เปิด 3 เหตุผลหลัก 'ค่าไฟ' งวด ก.ย.-ธ.ค. 66 เหลือ 4 บาท
"กระทรวงพลังงาน" ระบุ 3 เหตุผลหลัก ช่วยทำให้ "ค่าไฟฟ้า" งวดที่ 3 เดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 ลดลงถึง 70 สตางค์ต่อหน่วย หวังรัฐบาลใหม่เร่งแผน PDP เคลื่อนประเทศสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงานแห่งอนาคต
Key points
- แนวโน้มราคาพลังงานตลาดโลกลดลง ปัจจัยบวกช่วยให้ค่าไฟงวดสุดท้ายปี 2566 ลดลง
- กำลังผลิตก๊าซในอ่าวไทยเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนที่ถูกลง ช่วยให้ค่าไฟฟ้าลดลงอัตโนมัติ
- ปตท. สามารถบริหารราคานำเข้าก๊าซ LNG ที่เหมาะสม ช่วยฉุดค่าไฟในประเทศได้ส่วนหนึ่ง
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า คาดว่าค่าไฟฟ้างวดที่ 3 ปี 2566 (กันยายน-ธันวาคม) จะสามารถทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้ถึง 70 สตางค์ต่อหน่วย โดยมีปัจจัยหลักมาจาก
1. สถานการณ์ราคาพลังงานตลาดโลกเริ่มคลี่คลายลง ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) โดยราคาตลาดจร (SPOT LNG) อยู่ที่ประมาณ 9-10 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้า เมื่อต้นทุนต่ำลงจะส่งผลรวมถึงการปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที)
2. การเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธะรมชาติในอ่าวไทย ของ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และ ปตท.สผ. รายงานว่าอยู่ระหว่างเพิ่มกำลังผลิตแหล่ง G1/61 (เอราวัณ) จะเพิ่มเป็น 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในเดือน ก.ย.นี้ และต้นปี 2567 จะเพิ่มกำลังผลิตให้ได้เป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยราคาก๊าซในอ่าวไทยจะอยู่ที่ระดับ 5-6 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู
"เมื่อกำลังผลิตก๊าซในอ่าวไทยเพิ่มมากขึ้น การนำเข้าก๊าซ LNG คาดว่าจะลดลงจากที่ ปตท. คาดการณ์ไว้ว่าจะขอนำเข้า 99 ลำ เหลือประมาณ 70 ลำ (ลำละ 60,000 ตัน) จะช่วยให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้อีก ดังนั้น ที่พรรคการเมืองหาเสียงไว้ว่าจะลดค่าไฟฟ้านั้น หากดูตัวเลขสามารถทำได้แน่นอน ลดได้อย่างน้อย 50 สตางค์ต่อหน่วย เพราะต้นทุนก๊าซฯ โดยรวมถูกลงแล้ว"
3. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สามารถซื้อก๊าซธรรมชาติเหลว LNG ได้ในราคาระดับ 9 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าลดลงทั้ง 3 ปัจจัยหลักได้ที่ 70 สตางค์ต่อหน่วย จากราคาค่าไฟฟ้างวดปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 4.70 บาทต่อหน่วย มาอยู่ที่ 4 บาทต่อหน่วยทันทีในงวดสิ้นปี 2566 นี้
"ประเด็นที่พรรคการเมืองเสนอให้เจรจากับภาคเอกชนเรื่องการปรับลดค่าความพร้อมจ่าย (AP) เป็นสิ่งที่สามารถเจรจาได้ แต่ต้องใช้เวลาและความพยายามพอสมควร ซึ่งต้นทุนค่า AP อยู่ในส่วนของต้นทุนค่าไฟฐาน มีการใช้มาตั้งแต่ปี 2537 แล้ว คิดเป็นสัดส่วนเพียง 10 สตางค์ต่อหน่วยเท่านั้น ไม่มากเท่ากับต้นทุน LNG ดังนั้น หากบริหารจัดการ LNG ดี จะสามารถลดลงได้ 50-60 สตางค์อยู่แล้ว"
นายกุลิศ กล่าวว่า ทิศทางพลังงานโลกกำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด จึงควรให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างการตลาดพลังงานให้สมดุลและสอดรับกัน หรือพัฒนาเพื่อตอบรับความต้องการต่าง ๆ กระทรวงพลังงาน จึงต้องเตรียมแผนรองรับนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลใหม่ นอกจากเรื่องค่าไฟฟ้า ยังมีเรื่องของพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ ที่รัฐจะเดินหน้าส่งเสริมต่อหรือไม่ เช่น มาตรการการรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อป (Net Metering) จะเป็นอย่างไร โรงไฟฟ้าชุมชนจะส่งเสริมต่อหรือไม่
"ทางกระทรวงจะติดตามและเตรียมทำข้อมูลว่าจะมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขได้อย่างไรบ้าง รวมถึงการปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) จะสามารถทำได้ขนาดไหน ต้องจึงรอฟังนโยบายจากรัฐบาลใหม่ และมีการวางแผนร่วมกันเพื่อนำไปแถลงในรัฐสภา"