‘ยุทธศักดิ์ สุภสร’ เปิดภารกิจ กนอ. ปลุกยักษ์หลับ! ดันไทยจุดหมายการลงทุนโลก

‘ยุทธศักดิ์ สุภสร’ เปิดภารกิจ กนอ. ปลุกยักษ์หลับ! ดันไทยจุดหมายการลงทุนโลก

'ยุทธศักดิ์ สุภสร' กับหมวกใบใหม่! ประธานคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงภารกิจสร้างความเชื่อมั่น ผลักดัน 'ประเทศไทย' สู่ 'จุดหมายปลายทางการลงทุนโลก' พร้อมเพิ่มสัดส่วนการลงทุนเป็น 27% ต่อ GDP ภายในปี 2569

ปัจจุบัน ยุทธศักดิ์ อายุ 58 ปี ก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ หลังคร่ำหวอดในแวดวงเศรษฐกิจมหภาคมายาวนาน ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคการท่องเที่ยว เช่น ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เมื่อปี 2552-2555 และผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่อยู่บริหารนาน 2 วาระ หรือ 8 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2566

ยุทธศักดิ์ ฉายภาพว่า “การลงทุน” นับเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวม ทว่า ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเติบโตในอัตราที่ลดลงตามลำดับ โดยในปี 2546-2550 ขยายตัวเฉลี่ย 5.6% ปี 2551-2555 ขยายตัวเฉลี่ย 3.3% ปี 2556-2560 ขยายตัวเฉลี่ย 1.9% และปี 2561-2565 ขยายตัว เฉลี่ย 0.9% สาเหตุหนึ่งมาจากการลงทุนที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น!

เมื่อคำนึงถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างของประเทศ ซึ่งส่งผลให้ผลิตภาพการผลิตและความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า “ไทยจำเป็นต้องเพิ่มการลงทุนในประเทศอย่างต่อเนื่อง” จนทำให้สัดส่วนการลงทุนต่อ GDP เพิ่มขึ้นอีก 4% จาก 23% ในปี 2562 เป็น 27% เพื่อให้ไทยหลุดจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

จากข้อมูลรายได้ประชาชาติของสภาพัฒน์ GDP ไตรมาส 3 ของปี 2566 พบว่า มูลค่าการลงทุนรวมขยายตัวเล็กน้อย เพิ่มขึ้นเพียง 1.5% เมื่อเปรียบเทียบกับการขยายตัว 0.4% ในไตรมาสที่ 2 โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 3.1% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 1.0% เป็นการขยายตัวทั้งด้านการก่อสร้างและด้านเครื่องจักรเครื่องมือ ขณะที่การลงทุนภาครัฐลดลง 2.6% จากการลดลง 1.1% ในไตรมาสที่ 2 โดยการลงทุนของรัฐบาลลดลง 3.4% ส่วนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจลดลง 1.4% ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลง 3.7% ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566

“ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายเพื่อให้หลุดพ้นจากสภาวะการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ”

ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลงทุนที่อยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน โดยนับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง (ปี 2540-2541) สัดส่วนการลงทุนรวมภาครัฐและเอกชนต่ำกว่า 25% ของ GDP มายาวนานถึง 25 ปี ปัจจุบันมูลค่าการลงทุนที่ขจัดผลของเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.6 ล้านล้านบาท

ในขณะที่การลงทุนโลกยังคงอ่อนแรงเนื่องจากต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น เศรษฐกิจที่เพิ่งฟื้นตัวและความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจต่างๆ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค รวมถึงความพร้อมของเอกชนในการลงทุน การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ได้เผยแพร่รายงาน World Economic Situation and Prospects 2024 ระบุว่าการลงทุนทั่วโลกในปี 2566 มีอัตราการเติบโตเพียง 1.9% ลดลงจาก 3.3% ในปี 2565 และเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2554-2562) ที่มีการเติบโตอยู่ในระดับเฉลี่ย 4%

จากบทความ “ทรานส์ฟอร์มลงทุนไทยอย่างไร? ให้ออกจากดักแด้กลายเป็นเสือ” โดยฝ่ายมหภาคของธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้ให้เห็นว่า “การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจด้านการลงทุน” จึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวและกลับมาเติบโตได้เต็มศักยภาพ (Potential Growth) โดยเฉพาะภาครัฐจำเป็นต้องมีบทบาทหลักในการปรับโครงสร้างการลงทุน ด้วยการผลักดันและเร่งให้เกิดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เสริมสร้างศักยภาพการเติบโตให้กับเศรษฐกิจไทย (Strategic Investment) ให้เท่าทันและสอดรับกับกระแสโลกใหม่ รวมทั้งจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนตาม (Crowding-in effects) ได้แก่ 1.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ทั้งด้านฮาร์ดแวร์ (Hardware) และซอฟต์แวร์ (Software) 2.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง 3.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และ 4.การลงทุนในทุนมนุษย์ (Human Capital) โดยเฉพาะ “การยกระดับทักษะด้านดิจิทัล” ให้กับแรงงาน ซึ่งจำเป็นอย่างมากในอนาคต

“การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย” (กนอ.) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นกลไกภาครัฐในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมของประเทศด้วยการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ช่วยเพิ่มมูลค่าการลงทุนของภาคอุตสาหกรรม และรองรับการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมให้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นระบบเพื่อสนับสนุนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนควบคู่กับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งหวังให้เกิดการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไปสู่ทุกภูมิภาคของประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืนนั้น

กนอ.ต้องเพิ่มบทบาทในการ “เร่งรัดการลงทุน” โดยตั้งเป้าหมายสนับสนุนช่วยเพิ่มการลงทุนในประเทศอย่างต่อเนื่อง จนสัดส่วนการลงทุนต่อ GDP เพิ่มขึ้นเป็นไม่น้อยกว่า 27% ในปี 2569 โดยเพิ่มจาก 2.6 ล้านล้านบาท เป็น 3.05 ล้านล้านบาท เพื่อ “ปลุกยักษ์หลับ” ให้ตื่นอย่างมีพลัง! ให้การลงทุนกลับมามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจนำไปสู่การยกระดับ Potential Growth” ให้สูงกว่า 3.5% ต่อไป

‘ยุทธศักดิ์ สุภสร’ เปิดภารกิจ กนอ. ปลุกยักษ์หลับ! ดันไทยจุดหมายการลงทุนโลก

และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเพิ่มการลงทุนในประเทศอย่างต่อเนื่องดังกล่าว เป็น “ความปรารถนา” (WISH) ของ ยุทธศักดิ์ ที่จะเห็น กนอ. ปรับบทบาทในเชิงรุก ได้แก่ W: Wealth of the Nation” เป็นผู้สร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของประเทศและความยั่งยืนของอุตสาหกรรม I: Investment Enhancer” เป็นผู้ส่งเสริมให้เกิดการลงทุน โดยทำการตลาดเชิงรุกในการชักจูงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและผู้ร่วมดำเนินการนิคมอุตสาหกรรม

S: Strengthen Industrial Competitiveness” เป็นผู้เกื้อหนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการและอุตสาหกรรม เปลี่ยนบทบาทจากผู้กำกับดูแล (Regulator) มาเป็นผู้อำนวยกระบวนการ (Facilitator) ในการพัฒนาอุตสาหกรรมนั้นๆ กนอ.ต้องเป็น DNA ของผู้ประกอบการในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (Empowering) ภารกิจไม่ได้จบแค่มาตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเท่านั้น หากแต่ต้องดูแลต่อเนื่อง (Caretaker) ให้มีผลประกอบการที่ดี กระตุ้นให้เกิดการขยายการลงทุนต่อไป

และ H: High-rated Organization” เป็นผู้ดูแลที่ดี โดยเฉพาะผู้มีส่วนได้เสีย เป็นการเสริมสร้างความเชื่อมั่นและการเป็นที่ยอมรับ กนอ. ทั้งในประเทศและระดับสากล เน้นมิติคุณภาพการให้บริการแก่ภาคเอกชนผู้พัฒนานิคม ผู้ประกอบการในนิคม และชุมชนโดยรอบนิคม รวมถึงให้ความสำคัญกับการดูแลพนักงานภายในองค์กร เน้น Work-Life Balance สร้าง กนอ. เป็น One of the Best Employers” ของประเทศที่พนักงานทุกคนภาคภูมิใจ พร้อมทำงานเพื่อความสำเร็จขององค์กรร่วมกัน

สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนภายใต้ WISH นั้น อยู่ภายใต้แนวคิด “ฟื้นการลงทุน หนุนผู้ประกอบการ สร้างความยั่งยืน” ให้ภาคอุตสาหกรรมแข็งแกร่ง มีศักยภาพเพียงพอในการเติบโต พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงจาก “ภูมิรัฐศาสตร์” และ “สภาพภูมิอากาศ” ตลอดจน “การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี” (Digital Transformation)

เริ่มจากมิติ “ฟื้นการลงทุน” ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยทำการตลาดเชิงรุกในการชักจูงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและผู้ร่วมดำเนินการนิคมอุตสาหกรรมจนสัดส่วนการลงทุนต่อ GDP เพิ่มขึ้น โดยในด้านภาพลักษณ์ “ประเทศไทยต้องเป็นจุดหมายปลายทางด้านการลงทุนของโลกและภูมิภาค” นิคมอุตสาหกรรมต้องเป็นแบรนด์ที่ดีของประเทศไทยด้านการลงทุน เพื่อให้ประเทศไทยเป็น Land of Infinite Prosperity and Opportunities” จึงกำหนดแนวทางการสื่อสารการตลาดภายใต้แนวคิด NOW Thailand - The time is NOW to invest in Thailand.” พร้อมรับการลงทุนใหม่ๆ ทุกรูปแบบ เปิดกว้างโอกาสทางธุรกิจอย่างไร้ข้อจำกัด และเป็นเขตประกอบความมั่งคั่งของผู้ประกอบการและนักลงทุนที่ยั่งยืน

มิติ “หนุนผู้ประกอบการ” เพิ่มขีดความในการแข่งขัน จัดให้มีและให้บริการสิทธิประโยชน์ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม กำหนดค่าบริการระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกในอัตราที่เหมาะสมและเอื้อต่อการประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม สร้างแรงดึงดูดให้ผู้ประกอบการเข้ามาประกอบการในนิคมเพิ่มมากขึ้น ให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการทุกขนาด รวมถึง SMEs พร้อมยกระดับ Ease of Doing Business” ในนิคมอุตสาหกรรม ช่วยแก้ปัญหา ลดอุปสรรค และกำกับดูแลการประกอบกิจการของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมด้วยความสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส และตรวจสอบได้

และสุดท้าย มิติ “สร้างความยั่งยืน” กนอ. ต้องเป็นกลไกขับเคลื่อนสร้างความยั่งยืนของอุตสาหกรรม เนื่องจาก “ความยั่งยืน” (Sustainability) เป็นประเด็นใหญ่ที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสำคัญ เป็นหน้าที่ของ กนอ. ที่ต้องช่วยดูแลภาคเอกชน ผู้พัฒนานิคม ผู้ประกอบการในนิคม และชุมชนโดยรอบนิคม ให้ปรับตัว โดยใช้ความยั่งยืนเป็นกลยุทธ์สร้างการเติบโต ดึงดูดการลงทุนให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางด้านการลงทุนของโลกและภูมิภาค พร้อมประกาศให้ “ปี 2568 เป็นปีแห่งความยั่งยืนของการลงทุน” (Thailand’s Sustainable Year for Investment)