“กนอ.”รับโจทย์ลดอุปสรรคลงทุนหนุน ปี 66 ยอดเช่าพื้นที่ทำ“ไฮท์ เรคคอร์ด”
กนอ. เร่งฟื้นลงทุน ปลดล็อกอุปสรรคผู้ประกอบการ ชูความพร้อมพลังงานสะอาด ย้ำเชื่อมั่นนโยบายส่งเสริมลงทุนยังต่อเนื่องแม้เปลี่ยนรัฐบาล กนอ. ตั้งเป้ายอดขายนิคมปี 67 อยู่ที่ 3,000 ไร่
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ปี 2566 ที่ผ่านมาถือเป็นปีที่มียอดการเช่าพื้นที่นิคมฯ กนอ. สูงสุดเป็นประวัติการณ์ (Record High) อยู่ที่ 117 ไร่ ขณะที่มียอดขายและเช่าพื้นที่นิคมฯ รวมทั้งหมดอยู่ที่ 6,096 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 202% และมากกว่าเป้าที่ตั้งไว้ที่ 2,500 ไร่ ดังนั้นในปี 2567 กนอ. ตั้งเป้าเบื้องต้นว่ายอดขายและเช่านิคมฯ อยู่ที่ 3,000 ไร่ ส่วนยอดเช่านิคมฯ ของกนอ. อยู่ที่ 120 ไร่
”สัดส่วนการลงทุนจากประเทศจีนในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงจากสิงคโปร์ และไต้หวัน ขณะที่เมื่อเทียบสัดส่วนการลงทุนของอุตสาหกรรมรายเซคเตอร์ไม่เปลี่ยนแปลงนักในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามในกลุ่มยานยนต์จะมีการลงทุนของยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการขยายลงทุนในเซมิคอนดักเตอร์ และแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB)“
ทั้งนี้ กนอ. อยู่ระหว่างการเจรจากับนักลงทุนต่างชาติที่สนใจเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในไทยเป็นอย่างมาก ได้แก่ จีน ไต้หวัน และเกาหลีใต้
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษ ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในงาน “The Journey of Sustainable Partnership 2024” ว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศสู่ความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความสำเร็จอย่างสมดุลใน 4 มิติ ทั้งด้านความสามารถในการแข่งขัน การได้รับการยอมรับจากชุมชนและสังคม การตอบโจทย์กติกาสากลด้านสิ่งแวดล้อม และการกระจายรายได้สู่ชุมชน ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ขณะเดียวกัน สนับสนุนให้เกิดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในอุตสาหกรรมที่จะเป็นรากฐานเศรษฐกิจในอนาคต เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมชีวภาพ
ทั้งนี้ กระทรวงฯ จะเร่งผลักดันให้เกิดรัฐบาลดิจิทัล เพื่อให้การบริการ การขออนุมัติอนุญาต เป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ มีการให้บริการในรูปแบบ One Stop Service เข้าถึงและใช้งานง่าย มีความโปร่งใส เพื่อลดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ
รวมถึงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่จะเป็นแหล่งรองรับการลงทุนที่สำคัญของประเทศ ให้มีความพิเศษและสิทธิประโยชน์มากกว่าการตั้งโรงงานนอกนิคมฯ (stand alone) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความพร้อมของพลังงานสะอาด และการจัดการกากของเสียด้วยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในนิคมฯ
นอกจากนี้ ยังเร่งสนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศรวมถึงกลุ่มเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัป ในการพัฒนาศักยภาพเพื่อยกระดับการผลิต ให้สามารถแข่งขันในระดับภูมิภาคได้ พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของโลก ด้วยการสนับสนุนองค์ความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ เทคโนโลยี รวมทั้งการเตรียมรับมือความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อ่อนไหวสูงที่ต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกันระหว่างภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม
ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความซับซ้อนมากขึ้น ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สงครามในยูเครน และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมไทยเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแข่งขันในภูมิภาคที่รุนแรงขึ้น และความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ