กรมการค้าภายในประสานผู้ประกอบการ เข้าซื้อพริกชี้ฟ้า จ.อุบลฯ- ศรีสะเกษ

กรมการค้าภายในประสานผู้ประกอบการ เข้าซื้อพริกชี้ฟ้า จ.อุบลฯ- ศรีสะเกษ

กรมการค้าภายในประสานผู้ประกอบการลงพื้นที่รับซื้อพริกชี้ฟ้า จ.อุบลราชธานี และศรีสะเกษ เพื่อช่วยเร่งระบายผลผลิต เตรียมนำขายผ่านโมบายพาณิชย์ 100 จุด และดึงห้างท้องถิ่นซื้อไปขายด้วย ส่วนหอมแดง ได้เข้าช่วยเหลือก่อนหน้านี้แล้ว พร้อมเตรียมรับมือผักกาดลุ้ยและมะเขือเทศ

นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงกรณีราคาพริกชี้ฟ้า ใน อ.เมือง จ.อุบลราชธานี มีการปรับตัวลดลงจากเดิมที่ 100 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) เหลือ 30 บาทต่อกก. ว่า กรมได้มอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดอุบลราชธานี ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว พบว่า ปัจจุบันผลผลิตพริกใน จ.อุบลราชธานี และหลายพื้นที่ในภาคอีสาน กำลังทยอยออกสู่ตลาดพร้อม ๆ กัน ราคามีการปรับตัวลดลงตามกลไกตลาด แต่กรมได้ประสานผู้ประกอบการรายใหญ่เข้ารับซื้อผลผลิตจากกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพริกใน อ.กันทรารมย์ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ และ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ในราคานำตลาด เพื่อนำมาจำหน่ายผ่านโมบายพาณิชย์ 100 จุด ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และยังได้รับความร่วมมือจากห้างท้องถิ่น เข้าร่วมรับซื้อ ซึ่งจะเป็นกลไกในการช่วยเหลือผู้เกษตรกรผู้ปลูกพริกในช่วงนี้

“กรมได้เข้าไปดูแลทันที โดยประสานผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อ และเร่งระบายผลผลิตออกจากแหล่งผลิตโดยเร็ว เพื่อช่วยดูแลเกษตรกร ให้ขายผลผลิตได้คุ้มต้นทุน และดึงราคาให้ปรับตัวสูงขึ้น”

ทั้งนี้ ผลผลิตพริกชี้ฟ้าใน จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญอันดับหนึ่งของประเทศ มีปริมาณ 3,120 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 189 ตัน โดยการปลูกพริกในภาคอีสานจะแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกเดือนสิงหาคม ผลผลิตออกช่วงพ.ย. (3 เดือน) ราคาหน้าสวนอยู่ที่ 90-100 บาทต่อกก. และช่วงที่ 2 ปลูกในช่วงเดือนพ.ย. ผลผลิตออกช่วงเดือนม.ค.-มี.ค. ซึ่งผลผลิตพริกจะออกพร้อมกัน ทั้งในจ.อุบลราชธานี (อ.ม่วงสามสิบ อ.เหล่าเสือโก้ก อ.พิบูลมังสาหาร) และจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ จ.ศรีสะเกษ จ.ยโสธร

กรมการค้าภายในประสานผู้ประกอบการ เข้าซื้อพริกชี้ฟ้า จ.อุบลฯ- ศรีสะเกษ

นายกรนิจ กล่าวว่า ทั้งนี้ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดได้ลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงกับนายประเสริฐ ผลาผล เกษตรกรบ้านทุ่งขามเหนือ ต.หัวเรือ พบว่า นายประเสริฐได้ปลูกพริก จำนวน 1 แปลง มีพื้นที่ประมาณครึ่งงาน ไม่ได้ปลูกเพื่อจำหน่าย แต่หากปลูกไว้เพื่อแปรรูปเป็นพริกแห้งเพื่อบริโภคในครัวเรือน และปัจจุบันพริกในสวนของนายประเสริฐ ยังมิได้เก็บเกี่ยว อีกทั้งนายประเสริฐยังได้ให้ข้อมูลว่า โดยส่วนใหญ่ตนรับจ้างเก็บพริกในสวนของเกษตรกรรายอื่นโดยได้ค่าจ้าง เก็บพริก กิโลกรัมละ 8-10 บาท

อย่างไรก็ตาม กรมได้สั่งการให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดในพื้นที่ ได้แก่ จ.อุบลราชธานี และจ.ศรีสะเกษ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การรับซื้อพริกอย่างใกล้ชิด หลังจากที่ผลผลิตออกสู่ตลาดในเวลาเดียวกัน และเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการปิดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจน ห้ามฉวยโอกาสปรับขึ้นราคา หากเกษตรกร พบเห็นการจำหน่ายไม่เป็นธรรมสามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัด

 

นายกรนิจ กล่าวอีกว่า สำหรับสินค้าหอมแดง กรมได้ติดตามการรับซื้อหอมแดง ในจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาได้ทำการเชื่อมโยงการซื้อขายหอมแดงล่วงหน้าผ่านตลาดข้อตกลงมาตรฐานของกรม โดยประสานผู้ประกอบการ ได้แก่ CP-Axtra (Makro Lotus) BigC Tops The mall ซึ่งจะนำไปกระจายผ่านสาขาของห้าง, ผู้รวบรวมอีก 5 ราย จะรับซื้อและนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบอื่นๆ

ในส่วนของสถานีบริการน้ำมัน ทั้ง PT PTT Station บางจาก เชลล์ รับซื้อไปแจกเป็นของสมนาคุณให้แก่ผู้มาเติมน้ำมัน โดยเข้ารับซื้อหอมแดงจากเกษตรกร 3 อำเภอ ได้แก่ ยางชุมน้อย กันทรารมย์ ราษีไศล แบ่งเป็น กันทรารมย์ 5 กลุ่ม ยางชุมน้อย 3 กลุ่ม ราษีไศล 8 กลุ่ม มีการรับซื้อทั้งผลสดและแห้ง แบ่งเป็นหอมแดงสด 5,600 ตัน แห้ง 425 ตัน รวมทั้งหมด 6,875 ตัน เพื่อช่วยระบายผลผลิต