'พาณิชย์' เตรียมเปิดเสรี 10 ธุรกิจบริการ 'โทรคมนาคม-บริการการเงิน' ในปี 67
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เตรียมเปิดเสรี 10 ธุรกิจบริการบัญชีแนบท้ายพร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าวในปี 67 เผยได้ข้อสรุปแล้ว 8 ธุรกิจ ส่วนอีก 2 เตรียมเปิดรับฟังความเห็นเร็วๆ นี้ ก่อนชง “ภูมิธรรม” เคาะ และเสนอครม.เห็นชอบ ส่งผลต่างด้าวไม่ต้องขออนุญาตอีก
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ในปี 67 กรมเตรียมเปิดเสรีธุรกิจบริการในบัญชีแนบท้าย 3 (21) พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ.2542 รวม 10 ธุรกิจ ซึ่งได้ความชัดเจนแล้ว 8 ธุรกิจ ส่วนอีก 2 ธุรกิจ จะเปิดรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในเร็วๆ นี้ จากนั้นจะนำมาสรุปเสนอให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พิจารณาเห็นชอบ ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป ซึ่งจะมีผลทำให้ ธุรกิจต่างด้าวที่จะเข้ามาลงทุนในไทยในธุรกิจบริการดังกล่าว ไม่ต้องขออนุญาตดำเนินธุรกิจ ภายใต้พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวอีก
สำหรับหลักเกณฑ์การเปิดเสรีธุรกิจบริการตามบัญชีแนบท้าย 3 คือ เป็นธุรกิจบริการที่มีกฎหมาย และหน่วยงานกับดูแลเป็นการเฉพาะ ธุรกิจต่างด้าวที่จะเข้ามาลงทุนในไทย สามารถขออนุญาตจากหน่วยงานที่กำกับดูแลได้ ไม่ต้องมาขออนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ เป็นการลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน, เป็นธุรกิจบริการที่คนไทยแข่งขันได้
เมื่อเปิดเสรีแล้ว จะไม่ได้รับผลกระทบ รวมถึงเป็นธุรกิจบริการที่อยู่ในเป้าหมายการพัฒนาของประเทศ หรือเป็นธุรกิจที่ไทยต้องการดึงดูดการลงทุน ซึ่งการปลดออกจากบัญชีแนบท้าย 3 จะช่วยสร้างบรรยากาศการลงทุน และทำให้น่าลงทุนมากยิ่งขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ ออกกฎกระทรวง เพื่อกำหนดธุรกิจบริการที่ไม่ต้องขออนุญาตการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้ออกประกาศจนถึงปี 62 โดยธุรกิจที่เปิดเสรีแล้ว เช่น ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจประกันชีวิต ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจบริการให้กู้ยืมเงินในประเทศ ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจอื่นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เป็นต้น
สำหรับปี 67 ธุรกิจบริการที่คาดจะเปิดเสรี เช่น ธุรกิจบริการโทรคมนาคม สำหรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่หนึ่ง ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจโทรคมนาคม, ธุรกิจศูนย์บริหารเงิน ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ซึ่งเป็นธุรกิจเกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศให้กับบริษัทในกลุ่มในเครือ, ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในไทย เป็นต้น