คืบหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจปี 67 6 แสนล้าน รัฐดัน ดิจิทัลวอลเล็ต-อีซี่อี-ริซีท

คืบหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจปี 67 6 แสนล้าน รัฐดัน ดิจิทัลวอลเล็ต-อีซี่อี-ริซีท

คืบหน้ารัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจดันเงินลงระบบเศรษฐกิจปี 67 กว่า 6 แสนล้าน ครม.ไฟเขียว easy e-receipt ลดภาษีสูงสุด 5 หมื่น ใช้จ่ายตั้งแต่ 1 ม.ค.- 15 ก.พ.67 ใช้ซื้อสินค้าที่ร่วมรายการโดยออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนดิจิทัลวอลเล็ต “จุลพันธ์” ยกร่างกม.พ.ร.บ.กู้เงินฯส่งสภาฯ

การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นในปี 2567 ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นหลังจากที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่ำ และรัฐบาลมองว่าเศรษฐกิจนั้นเกิดวิกฤติ ล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) จ.หนองบัวลำภู มีความคืบหน้าที่สำคัญทั้งจากโครงการเติมเงินในกระเป๋าเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท และโครงการกระตุ้นการใช้จ่ายเพื่อลดหย่อนภาษีหรือโครงการ อีซี่ อี-รีซีท (easy e-receipt) โดยทั้งสองโครงการจะทำให้มีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 6 แสนล้านบาทในปี 2567

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุม ครม.สัญจรถึงความคืบหน้าการออกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้าน เพื่อแจกผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ตคนละ 1 หมื่นบาทว่า ได้มีการพูดคุยกันกับนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง โดยจะมีการส่งหนังสือสอบถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา ถึงการออก พ.ร.บ.กู้เงิน ภายในสัปดาห์นี้

คลังส่งหนังสือถึงกฤษฏีกาแล้ว

นายจุลพันธ์ กล่าวว่าได้ส่งหนังสือสอบถามเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการยกร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เสนอไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา เรียบร้อยแล้ว โดยตอนนี้ยังไม่ได้ร่างกฎหมายอะไร เพียงแต่ส่งคำถามไปยังกฤษฎีกา ถึงความชอบด้วยกฎหมายในการดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัล

โดยทำเป็นหนังสือไปแล้ว เป็นคำถามในการออกกฎหมาย และจะต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์วิธีการทางกฎหมายด้วย

ทั้งนี้ยืนยันว่า ในการขับเคลื่อนโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่ผ่านมาอาจจะล่าช้าไปบ้าง เพราะกระทรวงการคลังได้พิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจไทยล่าสุด ซึ่งสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้มีการแถลงออกมาแล้ว และได้นำไปรวมไว้ในหลักการและเหตุผลของการดำเนินโครงการให้เกิดความครบถ้วน

ส่วนรายละเอียดในคำถามมีอะไรบ้างนั้น นายจุลพันธ์ ยอมรับว่า ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นชอบแล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการยกร่างพระราชบัญญัติต่อไป ซึ่งเชื่อว่า จะใช้เวลาไม่มาก เพราะกฎหมายการเงินมีมาตราที่เกี่ยวข้องไม่กี่มาตราเท่านั้น

 

ไฟเขียวอีซี่ อี-รีซีทบูมเศรษฐกิจปี 67

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าที่ประชุม ครม.สัญจรเห็นชอบโครงการ อีซี่ อี-รีซีท (easy e-receipt) หรือชื่อโครงการเดิมคือ อี-รีฟันด์ (e-Refund) ที่ให้ประชาชนที่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องชำระภาษี ไปจับจ่ายใช้สอยในวงเงิน 5 หมื่นบาท กับร้านค้าที่ออกใบกำกับภาษี/ใบรับ ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt

กำหนดระยะเวลาใช้จ่าย45 วัน 

โดยโครงการจะเริ่มดำเนินการวันที่ 1 มกราคม-15 กุมภาพันธ์ 2567 หรือราว 45 วัน โดยโครงการนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้นประมาณ 1.4 ล้านคน คิดเป็นวงเงินใช้จ่ายประมาณ 7 หมื่นล้านบาท มีผลช่วยให้จีดีพีปี 2567 ขยายตัวได้ 0.18% โดยภาครัฐจะเสียรายได้ประมาณ 10,850 ล้านบาท

โดยผู้ที่เข้าร่วมโครงการสามารถนำใบกำกับภาษีดังกล่าวไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยหากคิดบนฐานภาษี 7 หมื่นบาทต่อเดือน และได้ลดภาษี 20% ของการใช้จ่ายสูงสุด 5 หมื่นบาท เท่ากับว่าได้สิทธิลดหย่อน 1 หมื่นบาท เท่ากับเงินดิจิทัลวอลเล็ต นอกจากนี้ โครงการอีซี่ อี- รีซีท ยังจูงใจร้านค้าในระบบภาษีเข้าสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร

คืบหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจปี 67 6 แสนล้าน รัฐดัน ดิจิทัลวอลเล็ต-อีซี่อี-ริซีท

ทั้งนี้เงื่อนไขสำหรับผู้ใช้โครงการ easy e-receipt ได้แก่

  • ผู้ที่ไม่ได้เงินในโครงการ Digital Wallet 1 หมื่นบาท
  • สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ 5 หมื่นบาท ตั้งแต่เดือน มกราคม 2567 (ยื่นภาษีปี 68)
  • การซื้อสินค้าจากร้านค้าที่อยู่ในฐานระบบภาษี ที่สามารถออกใบกำกับภาษีในรูปอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น โดยนำใบกำกับภาษีจากการซื้อสินค้า-บริการมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท มาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้

สำหรับรายละเอียดและเงื่อนไขสินค้าที่เข้าร่วมรายการ ในส่วนของค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้จะจ่ายให้แก่ผู้มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้ ได้แก่

  • ค่าหนังสือ
  • หนังสือพิมพ์
  • นิตยสาร
  • ค่าบริการหนังสือ
  • หนังสือพิมพ์
  • นิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
  • ค่าสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว โดยกรณีซื้อสินค้าหรือรับบริการดังกล่าวจากผู้มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องได้รับใบรับในรูปแบบใบรับอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร

โดยค่าสินค้าหรือค่าบริการที่ไม่เข้ารายการได้ลดหย่อย ได้แก่

  • ค่าซื้อสุรา
  • เบียร์
  • ไวน์
  • ค่าซื้อยาสูบ
  • ค่าซื้อรถยนต์
  • รถจักรยานยนต์ และเรือ
  • ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
  • ค่าสาธารณูปโภค
  • ค่าน้ำประปา
  • ค่าไฟฟ้า
  • ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์
  • ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต และค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาวซึ่งเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 แม้ว่าจะจ่ายค่าบริการระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ก็ตาม
  • ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย

โดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่น ๆ เป็นไปตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

โดยผู้ประกอบการนิติบุคคล (ไม่จำกัดรายได้) สามารถจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบบริการ e-Tax Invoice & e-Receipt โดยศึกษารายละเอียดและลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ https://etax.rd.go.th

และสำหรับผู้ประกอบการนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี สามารถจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบบริการ e-Tax Invoice by Email