"การกระตุ้นเศรษฐกิจ" และ "วินัยทางการคลัง"
รัฐบาลถูกท้วงติงว่าไปแจกเงินกระตุ้นการบริโภคโดยไม่จำเป็น และจะทำให้เสียวินัยทางการคลัง และประเทศถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ
แถมยังมีข้อเสนอให้รัฐบาลนี้ต้องสัญญาว่า จะต้องหาเงินมาใช้คืนเงินที่จะแจกภายใน 3 ปีที่เหลือของรัฐบาลนี้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับลูกหลาน
นักเศรษฐศาสตร์รู้กันดีว่า โดยปกติแล้ว ไม่มีรัฐบาลไหนใช้คืนหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้น เพราะข้อเท็จจริงคือ หนี้สาธารณะมักจะต้องเพิ่มขึ้นทุกปีในทุกๆ ประเทศ และการบริหารจัดการหนี้สาธารณะนั้น ก็คือการทำให้จีดีพีขยายตัวสูงกว่าการขยายตัวของหนี้สาธารณะหากต้องการลดภาระในอนาคตของลูกหลาน
การตำหนิรัฐบาลปัจจุบันว่าจะขาดวินัยทางการคลังนั้น ผมถือว่าเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงมาก และองค์กรอิสระต่างๆ ก็ดูเหมือนว่าจะเตรียมสอบสวนรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องนี้
ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตจะไปรอดหรือไม่ เพราะจะต้อง “ผ่านหลายด่าน” และอาจถูกตีตกโดยศาลรัฐธรรมนูญ ที่เคยตีตกแผนการสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 4 ประเทศไปแล้ว โดยสั่งให้ไปทำถนนลาดยางให้ดีเสียก่อน
ในความเห็นของผมนั้น การพลิกฟื้นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องนั้น ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งคือ การสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน (ทั้งที่ลงทุนโดยตรงและลงทุนในตลาดทุน) ว่ารัฐบาลมีความมั่นคงและสามารถดำเนินนโยบายต่างๆ ที่นำเสนอได้
หากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของไทยมักจะถูกกีดกันไม่ให้ดำเนินนโยบายต่างๆ ที่นำเสนอ ก็ยากที่จะพลิกฟื้นการลงทุน เพราะนักลงทุนก็คงจะต้องสรุปว่า ไม่ว่ารัฐบาลจะพยายามทำอะไร ก็จะทำไม่สำเร็จ และควรรอรัฐบาลใหม่ที่(หวังว่า) จะไม่ถูกต่อต้าน
ครั้งนี้ ฝ่ายที่ค้านรัฐบาลเห็นว่า จะกระตุ้นการบริโภคไปทำไม ในเมื่อการบริโภคขยายตัว 8% แม้ว่าจีดีพีชะลอตัวลงไปอีกและโตเพียง 1.5% ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ซึ่งตัวเลขมีความคลาดเคลื่อนมาก
ดูแล้วน่าเป็นห่วงคือ ตัวเลขความคลาดเคลื่อนทางสถิติที่สูงถึง 4% และตัวเลขการลดลงของสต็อกสินค้าอีก 7%
การลดลงของสต็อกสินค้านั้น โดยปกติ น่าจะหมายถึง กำลังซื้อขยายตัวดีมาก จนผู้ผลิตตอบสนองความต้องการดังกล่าวไม่ทัน ต้องนำเอาสินค้าในสต็อกออกมาขาย แต่ตัวเลขการใช้กำลังการผลิต ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นเลย
นอกจากนั้นการ “แย่งกันซื้อของ” ก็น่าจะทำให้เงินเฟ้อถีบตัวสูงขึ้น แต่ตรงกันข้าม เงินเฟ้อปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วจาก 6% ตอนต้นปี มาใกล้ศูนย์ในไตรมาส 3
อีกประเด็น ที่ดูแปลกคือ ปกติแล้ว จีดีพีเพิ่มเท่าไหร่ การบริโภคก็จะเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกัน แม้แต่สภาพัฒน์ฯ เองก็ยังคาดการณ์ว่าจีดีพีปีหน้าจะโต 3.2% (ตรงกลางของ 2.7-3.7%) และการบริโภคจะโต 3.2% เช่นกัน
ในไตรมาส 3 จีดีพีโต 1.5% แต่บริโภคโต 8% ลองนึกดูว่า หากผมมีรายได้เดือนละ 20,000 บาท และผมบริโภคคิดเป็นสัดส่วน 60% คือ 12,000 บาท หากเงินเดือนเพิ่ม 1.5% คือ 300 บาท
ทำไมผมจึงจะเพิ่มการบริโภคมากถึง 960 บาท? หากทำเช่นนั้น ผมจะต้องเป็นหนี้เพิ่มขึ้น (แต่หนี้สูงถึง 90% ของจีดีพีแล้ว) หรือผมจะรวยหุ้นก็ไม่ใช่ (เพราะหุ้นตก)
หากมองกลับไปดูเศรษฐกิจไทยในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ก็จะไม่เคยเห็นครั้งใดเลยที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้เกิดปัญหาวินัยทางการคลัง ตรงกันข้าม รัฐบาลที่ช่วยลดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีคือ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ช่วงที่บริหารประเทศในปี 2001-2005
เพราะก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย พาประเทศเข้าสู่วิกฤติเศรษฐกิจจากการสูญเสียทุนสำรองของประเทศ ทำให้สถาบันการเงินล่มสลายไปหลายสิบแห่ง ส่งผลให้เกิดความเสียหายประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งต้องถูกนำมาแปลงเป็นหนี้สาธารณะ ทำให้หนี้สาธารณะ เพิ่มขึ้นจาก 29% ของจีดีพีในปี 1997 มาเป็น 55% ของจีดีพีในปี 2000
อีกครั้งหนึ่งคือ การใช้เงินของรัฐเพื่อพยุงเศรษฐกิจในช่วงที่โควิดระบาด และเศรษฐกิจไทยตกต่ำมากกว่าประเทศอื่นแต่ ฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่น (ดูตาราง 1)
ผมขอทิ้งท้ายเอาไว้ด้วยตัวเลขการขยายตัวของการลงทุนของไทยในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏในตาราง 2 เพราะเห็นว่า มีการพูดกันมากมายว่าควรต้องกระตุ้นการลงทุน ไม่ใช่กระตุ้นการบริโภค
ซึ่งผมแบ่งออกเป็น 5 ช่วง คือช่วง 2001-2005 ที่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งการลงทุนขยายตัวได้เฉลี่ยสูงถึง 10.36% ต่อปี
ตามด้วยช่วงที่การเมืองมีความไม่แน่นอนและแตกแยกสูงมาก คือปี 2006-2010 ซึ่งการลงทุนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 1.48% ต่อปี (มีช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐวิกฤติรวมอยู่ด้วย แต่จีดีพีไทยลดลงไม่มาก ดังนั้นการลงทุนที่ลดลง 10.9% ในปี 2009 น่าจะเป็นเพราะการเมืองของไทยด้วย)
ช่วงต่อมาที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้ามาบริหารประเทศคือ 2011-2013 ก็เห็นการลงทุนขยายตัวได้ดีขึ้นคือเฉลี่ย 4.86% ต่อปี แต่ก็ถูกการเมืองเล่นงาน ทำให้ต้องยุบสภาในเดือนธันวาคม 2011
ช่วง 2014-2019 ที่รัฐบาลไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่บริหารประเทศยาวนานนั้น ปรากฏว่าไม่ได้ทำให้การลงทุนขยายตัวดีขึ้นแต่อย่างใด ทั้ง ๆ ที่มีอำนาจเต็มและมีความ“สงบ” ตรงกันข้าม เป็นยุคที่การลงทุนขยายตัวต่ำที่สุดคือขยายตัวเฉลี่ยเพียง 2.13% ต่อปี
ส่วนช่วงหลังการระบาดของโควิดนั้น ดูเหมือนว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤติของการ (ไม่) ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการลงทุนครับ
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร