คำชี้แจง 'ชัชชาติ' เสนอสภา กทม.จ่ายหนี้ 'รถไฟฟ้าสายสีเขียว' 2.3 หมื่นล้าน
สภา กทม.เคาะจ่ายค่าจ้างติดตั้งระบบรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 ขีดเส้นจ่าย 4 เม.ย.2567 กรอบวงเงินรวมกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท “ชัชชาติ” ยืนยันมีเงินสะสมจ่ายขาดปลอดภาระหนี้กว่า 5 หมื่นล้าน พร้อมปิดจ๊อบทันที
รายงานข่าวจากที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า วันนี้ (17 ม.ค. 2567) มีการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 3) ประจำปีพุทธศักราช 2567 ซึ่งมี นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เสนอญัตติ ขอความเห็นชอบในโครงการการรับมอบงานทรัพย์สินระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 และที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบโครงการฯ ตามที่ผู้ว่าฯ กทม.เสนอ และจะได้ส่งให้ฝ่ายบริหารพิจารณาดำเนินการต่อไป
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โครงการนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 เริ่มก่อนที่ฝ่ายบริหารและสภากรุงเทพมหานครชุดนี้จะเข้ามา และมีปัญหาหลายส่วน การแก้ไขจำเป็นต้องยึดประโยชน์ของกรุงเทพมหานครและประชาชนเป็นหลัก สำหรับร่างข้อบัญญัติขอจ่ายเงินสะสมจ่ายขาดสะสมเพื่อแก้ไขปัญหาจะพยายามนำเข้าสู่ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครพิจารณาให้เร็วที่สุด
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย 2 ได้ติดตั้งระบบการเดินรถไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) แล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการแล้ว ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 1.5 ล้านเที่ยวต่อวัน อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้มีหนังสือแจ้งต่อกระทรวงมหาดไทยขอให้พิจารณานำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบการสนับสนุนงบประมาณสำหรับการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และกระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาว่าการขอสนับสนุนงบประมาณดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจน
นอกจากนี้ ยังระบุให้กรุงเทพมหานครรับผิดชอบในส่วนใดก็ให้ดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณในส่วนนั้นไปได้ตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยไม่ต้องรอการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล ส่วนกรณีนอกเหนือจากจำนวนเงินดังกล่าว หากกรุงเทพมหานครมีความประสงค์จะขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลเป็นจำนวนเท่าใดก็ให้เสนอมาอีกครั้ง
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครจึงเห็นว่าทรัพย์สินงานระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ถือว่ามีความสำคัญ หน่วยงานภาครัฐควรเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เนื่องจากทรัพย์สินดังกล่าวถือเป็นหัวใจสำคัญ และมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้รถไฟฟ้าสามารถขับเคลื่อน และให้บริการเดินรถได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ขึ้นว่าเอกชนรายใดจะเป็นผู้ให้บริการเดินรถ และหากกรุงเทพมหานครได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แล้วจะทำให้เอกชนอ้างสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินดังกล่าวไม่ได้ และปัจจุบันทรัพย์สินนั้นได้ติดตั้งแล้วเสร็จและครบกำหนดชำระแล้ว
นอกจากนี้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้เจรจาต่อรองกับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โดยกำหนดเงื่อนไขหากชำระภายในวันที่ 4 เม.ย.2567 จะมีกรอบวงเงินรวมจำนวน 23,488,692,165.65 บาท ประกอบกับแนวทางการร่วมลงทุนที่กรุงเทพมหานครดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 ลงวันที่ 11 เม.ย.2562 ยังไม่มีความชัดเจนและยังไม่ได้ข้อยุติจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งอาจทำให้เกิดการฟ้องร้องต่อศาลปกครองได้
รวมถึงคณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว สภากรุงเทพมหานคร ได้ศึกษาแล้วเห็นว่างานติดตั้งระบบการเดินรถ (E&M) เป็นทรัพย์สินที่สามารถแยกออกมาดำเนินการได้ ซึ่งปัจจุบันได้ถึงกำหนดชำระเงินแล้ว หากไม่มีการแก้ไขปัญหาในส่วนนี้จะเกิดภาระดอกเบี้ยและค่าปรับจำนวนมาก
นายชัชชาติ ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า วันนี้ได้เสนอต่อสภา กทม.พิจาณาชำระหนี้ค่าจ้างติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เบื้องต้น สภา กทม.ได้มีมติเห็นชอบแล้ว ถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะได้เดินหน้าต่อ ซึ่งหลังจากนี้ต้องรอกระบวนการปรับปรุงความคิดเห็นของสภาฯ ก่อนออกข้อบัญญัติเพื่อของบประมาณเพิ่มเติม โดย กทม.จะใช้เงินสะสมจ่ายขาดเพื่อโอนทรัพย์สินจ่ายค้าจ้างงานส่วนนี้ ซึ่งปัจจุบัน กทม.มีเงินสะสมจ่ายขาดปลอดภาระหนี้ประมาณ 51,200 ล้านบาท