'ปตท.' ลั่น 1 เม.ย. 67 แหล่งก๊าซฯ 'เอราวัณ' ดันกำลังผลิตตามสัญญา กด 'ค่าไฟ' ถูก
"ปตท." มั่นใจ 1 เม.ย. นี้ แหล่งเอราวัณดันกำลังผลิตก๊าซธรรมชาติเต็มตามสัญญา 800 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หนุนค่าไฟฟ้างวด พ.ค.-ส.ค. 67 ต่ำกว่า 4.20 บาทได้ ระบุ ตลอด 2 ปี ไม่สามารถเข้าพื้นที่เร่งกำลังผลิตได้ก่อนเวลา จึงไม่ต้องเสียค่า "ชอร์ตฟอล" ย้อนหลังได้
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ปตท.สผ. อยู่ระหว่างการเร่งแผนเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 (แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ) ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด หรือ ปตท.สผ.อีดี ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้เร่งติดตั้งแท่นหลุมผลิต ตามแผน ส่งผลให้ปริมาณการผลิตก๊าซฯจากแปลง จี 1/61 เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ภายในเดือนเม.ย. 2567 นี้ตามสัญญาแน่นอน
ทั้งนี้ ปตท.สผ. ยังมั่นใจว่าตลอดระยะเวลาที่ได้ลงนามผลิตแปลงสำรวจในทะเลแหล่งเอราวัณดังกล่าวไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตและส่งมอบก๊าซฯ ได้ตามสัญญา 800 ล้านลูกบาศกูฟุตต่อวันทั้นทีนั้น ปตท.สผ. ไม่จำเป็นต้องชำระค่าปรับ Shortfall (ชอร์ตฟอล) เนื่องจากเกิดปัญหาความล่าช้าในการเข้าพื้นที่ เพื่อติดตั้งแท่นหลุมผลิตได้ก่อนเวลา เพราะทาง บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ไม่อนุญาตให้เข้าพื้นที่ได้ก่อนหมดสัญญาสัมปทาน
"เมื่อเราขอเข้าพื้นที่แล้วไม่สามารถเข้าไปเพิ่มแท่นขุดได้ จึงทำให้ไม่สามารถผลิตก๊าซฯ ได้เต็มกำลังทันที ซึ่งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ธพ.) รับรู้สาเหตุดังกล่าว และให้ปตท.สผ.เร่งติดตั้งแท่นขุดเพื่อผลิตก๊าซฯ ให้ได้ตามสัญญาที่ระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ภายในเดือน เม.ย. 2567 ซึ่งขณะนี้ ปริมาณการผลิตก๊าซฯ ที่ดึงขึ้นมาได้จากแเอราวัณมีปริมาณมากกว่า 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันแล้ว จากนั้นจะทยอยเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมี.ค. และวันที่ 1 เม.ย. 2567 นี้ จะเพิ่มเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตามสัญญาได้อย่างแน่นอน” นายมนตรี กล่าว
นายวรากร พรหโมบล อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ปตท.สผ. อยู่ระหว่างเร่งติดตั้งแท่นหลุ่มผลิต เพื่อให้สามารถผลิตก๊าซฯ จากแหล่งเอราวัณที่ระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เชื่อว่า ปตท.สผ.สามารถทำได้ และต้องรักษาระดับการผลิตก๊าซฯ ในแปลงดังกล่าวไว้ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในระยะยาว และเป็นไปตามสัญญา ที่มีอายุสัญญา 10 ปี หากปริมาณก๊าซฯ ลดลง หรือไม่สามารถผลิตก๊าซฯ ได้ตามสัญญาก็ต้องถูกปรับ ซึ่งปตท.สผ. ก็คงไม่อยากทำผิดสัญญาแน่นอน
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า กรณีที่ ปตท.สผ. ไม่สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซฯ จากแหล่งเอราวัณเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงเดือนธ.ค. 2566 นั้นไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าปรับชอร์ตฟอล เนื่องจากเป็นการประมาณการตัวเลขของ ปตท.สผ. และในสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ก็ไม่ได้ระบุตัวเลขดังกล่าว แต่ระบุว่า จะต้องทำให้ได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2567 เป็นต้นไป ตามอายุสัญญา PSC
อย่างไรก็ตาม ในส่วนนี้จะเรียกเก็บค่าปรับจาก ปตท.สผ. ไม่ได้ เพราะที่ผ่านมา ปตท.สผ.เข้าพื้นที่ล่าช้า จึงไม่สามารถติดตั้งแท่นหลุ่มผลิตได้ตามแผน ซึ่ง ปตท.สผ.ได้แจ้งไปทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติรับทราบแล้ว ดังนั้นในสัญญาจึงเป็นการทยอยเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซฯ จากช่วงแรกๆ อยู่ที่ประมาณ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และปัจจุบันอยู่ที่ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
นอกจากนี้ หากช่วงหลังเดือนเม.ย. 2567 ปตท.สผ. ไม่สามารถรักษาระดับกำลังการผลิตก๊าซฯ จากแหล่งเอราวัณไว้ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้ ก็สามารถนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เข้ามาทดแทนในส่วนนี้ โดยจะต้องขายในราคาเดียวกับก๊าซฯ ในแหล่งเอราวัณ จึงจะไม่โดนค่าปรับชอร์ตฟอล เพราะหากขายราคานำเข้า สุดท้ายต้องบวกในราคา Pool Gas ที่จะส่งต่อภาระไปยังค่าไฟฟ้าของภาคประชาชน
ด้านนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า แนวโน้มค่าไฟฟ้างวดเดือนพ.ค.-ส.ค. 2567 นั้น หากคำนวณต้นทุนคร่าว ๆ โดยยึดเอาหลักการณ์เดียวกับต้นทุนค่าไฟฟ้างวดเดือนม.ค.-เม.ย. 2567 จะอยู่ที่ประมาณ 4.20 บาทต่อหน่วย ดังนั้น หากปริมาณก๊าซฯ ในอ่าวไทยมีกำลังผลิตได้ตามสัญญา และปริมาณก๊าซฯ จากแหล่งพม่าไม่หายไปก็จะทำให้ต้นทุนค่าไฟถูกลงกว่า 4.20 บาทได้
"ค่าไฟฟ้างวดใหม่ยังมีหลายปัจจัย ทั้งการคืนภาระค่าไฟฟ้าผันแปล (Ft) ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ยังมียอดค้างระดับ 1 แสนล้านบาท ว่าจะคืนเท่าไหร่ รวมถึงราคานำเข้า LNG spot ว่าจะมีแนวโน้มลดลงหรือปรับขึ้น เป็นต้น"