎหมายอย่างเดียวเลย เพราะกฤษฎีกาเป็นนักกฎหมาย แต่เงื่อนไขตามกฎหมายที่กำหนดไว้ในมาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 มีอะไรบ้าง ซึ่งในเงื่อนไขในนั้นจะบอกว่าเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ต้องแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขวิกฤตของประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมาดูกันว่ามันเข้าเงื่อนไขนั้นหรือไม่ ซึ่งเราในฐานะนักกฎหมายคงจะตอบได้เพียงเท่านั้น หากจะถามว่าออกเป็นกฎหมายได้หรือไม่นั้น มาตรา 53 ก็บอกแล้วว่าให้ออกเป็นกฎหมายได้ ส่วนจะเป็น พ.ร.บ. หรือพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ก็แล้วแต่ เพราะออกเป็นกฎหมายเหมือนกัน มีเพียงเท่านี้ ไม่ได้มีอะไรมากกว่านี้
เมื่อถามว่า ข้อเสนอแนะที่ให้ไปมีอะไรบ้าง นายปกรณ์ กล่าวว่า ไม่มีอะไรเลย เพียงแต่เป็นการอธิบายถึงมาตรา 53 และบอกว่าคงจะต้องรับฟังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีข้อมูลเชิงประจักษ์ยืนยันได้เท่านั้นเอง เมื่อถามย้ำว่า ไม่ได้ชี้ว่ารัฐบาลควรจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไรใช่หรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า ตนเป็นนักกฎหมาย ตนชี้ไม่ได้ เพราะเรื่องนี้ต้องอาศัยตัวเลขที่เป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์
ผู้สื่อข่าวถามว่า ความเห็นของกฤษฎีกาสามารถรับประกันได้หรือไม่ว่ารัฐบาลจะทำอะไรที่ไม่ผิดกฎหมาย นายปกรณ์ กล่าวว่า อันนี้ไม่รู้ เมื่อถามอีกว่า สามารถใช้อ้างอิงได้หรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า สามารถใช้อ้างอิงได้ เพราะเรายืนตามมาตรา 53 มาตรา 6 มาตรา 7 และมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ตอบอย่างนั้นเป๊ะ เมื่อถามย้ำว่า การันตีได้หรือไม่ว่า ถ้ารัฐบาลทำตามคำแนะนำของกฤษฎีกาแล้วจะปลอดภัย นายปกรณ์ กล่าวว่า “อ๋อ ถ้าทำตามผม ปลอดภัยแน่นอนครับ” เมื่อถามว่า หากมีปัญหา รัฐบาลสามารถอ้างอิงความเห็นของกฤษฎีกาเป็นเกราะป้องกันตัวเองได้หรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า ถ้าเป็นไปตามเงื่อนไขทุกอย่างก็จะไม่มีปัญหาอะไร
เมื่อถามถึงกรณีรัฐบาลอ้างเรื่องของจีดีพีโตที่โตไม่ทัน ได้ให้ความเห็นไปอย่างไร นายปกรณ์ กล่าวว่า ตนเป็นนักกฎหมาย ตนให้ความเห็นไม่ได้ เมื่อถามว่า การที่ระบุว่าอยู่ในช่วงภาวะวิกฤต แต่จะมีการตราเป็น พ.ร.บ. มันจะย้อนแย้งกันหรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า ไม่เป็นอะไรเลย ความจริงแล้ว พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง เพียงแต่บอกว่าให้กู้ได้โดยตราเป็นกฎหมาย ทีนี้กฎหมายก็จะมีทั้ง พ.ร.บ. และ พ.ร.ก. เดิมที่ผ่านมาเป็น พ.ร.ก. ก็เป็นเหตุผลหนึ่ง แต่เป็น พ.ร.บ.ถามว่าทำได้หรือไม่ ก็ทำได้ 3 วาระรวดก็เคยมีมาแล้ว ซึ่งมันไม่ได้ยากอะไร
เมื่อถามว่า การออกเป็น พ.ร.บ. หรือ พ.ร.ก. แบบไหนจะมีความเสี่ยงน้อยกว่ากันหรือปลอดภัยมากกว่ากัน นายปกรณ์ กล่าวว่า ถ้าเรียกว่าปลอดภัยก็ปลอดภัยทั้งคู่ ถ้าถูกเงื่อนไขมันก็ปลอดภัยหมด แค่นั้นเอง เมื่อถามถึงกรณีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ออกมาระบุว่ากฤษฎีกาไฟเขียว ใช้คำนี้ไม่ได้ใช่หรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า “ผมเข้าใจว่า รัฐมนตรีช่วยไม่ได้ใช้คำว่าไฟเขียวนะ เพราะผมเองก็ไม่ใช่ตำรวจจราจร แต่ถ้าเป็นไปตามเงื่อนไขก็ทำได้ ไม่เป็นปัญหาอะไร ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในเชิงประจักษ์ว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือเปล่า”
เมื่อถามว่า กฤษฎีกาส่งคำตอบมาแล้ว มีอะไรที่น่าห่วงอีกหรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า ตนไม่ห่วงอะไรเลย เพราะจริงๆ แล้ว รัฐบาลทำอะไร ทุกรัฐบาล ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลนี้ ต้องอยู่บนพื้นฐานข้อมูล ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายที่ถูกต้อง ฉะนั้น ตนเชื่อมั่นว่าทุกคนคงจะยืนอยู่บนข้อเท็จจริงเหล่านี้เหมือนกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีคำถามเพิ่มเติมจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือไม่ ว่า วิกฤตหรือไม่วิกฤต นายปกรณ์ กล่าวว่า ไม่มีคำถามนี้ แค่ถามว่าออกเป็น พ.ร.บ.ได้หรือไม่ แค่นั้นเอง