'ทุนนิยม' ที่ไร้หัวใจ - 'รัฐบาล' ที่ไม่รักษาวินัยการคลัง
กลายเป็นหนังเรื่องยาวเกินคาดสำหรับโครงการเติมเงิน 10,000บาท ผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลวอลเล็ต นโยบายหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่จะมีการออกพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 5 แสนล้านบาทเพื่อนำมาดำเนินการในโครงการดังกล่าว
Key points :
- รัฐบาลยอมรับว่าโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตต้องล่าช้าออกไปจากกำหนดเดิมที่จะเริ่มแจกเงินในเดือน พ.ค.67 หลัง ป.ป.ช.เตรียมส่งหนังสือเฝ้าระวังและเสนอแนะโครงการถึงรัฐบาล
- จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์รมช.คลัง พูดถึงท่าทีของ ป.ป.ช.และบางหน่วยงานที่คัดค้านการแจกเงิน ว่าไม่เห็นวิกฤติประชาชนเหมือนที่รัฐบาลเห็น และพูดประโยคว่า "ทุนนิยมที่ไร้หัวใจ"
- ความเห็นของหน่วยงานที่ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจประเทศ และองค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช.เป็นท่าทีที่เหมือนกันคือเรียกร้องให้รัฐบาลยึดข้อกฎหมายตาม พรบ.วินัยการคลัง และรัฐธรรมนูญ
- ท่าทีนี้รัฐบาลควรฟังเพราะไม่ได้เป็นแค่การขัดขวางนโยบายประชานิยมของรัฐบาลปัจจุบัน แต่กำลังป้องกันบรรทัดฐานที่ผิดที่จะส่งต่อไปยังอนาคตด้วย
มาถึงชั่วโมงนี้ขั้นตอนการดำเนินการของรัฐบาลที่วางไทม์ไลน์ไว้ว่าจะเริ่มแจกเงินได้ในเดือน พ.ค.ปี 2567 เป็นอันต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด แม้ว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 12 จะส่งหนังสือตอบกลับคำถามของกระทรวงการคลังมายังรัฐบาลแล้ว แต่การประชุมคณะกรรมการนโยบายเติมเงิน 10,000 บาทผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล วอลเล็ต (บอร์ดดิจิทัลวอลเล็ต ชุดใหญ่) ยังไม่สามารถนัดหมายการประชุมได้ เนื่องจากรัฐบาลรอหนังสือจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เตรียมส่งข้อเสนอแนะและข้อควรระวังในโครงการนี้มาถึงรัฐบาล
จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ยอมรับว่าเมื่อได้อ่านรายละเอียดหนังสือจาก ป.ป.ช.ยอมรับว่าโครงการนี้ไม่สามารถแจกเงินได้ทัน และเหมือนกับมี “ธง” ที่วางไว้เกี่ยวกับโครงการนี้ที่ส่งสัญญาณมาถึงรัฐบาลอย่าง “ตรง” และ “แรง” พอสมควร
เมื่อ รมช.คลังใช้คำว่า “ทุนนิยมที่ไม่มีหัวใจ” ในการอธิบายการที่หลายๆองค์กร และหน่วยงานต่างๆออกมาค้านการกู้เงินแจกในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ก็ต้องย้อนกลับไปดูคำเตือนของหน่วยงานต่างๆถึงรัฐบาล
ซึ่งส่วนใหญ่ให้น้ำหนักกับการรักษาวินัยทางการเงินและการคลังของประเทศ โดยเฉพาะการเตือนให้รัฐบาลพิจารณาข้อกฎหมายใน พ.ร.บ.วินัยการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 เพื่อไม่ให้ทำผิดกฎหมาย และสร้างความเสียหายทางการคลังให้กับประเทศ
โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ชี้ให้รัฐบาลเห็นข้อกฎหมายในพ.ร.บ.วินัยการคลังฯหลายมาตราได้แก่ มาตรา 53 การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหาร หนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทําได้ก็แต่โดยอาศัยอํานาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่มีความจําเป็นที่จะต้องดําเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติ ของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจําปีได้ทัน
มาตรา 57 การกู้เงินตามมาตรา 53 และมาตรา 56 จะกระทําได้แต่เฉพาะเพื่อใช้จ่าย ตามแผนงานหรือโครงการที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือสังคม และเมื่อหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นเจ้าของ แผนงานหรือโครงการมีความพร้อมที่จะดําเนินการตามแผนงานหรือโครงการที่จะใช้จ่ายเงินกู้นั้นแล้ว
และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินและการคลัง พ.ศ.2561 ที่ระบุการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีในส่วนของกฎหมายที่เป็นเรื่องการเงินการคลังของรัฐว่า คณะรัฐมนตรีต้องรักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัตินี้ อย่างเคร่งครัด ในการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายการคลัง การจัดทำงบประมาณ การจัดหารายได้ การใช้จ่าย การบริหารการเงินการคลัง และการก่อหนี้ คณะรัฐมนตรีต้องพิจารณาประโยชน์ที่รัฐหรือ ประชาชนจะได้รับ ความคุ้มค่า และภาระการเงินการคลังที่เกิดขึ้นแก่รัฐ รวมถึงความเสี่ยงและ ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างรอบคอบ
“..คณะรัฐมนตรีต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิด ความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว”
ขณะที่ความเห็นของ ป.ป.ช.ระบุในตอนหนึ่งว่าการดำเนินโครงการภายใต้แนวนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล ของรัฐบาลจะต้องรักษามาตรฐานด้านวินัยการเงินการคลัง ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 140 ที่บัญญัติว่า การจ่ายเงินแผ่นดิน จะกระทำได้เฉพาะที่ได้รับอนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายที่เกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ กฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังหรือกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ
เว้นแต่ในกรณีจำเป็นรีบด่วนจะจ่ายไปก่อนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ในกรณีเช่นว่านี้ ต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายชดใช้ในพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่ายหรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไปเท่านั้น
ทั้งนี้ความเห็นของทั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา ป.ป.ช.เป็นไปในทิศทางเดียวกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายนี้ของรัฐบาลว่าต้องให้ความสำคัญกับการทำตามกฎหมาย และ พ.ร.บ.วินัยการคลังอย่างเคร่งครัด
เพราะกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ตราขึ้นเพื่อสกัดโครงการใดโครงการหนึ่ง หรือสกัดนโยบายของพรรคใดพรรคหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นกฎหมายที่ช่วยรักษาเสถียรภาพทางการคลังของประเทศให้ยั่งยืนในระยะยาว และป้องกันไม่ให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเข้ามาแล้วใช้เงินกู้มาทำ “ประชานิยม” ได้โดยไม่สนใจภาระทางการคลังของประเทศ
สิ่งที่หน่วยงานราชการที่มีหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพ และเฝ้าระวังความเสี่ยงทางการคลัง รวมทั้งองค์กรอิสระ กำลังแสดงบทบาทและทำหน้าที่คัดค้านและทัดทานโครงการนี้วัตถุประสงค์คือไม่ให้เกิด "บรรทัดฐานใหม่" ของนักการเมืองที่จะเข้ามาทำโครงการอะไรได้ตามใจชอบ โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงภาระทางการคลังที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
หากปล่อยให้สามารถออก พ.ร.บ.กู้เงินเพิ่มเติมได้ภายหลังจากทำงบประมาณรายจ่ายปกติ โดยตีความสถานการณ์ตามความเห็นของรัฐบาลว่าเกิดภาวะวิกฤติได้ตามใจชอบ ในอนาคตรัฐบาลอื่นๆที่จะเข้ามาบริหารประเทศก็อาจจะใช้วิธีเดียวกัน ซึ่งจะทำให้กรอบวินัยการเงินการคลังของประเทศถูกทำลายลง ในที่สุดภาระการคลังที่เพิ่มสูง ระดับหนี้สาธารณะที่สูงขึ้น จะกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศได้ในที่สุด
"รัฐบาลจึงควรฟังคำเตือนของหน่วยงานและองค์กรอิสระต่างๆมากกว่าดันทุรังและตอบโต้ด้วยวาทะกรรม "ทุนนิยมที่ไร้หัวใจ" เพราะข้อกฎหมายต่างๆที่มีการเขียนไว้อย่างรัดกุมนั้นไม่ได้ขัดขวางเฉพาะรัฐบาลนี้ในการทำนโยบายประชานิยมแจกเงิน แต่เป็นกรอบที่วางไว้สำหรับทุกรัฐบาลที่เข้ามาแล้วไม่สนใจ "วินัยการคลัง" "