‘บีทีเอส’เฮ สภากทม.ไฟเขียวจ่ายหนี้ติดตั้งระบบส่วนต่อขยาย 2.3 หมื่นล้านบาท
‘บีทีเอส’เฮ สภากทม.ไฟเขียวจ่ายหนี้ติดตั้งระบบส่วนต่อขยาย 2.3 หมื่นล้านบาท ‘ชัชชาติ’ ส่งต่อให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณา ก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุมครม.
การประชุมสภา กทม. ที่มีนายอำนาจ ปานเผือก ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้พิจารณาวาระการประชุมชำระหนี้งานติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย ที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่ต้องชำระให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้รับสัมปทานและให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. อภิปรายตอนหนึ่งว่า วันนี้มาพูดถึงงานระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) (ELECTRICAL AND MECHANICAL : E&M) ประกอบด้วย งานระบบจัดเก็บตั๋ว งานระบบอาณัติสัญญาณ งานระบบสื่อสาร งานระบบจ่ายไฟ งานระบบศูนย์ควบคุมและสั่งการ งานระบบความปลอดภัย รวมถึงระบบอื่นๆ หากไม่มีระบบนี้จะไม่สามารถเดินรถได้
โดยกทม.ได้รับโอนทรัพย์สินมาและให้จ่ายหนี้ ทำให้เป็นเรื่องระหว่างเรากับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เพราะมีการทำเอ็มโอยูให้ทางกรุงเทพธนาคมเป็นผู้ติดตั้ง เมื่อติดตั้งเสร็จแล้วมูลค่าการติดตั้งและดอกเบี้ยรวมแล้ว 23,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากโครงการดังกล่าวยังไม่เคยผ่านการพิจารณาจากสภากทม. ก่อนจะนำเข้าครม.
“แนวทางการดำเนินการ E&M ต้องให้สภากทม.เห็นชอบการโอนหรือรับ E&M มาก่อน หากสภากทม.เห็นด้วยกับแนวทางนี้จะเรื่องเสนอกระทรวงมหาดไทย เพื่อเสนอต่อครม.เห็นชอบให้เราชำระเงิน ก่อนที่จะเบิกจ่ายเงินได้”
นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า สาเหตุที่เราต้องรับโอน E&M มา เนื่องจากจะผู้โดยสารในส่วนต่อขยายเหนือ-ใต้ กว่า 280,000 เที่ยวต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 18 ขอผู้โดยสารรถไฟฟ้า 1.5 ล้านคนต่อวัน ซึ่งมีความจำเป็นที่ต้องให้ระบบเดินต่อได้ ไม่เช่นนั้นประชาชนจะลำบาก หากเราไม่ชำระตามเวลามันจะมีดอกเบี้ยมากกว่า
“ผมจึงขอเสนอสภากทม.ให้ความเห็นชอบโครงการรับมอบ E&M ส่วนต่อขยายทั้งสอง วงเงิน 23,488,692,165 บาท เมื่อสภากทม.เห็นชอบ จะเสนอต่อกระทรวงมหาดไทย ก่อนจะเสนอครม. เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป เมื่อครม.เห็นชอบก็จะนำกลับมาทำงบประมาณต่อไป”
นายนภาพล จีระกุล สมาชิกสภากทม. อภิปรายว่า ส่วนต่อขยายเหนือ-ใต้ ต้องให้รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ เนื่องจากเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับจังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดปทุมธานี
ทั้งนี้ มีสมาชิกสภากทม.ได้อภิปรายในหลากหลายประเด็น ก่อนที่นายอำนาจ จะขอให้ลงมติ โดยเริ่มจากการนับองค์ประชุม โดยจำนวนสมาชิกสภากทม.ทั้งหมด 50 ท่าน มีผู้เข้าร่วมการประชุม 45 ท่าน ถือว่าครบองค์ประชุม
จากนั้นที่ประชุมสภากทม.ได้ลงมติ ผลปรากฏว่าสภากทม.มีมติเห็นชอบ 44 เสียง ไม่เห็นชอบ ไม่มี งดออกเสียง 1 เสียง