เปิดวาระสภา กทม. พรุ่งนี้! เคาะจ่ายหนี้ BTS 2 หมื่นล้าน
เปิดวาระประชุมสภา กทม. พรุ่งนี้ ! “ชัชชาติ” ชงจ่ายหนี้ “บีทีเอส” กว่า 2 หมื่นล้านบาท งานค่าจ้างติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล โครงการส่วนต่อขยายสายสีเขียว
รายงานข่าวจาก กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (17 ม.ค.) จะมีการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 3) ประจำปี 2567 โดยพบว่ามีวาระเรื่องที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เสนอขอความเห็นชอบ 1 เรื่อง บรรจุเป็นระเบียบวาระที่ 6 เรื่อง ขอความเห็นชอบในโครงการรับมอบงานทรัพย์สินระบบการเดินทาง (ไฟฟ้าและเครื่องกล) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2
ซึ่งเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องจาก ค่าจ้างติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายช่วงที่ 2 (แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS เป็นคู่สัญญา โดยมีค่าจ้างงานอยู่ที่ 22,800 ล้านบาท และครบกำหนดต้องชำระ
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เตรียมเสนอจ่ายค่าติดตั้งระบบรถไฟฟ้าเข้าสู่ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เดือน ก.ค.2566 เพื่อขออนุมัติใช้เงินสะสมของกรุงเทพมหานครที่มีคงเหลือราว 40,000 – 50,000 ล้านบาทมาจ่ายหนี้ส่วนนี้ เนื่องจากหนี้ที่เกิดจากค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้า เป็นก้อนหนี้ที่ครบกำหนดต้องชำระให้กับภาคเอกชน ซึ่งที่ผ่านมาทราบว่าคณะกรรมการวิสามัญที่ผ่านมาประชุมแล้ว 5 ครั้ง ดังนั้น กทม.จึงมองว่าหนี้ส่วนนี้มีข้อมูลพิจารณาเพียงพอที่จะชำระให้เอกชนได้
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังหารือแนวทางแก้ไขปัญหาภาระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ร่วมกับ นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.2566 โดยระบุว่า วันนี้บีทีเอสได้มาหารือเรื่องกรณีค่าจ้างการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2 ที่ครบกำหนดชำระ ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท
โดยที่ผ่านมา กทม.ได้เตรียมการเรื่องนี้มาตลอด และต้องชี้แจงว่ากระบวนการในการดำเนินการตรงนี้มีอยู่ 2 ขั้นตอนที่ต้องไปดำเนินการต่อ คือ
1. เรื่องที่กรุงเทพธนาคม (เคที) ไปจ้างบีทีเอสเดินรถ ซึ่งขณะนั้น กทม. มอบหมายให้เคทีเป็นผู้ดำเนินการ ขั้นตอนต่อไปที่จะดำเนินการได้คือ ต้องให้สภา กทม. อนุมัติก่อน
2. หากจะชำระเงินก็ต้องเอาเงินที่เป็นสะสมจ่ายขาด ซึ่งในสภา กทม. ก็ต้องพิจารณาเหมือนกันทั้ง 2 เรื่องนี้คือเรื่องที่ต้องเอาเข้าสภา กทม.
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาคณะกรรมการวิสามัญได้พิจารณาเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดเยอะ คณะกรรมการวิสามัญก็ได้ศึกษาเรื่องนี้มีการประชุมแล้ว 5 ครั้ง คาดว่าเปิดการประชุมสภา กทม. สมัยหน้าในเดือน ก.ค.2566 ก็สามารถนำเรื่องหนี้ E&M รถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ครบกำหนดชำระเข้าสู่การพิจารณาของสภา กทม.ได้ว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร ส่วนเรื่องการชำระเงินดังกล่าว จะปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญาอย่างไรให้มันถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ด้วยความรอบคอบ