เอ็นพีแอล กยศ. แสนล้าน สะท้อนนโยบายดอกเบี้ย
ในอนาคต คนกลุ่มนี้ First Jobber หรือกลุ่มคนที่เพิ่งเรียนจบปริญญาตรี เข้าสู่ตลาดงาน คงจะเป็นเจ้าของบ้านหรือคอนโดได้ไม่ง่าย ยิ่งเห็นตัวเลขหนี้เสีย 1 แสนล้านของ กยศ. แล้ว ทำให้คาดเดาอนาคตของลูกหลานได้ไม่ยาก เพราะมีเพียงคนจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ไม่ได้รับผลกระทบนี้
การลงทุนด้านการศึกษา คือการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะหากได้รับการศึกษาที่ดีย่อมมีโอกาสเข้าสู่ตลาดงานที่ดี มีรายได้ที่มากพอใช้ชีวิตได้โดยไม่ลำบาก เลี้ยงดูครอบครัวได้ สามารถเลื่อนชนชั้นไปสู่ฐานะที่ดีขึ้นได้ ซึ่งกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ แต่ละปีปล่อยเงินกู้ให้แก่นักเรียน นักศึกษาที่ต้องการเงินกู้เพื่อการศึกษาราว 4 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 1% ต่อปี ปัจจุบันสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 4.8 แสนล้านบาท มีลูกหนี้ 3.5 ล้านคน
ผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 30 พ.ย. 2566 มีผู้กู้ยืมทั่วประเทศทั้งสิ้น 6.8 ล้านราย คิดเป็นเงินให้กู้ยืม 7.52 แสนล้านบาท ลูกหนี้ปลอดหนี้จำนวน 1.4 ล้านราย ชำระหนี้เสร็จสิ้น 1.8 ล้านราย อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3.5 ล้านราย เสียชีวิตและทุพพลภาพ 7.2 หมื่นราย ผู้กู้ที่ไม่นัดชำระหนี้จำนวน 3.12 ล้านราย หรือราว 58% ชำระปิดบัญชีจำนวน 1.8 ล้านราย ชำระหนี้ตามปกติ 1.3 ล้านราย ส่วนผู้กู้ที่ผิดนัดชำระหนี้มีจำนวน 2.2 ล้านราย หรือ 41 % คิดเป็นเงินต้นที่ผิดนัดชำระจำนวน 9.74 หมื่นล้านบาท ส่วนแผนปล่อยกู้ปี 2567 จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกองทุนเร็วๆ นี้
ทว่า การที่ตัวเลขหนี้เสีย ที่ “ชัยณรงค์ กัจฉปานันท์” ผู้จัดการ กยศ. ที่ออกมาเปิดเผยมีประมาณ “1 แสนล้านบาท” เพิ่มขึ้นเกือบ “เท่าตัว” นับจากปี 2560 ที่มีหนี้เสียอยู่ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ กยศ. คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 1% ขณะที่ดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) สูงกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ของ กยศ. ลูกหนี้จำนวนหนึ่งจึงเลือกชำระหนี้บ้าน, บัตรเครดิต, ผ่อนรถยนต์ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงก่อนแทนที่จะชำระหนี้ กยศ.
สะท้อนให้เห็นว่า นโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ “แบงก์ชาติ” ที่ขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจนมาอยู่ที่ระดับ 2.5% และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาทีมผู้บริหาร “แบงก์ชาติ” ยังออกมายืนยันว่า การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้มาผิดทางอย่างแน่นอน และอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสม การตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยนโยบายต้องดูหลายๆ ปัจจัยประกอบกัน ทั้งภาพเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน
คำถามก็คือว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2566 โตเพียง 1.8% ไตรมาส 3 ปี 2566 ที่จีดีพีเติบโตได้เพียง 1.5% เงินเฟ้อยังหดตัว สวนทางกับดอกเบี้ยที่ขึ้นมาต่อเนื่อง กำลังซื้อของประชาชนทยอยลดต่ำลงจนไม่มีกำลังซื้อบ้านราคาที่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท จากที่ยุคหนึ่งผู้ประกอบการทำคอนโดต่ำล้านออกสู่ตลาด ทำให้ First Jobber ที่เริ่มทำงาน หรือชนชั้นกลางกลายเป็นเจ้าของได้ ทว่าในอนาคต คนกลุ่มนี้ First Jobber หรือกลุ่มคนที่เพิ่งเรียนจบปริญญาตรี เข้าสู่ตลาดงาน คงจะเป็นเจ้าของบ้านหรือคอนโดได้ไม่ง่าย ยิ่งเห็นตัวเลขหนี้เสีย 1 แสนล้านของ กยศ. แล้ว ทำให้คาดเดาอนาคตของลูกหลานได้ไม่ยาก เพราะมีเพียงคนจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ไม่ได้รับผลกระทบนี้